อื่นๆ

วิธีดูฤกษ์งามยามดี

558
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
วิธีดูฤกษ์งามยามดี

คติความเชื่อเกี่ยวกับฤกษ์งามยามดีสำหรับคนไทยเรา มีมานานแล้วตั้งโบราณกาล  จนกระทั่งตกมาถึงปัจจุบัน ความเชื่อเหล่านี้ก็ยังไม่จางหายไปจากสังคมไทย  เวลาจะทำกิจการงานอะไร มักจะไปขอฤกษ์จากพระสงฆ์ หรือพระเกจิอาจารย์ที่ตนเองนับถือ  บางคนก็ไปปรึกษาหมอดู หรือหมอพราหมณ์ ผู้เป็นปราชญ์ประจำท้องถิ่นนั้น ๆ  เช่น จะสร้างบ้านลงเสาเอก  แต่งงาน  บวชนาค  ตั้งศาลพระภูมิ  เปิดกิจการห้างร้านบริษัท  ขึ้นบ้านใหม่  กระทั่งออกรถคันใหม่ ฯลฯ  พระหรือหมอพราหมณ์เหล่านั้นก็จะบอกฤกษ์เป็นทำนองเดียวกันว่า วันนั้นฤกษ์ดี  เป็นวันธงชัย  เป็นวันอธิบดี  เป็นวันฟู  ควรแก่ประกอบงานมงคล  ส่วนวันที่ไม่ควรประกอบงานมงคล ได้แก่ วันอุบาทว์  วันโลกาวินาศ  วันจม ทำอะไรก็จะล่มจม ไม่เฟื่องฟู  เป็นต้นโหราศาสตร์ นาฬิกา เงา คน จาก https://pixabay.com

การถือฤกษ์งามยามดีตามคติความเชื่อต่าง ๆ ยังคงได้รับความนิยมเสมอสำหรับชาวบ้านทั่วไป ที่ยังไม่เข้าใจดีพอในสัจธรรมความจริง  เมื่อไม่เข้าใจ จึงกลายเป็นความไม่มั่นใจ  ดังนั้น เมื่อจะทำการสิ่งใด ด้วยความคาดหวังอยากจะประสบความสำเร็จให้มาก  ความเชื่อฤกษ์งามยามดี จึงเป็นคำตอบหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความมั่นใจ  แต่ก็ไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่า กิจที่ประกอบตรงตามฤกษ์ที่ดี จะให้ผลเป็นความสำเร็จได้แน่นอน  เพราะปัจจัยแห่งความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับการกระทำเป็นหลัก ตลอดทั้งองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ  หาใช่อยู่ที่ฤกษ์เวลาไม่

Advertisement

Advertisement

หมอดู จาก https://pixabay.com

ความจริง การถือฤกษ์งามยามดี ก็หาใช่เรื่องเสียหายเสียทีเดียว  หากไม่ได้ทำให้กิจที่ทำอยู่เกิดความล่าช้า หรือเร่งรีบลนลานเพื่อให้ทันฤกษ์ดีจนเสียการ  แต่ฤกษ์ที่ดีควรเป็นฤกษ์ที่ทันสมัย  ทันการ  ทันเวลา  เหมาะสมกับสถานการณ์  ไม่เป็นตัวถ่วงในการประกอบกิจการต่าง ๆ

ส่วนแก่นแท้แห่งพุทธศาสนา ไม่สอนให้ถือโชคชะตาราศรี และปฏิเสธเรื่องฤกษ์ยาม  ถือว่าประโยชน์เป็นฤกษ์อยู่ในตัว  ถ้าทำอะไรแล้วเป็นประโยชน์ เป็นความดี ไม่เสียหาย  การกระทำนั้น ก็เป็นฤกษ์ดีอยู่ในตัว  ฤกษ์ดีอยู่ที่การกระทำ  การทำดีถือเป็นฤกษ์ดีทั้งสิ้น  โดยไม่ต้องผัดวันประกันพรุ่งที่จะทำความดี  หรือรอฤกษ์ยามที่จะสร้างความดี  พูดให้ง่าย ๆ ก็คือ ทำดีไม่ต้องรอ  ก่อประโยชน์ไม่ต้องเดี๋ยว

ใส่บาตร ภาพจาก https://pixabay.com/

ดังนั้น เมื่อจะทำสิ่งใด หากเริ่มมาจากความคิดที่ดี  มีวิธีปฏิบัติด้วยการกระทำและคำพูดที่ดี  ควรจะรีบทำสิ่งนั้นทันที  โดยไม่ต้องรอดูฤกษ์ยาม  หากชักช้าไป พรุ่งนี้ก็อาจจะสายเสียแล้ว  เพราะทุกครั้งที่เราคิด ทำดี พูดดี เมื่อนั้น ถือว่าเป็นฤกษ์ที่ดีสุด  ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสุปุพพัณหสูตร ความว่า

Advertisement

Advertisement

“คนเราคิดดี ทำดี พูดดี ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาที่ดี   ถ้าคิดดี ทำดี พูดดี ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาที่ดี   ถ้าคิดดี ทำดี พูดดี ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาที่ดี   คนเราประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี.. มงคลดี..ยามดี ..” และตรัสยกย้ำไว้ในนักขัตตชาดก ความว่า “คนโง่เขลา ผู้มัวคอยฤกษ์อยู่  มักจะพลาดจากประโยชน์ (ที่ควรได้)  ประโยชน์เป็นฤกษ์อยู่ในตัว  ดวงดาวจักทำอะไรได้"ภาพช่วยสุนัข จาก https://pixabay.com

พระธรรมโกศาจารย์ หรือท่านพุทธทาสภิกขุ อดีตพระบูรพาจารย์แห่งวัดสวนโมกขพลาราม ได้สรูปพุทธวัจนะข้างต้นด้วยประโยคสั้น ๆ แต่ได้ใจความว่า “วันเวลาที่ท่านสามารถทำหน้าที่ได้ดีที่สุดนั่นแหละคือ วันดี ฤกษ์ดี ยามดี  สำหรับท่าน  อย่าไปดูหมอให้เสียเวลา”

ส่วนพระพรหมมังคลาจารย์  หรือหลวงพ่อปัญญานันทะ อดีตพระธรรมกถึกแห่งวัดชลประทานรังสฤษดิ์  ได้เคยแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับการถือฤกษ์ยามไว้ตอนหนึ่งว่า “ถ้าเราคิดดี พูดดี ทำดี  วันเวลามันก็พลอยดีไปกับเรา  เราคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว วันเวลา มันก็พลอยชั่วไปกับเรา ลำพังวันเวลานั้นไม่ดีไม่ชั่ว  แต่ว่ามันดีชั่วเพราะเราทำ”

Advertisement

Advertisement

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีญาติโยมท่านหนึ่งมากราบเรียนปรึกษาหลวงพ่อ เรื่องหาฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่  ท่านจึงถามว่า บ้านสร้างเสร็จรึยังล่ะ โยม  เมื่อได้รับคำตอบว่า  เสร็จแล้ว ขอรับหลวงพ่อ  จึงถามต่อว่า แล้วบันไดล่ะ สร้างเสร็จรึยัง   โยมก็ตอบว่า เสร็จแล้ว ขอรับ ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือเพียงรอฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ ขอรับ   หลวงพ่อท่านจึงบอกว่า บ้านก็เสร็จแล้ว บันไดก็เสร็จแล้ว ก็ขึ้นได้เลยโยม  ไม่ต้องรอฤกษ์

ต่อมา มีพระใหม่รูปหนึ่งเข้ามาบวชที่วัดชลประทานฯ  เนื่องจากคุณแม่เป็นสายบุญ แต่ชอบดูหมอและเชื่อหมอดู จึงหาฤกษ์สึกให้พระลูกชายไว้เสร็จสรรพตั้งแต่ยังไม่บวช  พอถึงวันสึก คุณแม่กำชับหนักหนาว่า อย่าลืมนะลูก ตอนเดินออกจากวัด ต้องออกทางทิศตะวันออก ใบหน้าจะได้รับแสงตะวัน  จะได้มีสง่าราศรี  โชคดีตลอดไป  เมื่อพระใหม่เข้าพิธีสึกเสร็จแล้ว ก่อนจะลากลับบ้าน จึงถามหลวงพ่อเพื่อความมั่นใจว่า "หลวงพ่อครับ เวลาผมเดินออกจากวัด  ถ้าออกทางทิศตะวันออก ฤกษ์จะดี  ดวงจะดี ราศรีจะจับใช่มั้ยครับ"

หลวงพ่อตอบว่า "ถ้าออกไปทางทิศตะวันออก ดวงจะซวยมากกว่า เพราะว่าด้านตะวันออกวัดน่ะ..กำแพงมันสูง และถ้าข้ามไปได้ก็อาจจะซวยหนักเข้าไปอีก เพราะชาวบ้านเขาอาจคิดว่าไอ้ทิดมันเป็นโจร..เดี๋ยวลูกปืนจะถามหา"  ท่านจึงกำชับว่า "ถ้าอยากให้เป็นฤกษ์ดีจริงๆ ก็บอกให้ใครเอารถมารับที่วัด หรือนั่งรถเมล์กลับบ้านตามทางที่คนเขาเดินกันนั่นแหละ ฤกษ์ดีแท้"

ดังนั้น "ฤกษ์งาม ยามดี"  ไม่ต้องไปหาจากใคร  เพราะทุกคนมีฤกษ์ดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว  เมื่อไหร่ เราคิดดี ทำดี พูดดี   เมื่อนั้น จัดเป็นฤกษ์ดีที่สุดสำหรับเรา ไม่ว่าวัน หรือเวลาไหน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์