อื่นๆ

รีไซเคิล - สร้างชีวิตใหม่ให้หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง

309
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
รีไซเคิล - สร้างชีวิตใหม่ให้หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง

เมื่อโควิด 19 ระบาด หนึ่งในไอเท็มป้องกันตนเองที่ทุกคนต้องมีคือ หน้ากากอนามัย หน้ากากทางการแพทย์ที่เป็นแบบใช้แล้วทิ้ง (single use mask) จึงเป็นหนึ่งในขยะที่มีปริมาณมากเป็นภูเขาเลากา ให้ต้องจัดการต่อไป และถือเป็นความท้าทายต่อวงการรีไซเคิลด้วย ว่า จะจัดการขยะมหาศาลเหล่านี้ได้อย่างไร จะทำอย่างไรเพื่อคืนชีวิตใหม่ให้กับหน้ากากเหล่านี้ ไม่ให้กลายเป็นภาระกับธรรมชาติ และทำลายชีวิตสัตว์เพื่อนร่วมโลก ทั้งที่อาศัยอยู่บนบกและในน้ำ

หลายวันก่อน ผู้เขียนไปอ่านเจอข่าวชิ้นหนึ่งใน เว็บไซต์ Japan Today หัวข้อข่าวคือ Pandemic mask mountain sets new recycling challenge เห็นว่า น่าสนใจ เลยขอนำมาเล่า แบ่งปัน กับเพื่อนนักอ่านในที่นี้ค่ะ

ในข่าวบอกว่า หน้ากากอนามัยที่เราใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 กำลังเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่ต้องจัดการ นั่นคือ วิกฤตมลพิษจากพลาสติก โดยสมาคมเคมีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่า ในแต่ละเดือน ทั่วโลกมีการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งมากถึง 129 พันล้านชิ้น

Advertisement

Advertisement

masks

หน้ากากที่ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีโพรพีลีน ยางยืด และโลหะ หลังผ่านการใช้งานจะไปจบลงที่ถังขยะ ซึ่งจะถูกจัดการสองแบบคือ นำไปฝังกลบ หรือไม่ก็เผาทิ้ง บางส่วนที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดี ก็กลายเป็นขยะเกลื่อนอยู่ตามถนนหนทาง ตกหล่นไปในแหล่งน้ำ หรือไปไกลถึงกับไปอยู่ในมหาสมุทรเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ เป็นต้น


ทำให้มีนักวิจัย และบริษัทหลาย ๆ แห่งเริ่มคิดหาหนทางนำหน้ากากเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ แม้ว่า วิธีการรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ จะไม่สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าการลงทุนสักเท่าไร

ตัวอย่างเช่น ที่อังกฤษ มีโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งได้รับเครื่องบดอัด (Compactor) จากบริษัท Thermal Compaction Group โดยเครื่องบดอัดนี้ จะหลอมละลายชุดป้องกัน Personnal Protective Equipment (PPE) และหน้ากากอนามัยที่ถูกใส่ลงในเครื่องนี้ให้กลายเป็นแผ่นวัสดุสีน้ำเงิน แล้วเจ้าวัสดุนี้ จะถูกแปรสภาพให้กลายเป็น โต๊ะ เก้าอี้สนามต่อไป

Advertisement

Advertisement

bench

ส่วนที่ฝรั่งเศส ก็มีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง คือ Tri-O et Greenwishes ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจรีไซเคิล เก็บรวบรวมขยะหน้ากากที่รับมาจากลูกค้า 30 กว่าราย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล สถานีโทรทัศน์ และบริษัทผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่อย่าง Saint-Gobain

ประธานบริษัท Tri-O et Greenwishes นาย Matthieu de Channeleilles บอกว่า มีลูกค้าหลายรายติดต่อขอใช้บริการรีไซเคิลหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง ซึ่งบริษัทเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะจากลูกค้าในอัตราเดือนละ 250 ยูโร หรือราว 300 เหรียญสหรัฐ

เมื่อได้รับขยะมาแล้ว พนักงานที่อยู่ที่โรงงานรีไซเคิลซึ่งสวมชุดป้องกัน PPE และยืนประจำการอยู่หลังแผ่น plexiglass จะทำหน้าที่แยกขยะอื่น เช่น กระดาษทิชชู ถุงมือ หรือหมวก ที่ปะปนมากับหน้ากากออกไป ตัวพนักงานก็จะต้องทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ส่วนพื้นที่ที่ใช้ทำงานคัดแยกขยะจะถูกทำให้ปลอดเชื้อด้วยแสงอัตราไวโอเลต ขณะที่หน้ากากอนามัยจะถูกพักไว้ที่นี่หนึ่งสัปดาห์ก่อนนำไปจัดการในขั้นตอนต่อไปในโรงงานที่อยู่ทางเหนือของฝรั่งเศส นั่นคือ นำไป ฉีกย่อยให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ แกะแผ่นพลาสติกโพลีโพรพีลีนออก นำไปผ่านกระบวนการทำให้เป็นเม็ดพลาสติกเล็ก ๆ ก่อนจะผลิตเป็นพรมปูพื้น หรือเป็นชิ้นส่วนพลาสติกอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของรถยนต์ นี่คือการสร้างชีวิตใหม่ให้พลาสติกที่มีจุดเริ่มต้นเป็นหน้ากากอนามัยนั่นเอง

Advertisement

Advertisement

ที่ผ่านมา Tri-O et Greenwishes ได้ทำการรีไซเคิลหน้ากากอนามัยไปแล้ว 1 ตัน และตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะทำการรีไซเคิลหน้ากากอนามัยให้ได้มากถึง 20 ตัน ซึ่งจะช่วยลดขยะหน้ากากอนามัยจำนวนมหาศาลนี้ลงได้บ้าง

ทั้งนี้ มีข้อมูลการรายงานจากรัฐสภาฝรั่งเศสเมื่อเดือนมกราคมว่า ปีที่แล้ว ที่ฝรั่งเศส มีหน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งลงถังขยะทั้งสิ้นร่วม 4 หมื่นตัน และไม่ได้มีการนำมารีไซเคิลแต่อย่างใด

ข้ามไปดูความพยายามรีไซเคิลหน้ากากอนามัยที่สหรัฐอเมริกากันบ้างค่ะ TerraCycle คือบริษัทรีไซเคิลรายใหญ่รายหนึ่งที่ออกสินค้าใหม่ คือ Zero Waste Box มาขาย เพื่อใช้สำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ ตั้งราคาไว้ที่ 88 เหรียญต่อใบ หน้ากากอนามัยจะถูกส่งไปยังโรงงานพันธมิตรเพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก แล้วนำไปขายให้กับโรงงานต่าง ๆ เพื่อผลิตสินค้าหลากหลายประเภท เช่น ม้านั่ง วัสดุปิดพื้นผิว หรือแม้กระทั่งเป็น pallets สำหรับใช้ในการขนส่งสินค้าทางเรือ

shipping

Tom Szaky ผู้บริหารของ TerraCycle บอกว่า ต้นทุนการรีไซเคิลชุด PPE สูงกว่าการรีไซเคิลอลูมิเนียมเสียอีก เขาบอกว่า สาเหตุที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะรีไซเคิลแผ่นผ้าอ้อมใช้แล้ว หรือชุด PPE เพราะมันทั้งสกปรก ใช้ทุนสูงในการจัดเก็บและในกระบวนการแปรรูป แต่ถ้ามีใครยอมจ่ายตามต้นทุนที่แท้จริง TerraCycle ก็พร้อมให้บริการ

ประเทศสุดท้ายที่จะพาไปดูความพยายามในการรีไซเคิลหน้ากากอนามัยคือ ออสเตรเลีย ที่นี่ นักวิจัยจาก Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT) กำลังทดลองแปรรูปหน้ากากอนามัยเพื่อเป็นพื้นถนน โดยแรงบันดาลใจของการแปรรูปมาจากการเห็นขยะหน้ากากอนามัยหล่นเกลื่อนกระจายตามพื้นถนนนั่นเอง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หลังจากทำการฆ่าเชื้อ ฉีกย่อยหน้ากากเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ถ้านำไปผสมกับเศษหินเศษปูน ก็น่าจะได้วัสดุที่ยืดหยุ่นเหมาะที่จะใช้ก่อสร้างถนน โดยตอนนี้ กำลังมีการศึกษาวิจัยว่าจะใช้หน้ากากอนามัยเป็นซีเมนต์เพื่อการก่อสร้างได้อย่างไร ทั้งนี้ คาดว่า ต้องใช้หน้ากากอนามัยจำนวน 3 ล้านชิ้น เพื่อสร้างถนนเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร

road

Mohammad Saberian นักวิจัยจาก RMIT บอกว่า หน้ากากอนามัยมีค่าความทนต่อแรงดึง จะทำให้ได้คอนกรีตประสิทธิภาพสูง ซึ่งสำคัญมาก เขายังบอกว่า ตอนนี้กำลังมองหาพันธมิตรที่จะมาร่วมกันแปรรูปหน้ากากอนามัยให้กลายเป็นถนน เป็นโครงการนำร่องขึ้นมา ซึ่งหลังจากที่มีการตีพิมพ์งานวิจัยไปเมื่อช่วงต้นปีนี้ ก็มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แสดงความสนใจ และตอนนี้ทีมวิจัยก็กำลังยื่นเรื่องขอทุนเพื่อการวิจัยขั้นต่อไป คาดว่า จะใช้เวลาวิจัยอีก 1 ถึง 2 ปี

ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีอะไรเป็นขยะ หากเราสามารถต่อยอดพัฒนาสิ่งของที่มีอยู่ให้กลายเป็นของสิ่งใหม่ ซึ่งการศึกษาวิจัยที่ไม่หยุดนิ่ง สามารถทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นจริงได้ อยากเห็นเหมือนกันว่า ถ้าถึงวันที่เราสามารถถอดหน้ากากออกได้ เจ้าหน้ากากเหล่านี้ที่เคยปกป้องชีวิตของเรา จะได้รับการเสกสรรให้มีชีวิตใหม่ในรูปแบบใดกันนะคะ

เขียนไว้ก่อนวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิถุนายน) จะมาถึง

#kamon #TrueIDIntrend #Covid19 #Recycle #Mask #รีไซเคิล #หน้ากากอนามัย #โควิด19 #สร้างชีวิตใหม่ให้หน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง

เครดิต

ภาพปก โดย ผู้เขียน

ภาพประกอบที่ 1 โดย Karolina Grabowska จาก pexels

ภาพประกอบที่ 2 โดย J U N E จาก pexels

ภาพประกอบที่ 3 โดย Martin Damboldt จาก pexels

ภาพประกอบที่ 4 โดย Tirachard Kumtanom จาก pexels


เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
kamon
kamon
อ่านบทความอื่นจาก kamon

ชอบเขียน เรื่องอะไรที่รู้มา หรือสนใจ ก็อยากจดบันทึกไว้ให้ใจจำ และนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้กับชีวิต เพ

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์