อื่นๆ

วิธีการดูแลเบื้องต้นหลังรับน้องหมามาเลี้ยง

338
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
วิธีการดูแลเบื้องต้นหลังรับน้องหมามาเลี้ยง

หลายปีก่อน เราเก็บออมเงินซื้อน้องหมาตัวแรกของชีวิตในราคา 35,000 บาท พันธุ์พอเมอเรเนียนและมีใบเพ็ดดีกรี (pedigree) หรือใบประวัติ น้องน่ารักมาก ร่าเริง แจ่มใส ตามภาพด้านล่างเลยค่ะ

ภาพวันแรกที่พาน้องเข้าบ้าน (อายุ 2 เดือน)น้องหมาตัวแรก

แต่หลังจากเลี้ยงน้องได้ประมาณ 3 - 4 เดือน มีอยู่ครั้งหรือสองครั้งที่ จู่ ๆ น้องก็หยุดหายใจ จนคุณแม่ของเราต้องผายปอดให้น้อง หลังจากนั้นไม่นาน ขาหลังทั้งสองข้างของน้องก็ไม่อาจใช้การได้อีก...

ภาพก่อนที่น้องจะเดินไม่ได้ (อายุประมาณ 4 เดือน)

น้องก่อนเดินไม่ได้

เราต้องพาน้องวิ่งไปหาหมอหลายโรงพยาบาลกว่าจะได้คำตอบที่แน่ชัดว่าอาการของน้องเกิดจากการผสมกับสายเลือดที่ใกล้ชิด ซึ่งถ้าจำไม่ผิด หมอก็บอกว่าไม่มีทางรักษาน้องได้ ทำได้แต่ดูแลต่อไปอย่างนี้หรืออีกทีก็ต้องทำการการุณฆาต

เรารู้ว่าน้องอาจจะทรมาณถ้าอยู่อย่างนี้ต่อ แต่เราก็ไม่อาจจะทำใจเสียน้องไปแบบนั้น จึงเลือกที่จะดูแลน้องต่อไป

Advertisement

Advertisement

แล้ววันหนึ่ง น้องก็หยุดหายใจไปเสียเฉย ๆ อีกครั้ง จำได้ว่า เราที่ขับรถไม่แข็งนักในตอนนั้น พยายามเหยียบคันเร่งให้ไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พอไปถึงที่โรงพยาบาลก็รีบให้แม่พาน้องลงไปหาหมอก่อน ส่วนเราเมื่อหาที่จอดรถได้ก็รีบวิ่งสุดกำลังเพื่อไปดูน้อง แต่สุดท้าย น้องก็จากไปแล้วในระหว่างทางที่เดินทางที่โรงพยาบาลด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

ถึงจะผ่านประสบการณ์แบบนั้นมา เราก็ยังคงรักน้องหมาและยังอยากจะเลี้ยงน้องหมาอยู่ แต่ทิ้งระยะห่างจากตอนนั้นนานมาก ๆ และแล้วเราไปเจอกับน้องหมาตัวหนึ่ง พันธุ์พอเมอเรเนียนเหมือนเดิมค่ะ

ภาพน้องในวันที่ 3 ที่มาอยู่บ้าน (อายุ 2 เดือน)

น้องหมาตัวใหม่

แฮ่~~~

น้อง

ด้วยประสบการณ์ในคราวนั้น ทำให้ทันทีที่เราซื้อน้องมา เราก็พาน้องไปโรงพยาบาลก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อตรวจเบื้องต้นว่าน้องมีสุขภาพเป็นอย่างไรบ้างเป็นอันดับแรก

Advertisement

Advertisement

คุณหมอในโรงพยาบาลก็ทำการวัดอุณหภูมิน้องและเช็ดหูน้อง พอตรวจเสร็จหมอบอกว่าน้องมีไรในหู โดยการรักษาคือให้เอาน้ำยาทำความสะอาดหูน้องทุกวัน เดี๋ยวก็หาย แล้วสังเกตดูอาการน้องเป็นเวลา 7 วันนับจากวันที่เราซื้อมา หลังจากครบให้น้องมารับวัคซีนเข็มแรก โดยคุณหมอบอกว่าไม่ต้องรอให้อาการไรในหูหายก็ฉีดได้

น้ำยาทำความสะอาดหูน้อง

น้ำยาทำความสะอาดหู

แต่ว่าหลังจากเช็ดหูไปได้ไม่กี่วัน น้องก็ดูอาการไม่ดีขึ้น แถมยังเกาหูบ่อยกว่าเดิม เรากังวลใจมาก จนไปนั่งค้นว่าโรคไรในหูของน้องหมาจะส่งผลอะไรบ้าง แล้วเราก็พบว่าหากไม่รักษาให้ดีน้องจะเกิดอาการช่องหูอักเสบหรือหากรุนแรงมากจะทำให้มีอาการทางประสาทได้ เช่น เดินเซหรือหัวเอียงทำให้เราเครียด เพราะกลัวว่าน้องจะจากไปเหมือนครั้งที่แล้ว (ถึงจากที่อ่านดูจะไม่รุนแรงเท่าครั้งที่แล้วก็ตาม)

สุดท้ายเราเลยพาน้องไปอีกโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูอาการว่าน้องอาการเป็นอย่างไรบ้าง โดยที่โรงพยาบาลใหม่นี้ คุณหมอได้ทำการเช็ดหูน้อง เพื่อเอาไปส่องกล้องว่าน้องเป็นอะไร

Advertisement

Advertisement

สุดท้าย เราก็ได้คำตอบมาว่าน้องไม่ได้เป็นแค่ไรในหู แต่ยังมียีสต์ในหู ซึ่งมีจำนวนเยอะมากกว่าปกติ เมื่อเทียบกับอายุของน้อง (ตอนนั้นน้องมีอายุได้ 2 เดือน) แล้วให้เช็คหูและหยดยาทุกวันพร้อมกับดูอาการให้ครบ 7 วันแล้วค่อยมาตรวจใหม่อีกครั้ง ซึ่งในช่วง 7 วันนี้ให้งดอาบน้ำน้องก่อน

ยารักษายีสต์ในหูของน้อง

ยารักษายีสต์ในหูของน้อง

แถมยังบอกเพิ่มเติมด้วยว่าน้องยังไม่สามารถรับวัคซีนเข็มแรกได้ เพราะว่าน้องยังเป็นโรคอยู่ “ต้องทำการรักษาให้หายก่อน ถึงจะฉีดวัคซีนได้” โดยคุณหมอให้คำอธิบายว่า ในวัคซีนนั้นเป็นการเอาเชื้อโรคที่ฤทธิ์อ่อนลงหรือตายแล้วมากระตุ้นภูมิให้น้อง ซึ่งน้องที่ร่างกายไม่แข็งแรงอยู่หากได้รับเชื้อโรคเข้าไปอีกจะยิ่งอ่อนแอ อีกทั้งเมื่อฉีดวัคซีนให้ยังต้องค่อยดูด้วยว่าน้องมีอาการแพ้หรือไม่เป็นเวลา 30 นาที - 1 ชั่วโมงก่อน หากไม่มีอาการแพ้ถึงจะกลับบ้านได้

ในระหว่างนั้น น้องก็อาการขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พอครบ 7 วัน เมื่อไปตรวจใหม่อีกครั้ง น้องก็อาการดีขึ้นค่ะ คุณหมอบอกว่าให้เว้นระยะในการเช็ดหูได้ จากเดิมเช็ดทุกวันเป็นเช็ด 3 วันครั้ง แล้วอีก 7 วันคุณหมอถึงนัดมาดูอาการอีกครั้งค่ะ ซึ่งไม่นานจากนั้น น้องก็หายขาดค่ะ แล้วก็ได้รับวัคซีนเข็มแรกจนตอนนี้ครบถึงเข็มสุดท้ายแล้วค่า


สรุปวิธีการดูแลเบื้องต้นหลังรับน้องหมามาเลี้ยง

1. เลือกโรงพยาบาลสัตว์

จากประสบการณ์อย่างที่เห็นว่าเราต้องพาน้องเปลี่ยนโรงพยาบาลนั่นเพราะเราไม่ได้ศึกษาข้อมูลโรงพยาบาลให้ดี ทำให้ต้องเสียเวลาและอาจจะเกิดอันตรายกับน้องได้เช่นกัน

ขอยกตัวอย่างจากตอนที่เปลี่ยนไปโรงพยาบาลใหม่ของน้องตัวล่าสุด ในวันที่เราไปนั้น เราไปเจอกับเจ้าของแมว (เป็นชาวต่างชาติ) หน้าตาเคร่งเครียด ซึ่งพาแมวประมาณ 5 - 6 ตัวมาตรวจที่โรงพยาบาลแห่งนี้

เจ้าของน้องเหมียวได้มาเล่าให้เราฟังว่า ก่อนหน้าที่เขาจะมาที่นี่ เขาพาแมวของเขาไปตรวจที่โรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน จู่ ๆ แมวของเขาก็ป่วย แล้วเริ่มค่อย ๆ ตายจากไปทีละตัวสองตัว โดยเริ่มจากแมวตัวที่เขารักที่สุด จากการตรวจสุดท้าย เขาก็พบว่าสาเหตุของการจากไปของบรรดาน้องเหมียว คือ ปรอดวัดอุณหภูมิที่ไม่สะอาดทำให้น้องติดเชื้อ!

เขาจึงเปลี่ยนโรงพยาบาลและตั้งใจว่าจะฟ้องโรงพยาบาลเก่าที่ทำให้น้องแมวของเขาจากไป

เพราะฉะนั้น การเลือกโรงพยาบาลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ค่ะ เพราะเราต้องพาน้องไปหาคุณหมอบ่อย ๆ เพื่อรับการฉีควัคซีน รวมทั้งกรณีหากน้องไม่สบายก็ต้องไปรับการรักษา

สำหรับการค้นหาโรงพยาบาลนั้นสามารถค้นหาได้จากกูเกิ้ลได้เลยค่ะ ส่วนการดูว่าโรงพยาบาลแห่งนั้นดีไหม เราสามารถเข้าไปดูในรีวิว พยายามดูว่าโรงพยาบาลแห่งนั้นได้รับคะแนนสูงหรือไม่ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ ถามจากบ้านใกล้เรือนเคียงที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงก็ได้ค่ะ นอกจากนี้ ยังควรเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับที่พักอาศัยของเราเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะหาดเกิดกรณีฉุกเฉินจะได้พาน้องไปได้ทัน

2. พาน้องหมาไปหาคุณหมอทันทีหรือหลังจากรับน้องมา 7 วัน

เมื่อหาโรงพยาบาลที่ไว้ใจได้แล้ว เราก็พอน้องไปหาคุณหมอกันค่า โดยขอแบ่งเป็น 2 แบบนะคะ

2.1 หาคุณหมอทันทีที่รับน้องมาเลี้ยง

สำหรับคนที่มีความหลังฝังใจอย่างเราพาน้องไปตรวจทันทีค่ะ เพราะมันทำให้เรารู้สึกมั่นใจกว่า อีกทั้งหากน้องมีโรคที่สามารถตรวจพบได้ง่ายจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ

2.2 หาคุณหมอหลังจากรับน้องมา 7 วัน

สำหรับกรณีนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรระหว่าง 7 วันนี้นะคะ เราต้องสังเกตน้องค่ะ ว่าน้องมีอาการอะไรผิดปกติไหม เช่น น้องเกาหูบ่อย ๆ (ประมาณทุก ๆ 10 นาที เดี๋ยวเกา ๆ) ในกรณีนี้ น้องกำลังเสี่ยงที่จะมีไรหรือยีสต์ในหู เป็นต้น ซึ่งหากมีอะไรที่เรารู้สึกผิดสังเกตหรือรู้สึกไม่แน่ใจ วันที่ไปพบคุณหมอก็ให้เล่าอาการอย่างละเอียดให้คุณหมอทราบ เพื่อที่คุณหมอจะได้วินิจฉัยโรคของน้องได้ค่ะ

3. ฉีดวัคซีน

น้องหมาก็ไม่ต่างจากเรา ๆ ค่ะที่ต้องมีการรับวัคซีนตอนเด็ก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยของน้องหมาส่วนใหญ่จะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกตอนอายุประมาณ 2 - 3 เดือนค่ะ

ในขวบปีแรก น้องจะต้องไปฉีดยาทุกเดือนค่ะ แต่เมื่อครบตามโปรแกรมในช่วงแรกแล้วก็จะค่อยๆ ลดลงไปค่ะ ซึ่งโปรแกรมสุขภาพสำหรับสุนัข บางโรงพยาบาลอาจจะมีเขียนในสมุดประจำตัวของน้องค่ะ ตัวอย่างหลังสมุดประจำตัวของน้องตัวล่าสุดค่ะ ตามด้านล่าง

โปรแกรมสุขภาพสำหรับสุนัข

ซึ่งเมื่อน้องได้รับวัคซีนมาต้องรอดูอาการก่อนว่าแพ้หรือเปล่า เป็นเวลา 30 นาที - 1 ชั่วโมงค่ะ และหลังจากนั้น ห้ามอาบน้ำน้องเป็นเวลา 1 สัปดาห์ค่ะ

ทั้งหมดนี้ คือ วิธีการดูแลเบื้องต้นหลังรับน้องหมามาเลี้ยงค่ะ ขอให้น้องหมาที่รับมาของทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงและอยู่เป็นเพื่อนซี้ไปนาน ๆ นะคะ ก่อนจากกัน ขอแถมท้ายด้วยภาพของน้องหมาของเราหลังอาบน้ำตัดขน ซึ่งแปลงกายจากพอเมอเรเนียนเป็นมินิชิบะเป็นที่เรียบร้อยค่าาา

มินิชิบะ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์