อื่นๆ

ลาออก หรือ ถูกเลิกจ้าง สิทธิประโยชน์ที่แตกต่าง

653
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ลาออก หรือ ถูกเลิกจ้าง สิทธิประโยชน์ที่แตกต่าง

ในช่วงโควิด 19 บางคนอาจถูกให้ออกจากงานแบบกระทันหัน กลายเป็นคนตกงานสูญเสียรายได้โดยยังไม่ทันตั้งตัว เป็นเรื่องที่ต้องทำใจยอมรับ แต่ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองไว้ด้วย ที่ผ่านมาไม่นานผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้างจึงอยากมาแชร์ประสบการณ์เล่าสู่กันฟัง

ถูกไล่ออก

เมื่อบริษัทต้องการลดจำนวนพนักงานบางแห่งบอกให้พนักงานเขียนใบลาออก หรือให้เซนต์ใบลาออก เพราะจะเลิกจ้างงานแล้วด้วยสาเหตุต่าง ๆ เราไม่ควรทำเพราะการลาออกเองเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างโดยสมัครใจ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ที่จะได้รับเงินชดเชยจากบริษัท หากเราไม่ได้ทำความผิด และไม่ได้สมัครใจจะออกจากงานเอง แบบนี้ต้องให้ทางบริษัทออกหนังสือเลิกจ้างที่ระบุให้ชัดเจนว่ามีสาเหตุอะไรที่เลิกจ้าง และวันที่จะมีผลในการเลิกจ้างคือวันที่เท่าไร ซึ่งการถูกเลิกจ้างนั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายแรงงานมากกว่าการลาออกเอง

Advertisement

Advertisement

เมื่อรู้แน่ชัดแล้วว่าต้องออกจากงานต้องมาเช็คสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เงินก้อนแรกคือเงินชดเชยคือเงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมทั้งค่าตำแหน่ง ค่าตอบแทนพิเศษที่ได้รับ หากทำงานมานานกว่า 20 ปี จะได้รับค่าชดเชยสูงสุดคือเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นเวลา 400 วัน ลองคิดดูหากเราไม่เข้าใจและไปเซนต์ใบลาออกเองเงินส่วนนี้ก็จะไม่ได้เลยน่าเสียดายมาก ๆ  บางคนหากทำงานมานาน ๆ  เงินส่วนนี้จะได้รับนับล้านบาทเลยทีเดียว แต่หากทำงานมาได้ไม่นานจำนวนวันที่นำมาคิดก็จะลดลง น้อยที่สุดคืออายุงาน 120 วัน ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับค่าชดเชยคือเงินเดือน 1 เดือน อีกเรื่องหนึ่งที่อย่ามองข้ามคือค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เรียกกันว่าค่าตกใจ หากทางบริษัทบอกเลิกจ้างทันที เช่นบอกว่าพรุ่งนี้ไม่ต้องเข้ามาทำงานอีกแล้ว ทางบริษัทต้องจ่ายค่าตกใจนี้ให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างด้วย โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง 1 งวดค่าจ้างให้แก่พนักงาน

Advertisement

Advertisement

เงินชดเชย

ดังนั้นเมื่อถูกเลิกจ้างเราต้องตรวจสอบว่าเราได้เอกสาร และเงินที่สมควรจะได้รับอย่างครบถ้วนหรือไม่ ได้แก่หนังสือเลิกจ้าง เงินค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ถ้ามี) รวมถึงเงินเดือนเดือนสุดท้าย หากลูกจ้างไม่ได้รับเงินชดเชยตามที่ควรจะได้ต้องไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการ และคุมครองแรงงานประจำจังหวัด เพราะนั่นเป็นการเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม

เมื่อเราสะสางกับทางนายจ้างแล้ว เรายังต้องมาจัดการสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากประกันสังคมด้วย ถึงแม้การลาออกเองพนักงานจะไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากนายจ้าง แต่มีสิทธิ์ขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคมได้ โดยให้รีบไปขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางาน หรือทางเว็บไซต์ https://empui.doe.go.th ภายใน 30 วัน หลังจากออกจากงาน ในช่วงโควิดนี้แบ่งได้ 2 กรณี

  1. กรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ ไม่เกิน 200 วัน
  2. กรณีลาออกจะได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 45 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ ไม่เกิน 90 วัน
    ชายตกงาน

Advertisement

Advertisement

แต่หากต้องการใช้สิทธิประกันสังคมต่อต้องไปสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สำนักงานประกันสังคมสาขาใกล้บ้านก็จะได้รับความคุ้มครองต่อ แต่ยังคงต้องส่งเงินสมทบในอัตราที่รัฐบาลกำหนด เรื่องนี้ก็ต้องคิดให้รอบคอบถึงสิทธิต่าง ๆ เช่น เรื่องการรักษาพยาบาล คลอดบุตร รวมถึงเงินบำนาญที่จะได้รับ เพราะหากทำประกันตนตามมาตรา 39 แล้ว มีผลทำให้เงินบำนาญที่จะได้รับเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ นั้นได้น้อยลง สำหรับผู้เขียนเองทำงานมานานกว่า 25 ปี และไม่คิดจะทำงานต่อแล้ว กรณีนี้คิดแล้วว่าไม่ควรเพราะจะมีผลให้เงินบำนาญน้อยลงไปมากทีเดียว แต่จะไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือที่เรียกกันติดปากว่าสิทธิบัตรทอง ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มแทน

นอกจากนี้ยังมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายทางเลือก หากเลือกออกจากการเป็นสมาชิกก็จะได้เงินก้อนที่ประกอบด้วยเงินสะสมที่หักจากเงินเดือนทุกเดือน เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ และผลประโยชน์ที่ได้ แต่เงินส่วนนี้จะต้องนำไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีด้วย หรือทางเลือกที่ 2 คือคงเงินก้อนนี้ไว้เช่นเดิมโดยมีค่าธรรมเนียมในการคงสภาพปีละ 500 บาท ในส่วนตัวผู้เขียนเองเลือกทางเลือกที่ 3 โดยนำเงินนี้ไปลงทุนต่อในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (PVD for RMF) เพราะมีข้อดีคือไม่ต้องเสียภาษี และไม่ต้องลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่องเหมือน RMF ทั่วไป แต่เงินก้อนนี้เราต้องถือครองไปจนอายุ 55 ปี จึงจะมีสิทธิ์ถอนออกมาใช้ได้

I need job

หากใครประสบปัญหาตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว สิ่งสำคัญคือต้องตั้งสติให้ดี ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ และต้องมีการวางแผนการใช้เงินชดเชยที่ได้รับมาอย่างคุ้มค่า ประคับประคองชีวิตไปจนกว่าจะหางานใหม่ทำได้ หรือนำเงินที่ได้ไปลงทุนให้เกิดประโยชน์คิดเสียว่าท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอขอเพียงอย่ายอมแพ้

ภาพปก @freepik/freepik ภาพประกอบที่ 1 @master1305/freepik ภาพประกอบที่ 2 ผู้เขียน / ภาพประกอบที่ 3 @freepik/freepik ภาพประกอบที่ 4 @freepik/freepik

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์