ไลฟ์แฮ็ก

หลัก 3 ประการ การคิดแก้ปัญหา

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
หลัก 3 ประการ การคิดแก้ปัญหา

หลัก 3 ประการ ในการคิดแก้ปัญหานี้ เป็นการชี้ให้เห็นถึงการแก้ปัญหาที่ผิดทิศผิดทางหรือกลายเป็นการไม่ได้เป็นแก้ปัญหาอะไรเลย ซึ่งผู้เขียนได้พบเห็น ได้พูดคุยสอบถามมาด้วยตนเองจากบรรดานักโทษในเรือนจำต่างๆหลายแห่ง จึงได้สรุปรวบรวมเหตุของความผิดพลาดในการแก้ปัญหา มาจากประสบการณ์ทำงานที่คลุกคลีอยู่กับผู้กระทำผิดในเรือนจำมาเป็นระยะเวลายาวนาน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มาจาก การไม่เข้าใจธรรมชาติความเป็นธรรมดาของจิตมนุษย์ ไม่เข้าใจโลกและชีวิต บวกกับกิเลสในจิตใจของตนเอง จึงทำให้มองปัญหา มองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นด้วยอคติ อาจจะเพราะรัก เพราะเกลียดเพราะความกลัว หรือเพราะความอยาก จึงทำให้มองไม่เห็นต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา จนทำให้ปัญหาบานปลายกลายเป็น "ความวิบัติของชีวิต"

เมื่อครั้งที่พระโพธิญาณเถระหรือหลวงพ่อชาสุภัทโทแห่งวัดหนองป่าพง ยังไม่ละสังขารนั้น มีผู้คนเข้าไปกราบนมัสการท่านและบ่นถึงปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตให้ท่านฟัง เพื่อขอคำปรึกษากับท่านมากมาย จนท่านให้คำสอนกันไม่หวาดไม่ไหว หลวงพ่อชาท่านจึงได้ยกอุปมาขึ้นมาเป็นหลักคิดกว้าง ๆ เป็นกลาง ๆ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เอาเองว่า สมมุติว่า "..เราเดินนำหน้าควาย เพื่อพาควายกลับบ้าน แล้วจู่ ๆ ควายมันหยุดไม่ยอมเดิน เราจะทำอย่างไร..?" ท่านก็บอกว่า ให้เราก็หันกลับไปดูว่า มันเกิดจากสาเหตุใด เช่น ถ้าเหตุเกิดจากเชือกควายมันติดอยู่กับตอไม้ เราก็แก้เชือก ถ้าแก้ไม่ได้เพราะมันพันแน่นเกินไป เราก็ใช้มีดตัดเชือกเสีย คือท่านว่า "ต้องแก้ที่ต้นเหตุ หาต้นเหตุของปัญหาให้พบนั่นเอง"หลัก 3 ประการ

Advertisement

Advertisement

ภาพที่ 1 ถ่ายโดย Archie Binamira จาก Pexels

หลวงพ่อชาบอกว่า "เหตุอยู่ตรงไหน ก็ให้แก้ตรงนั้น" เพราะผลทุกอย่างย่อมเกิดจากเหตุ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอย ๆ เพราะแม้แต่การผุดเกิดเต็มวัยทันทีแบบโอปปาติกะก็มีเหตุมาจากกรรมของสรรพสัตว์ที่ตนทำมา ตรงกับในพระไตรปิฎก ตอนที่พระอัสสชิเถระ กล่าวถึงธรรมะบทแรกกับอุปติสสะปริพาชก หรือต่อมาคือพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวาพระพุทธเจ้า ถึงคำสอนของพระบรมศาสดาผู้เป็นครูของตนว่า "ธรรมอันใดเกิดแต่เหตุ" พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้ อุปติสสะปริพาชกได้ฟังก็ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบันในทันใด "ธรรม คือ สิ่ง" หมายถึงว่า ทุกสิ่งนั้นเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดมันหมดไป สิ่งนั้นก็จะหมดไปด้วย เป็นคำสอนหรือสัจธรรมที่ตรงไปตรงมาและแท้จริงที่สุด

Advertisement

Advertisement

  • แต่ที่เป็นปัญหาเป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะหลายคน ไม่ได้แก้ที่เหตุ บางครั้งก็ยังสร้างเหตุให้เกิดปัญหาอื่นตามมา หรือเพิ่มปัญหาเดิมให้หนักหรือให้รุนแรงขึ้นมาอีกด้วย เช่น มีข่าวผู้ชายคนหนึ่ง ทำการชิงทองในร้านขายทองคำ เพื่อนำเงินไปใช้หนี้พนันฟุตบอล แต่กลับแก้ปัญหาในการหาเงินไปใช้หนี้ด้วยการก่ออาชญากรรม หนี้ก็ไม่ได้ใช้ แล้วตนเองต้องติดคุกติดตะราง เป็นการเพิ่มปัญหาขึ้นไปอีกหนึ่งปัญหา เพราะต้นเหตุนั้นคือ การเล่นการพนันต่างหาก บางรายติดสุรายาเสพติด ไม่ทำงานทำการ เมียบอกเลิกเพราะไม่อาจทนอยู่ได้ ก็เอาปืนไปยิงเมียตาย นอกจากจะไม่ได้คืนดีกับเมียแล้ว ยังต้องกลายเป็นฆาตกรฆ่าเมีย เพราะว่าไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เพราะต้นเหตุอยู่ที่ตัวเจ้าของ ตนเองก็ติดคุก สร้างบาปสร้างกรรม สร้างความโกรธแค้นให้กับญาติ ๆ ของฝ่ายเมียอีกด้วย ลูก ๆ ก็ต้องขาดทั้งพ่อและแม่ แม่ตายพ่อติดคุก เป็นปัญหาต่อเนื่องเหมือนลูกโซ่ไม่รู้จักจบและลามไปเป็นปัญหาให้กับสังคมอีก  มีคนมากมายที่ต้องมาเป็นนักโทษอยู่ในเรือนจำ เพราะเข้าข่ายลักษณะนี้ภาพถ่ายโดย Pixabay จาก Pexels

Advertisement

Advertisement

ภาพที่ 2 ถ่ายโดย Pixabay จาก Pexels

มีปัญหาอยู่หลายปัญหา ที่ไม่ใช่เป็นปัญหาที่แท้จริงในตัวของมันเอง แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากมุมมองของเจ้าของปัญหา เช่น ปัญหาจากความยากจน ปัญหาจากความไม่สวยไม่หล่อ เหล่านี้เกิดจากปัญหาที่เป็นมุมมองทั้งสิ้น อาจจะเป็นกรณีจนเพราะยังมีไม่พอ หรือไม่สวยไม่หล่อ ที่เกิดจากการเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือตามค่านิยมของผู้คนในขณะนั้นซึ่ง ความนิยมนั้นจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามยุคตามสมัย ไม่ใช่ของแน่แท้ไปตลอดกาล

หลวงพ่อชาบอกว่า : "..ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันก็เป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้น เราต่างหากที่ไปคิด ไปต้องการจะให้มันเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เกิดการเปรียบเทียบไปตามกิเลสของเรา.." เช่น ไม้ไผ่อันหนึ่งยาว 1 เมตร ไม้มันก็ยาว 1 เมตร ของมันอยู่อย่างนั้นแหละ คนเราต่างหากที่ไปมองว่า มันสั้นหรือยาว ไม้อันนั้นถ้าจะเอาเปรียบเทียบหรือเอาไปใช้ทำไม้สอยมะพร้าว มันก็สั้น แต่ถ้าจะเอาไปทำตะเกียบหรือไม้จิ้มฟัน มันก็ยาวเกินไป แต่ตัวไม้มันไม่ยาวไม่สั้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นนั่นเอง

  • คนที่คิดว่าตนเองไม่สวยไม่หล่อ ผิวดำล่ำเตี้ย ไม่สูงสมาร์ทไม่ระหงเพรียวบางก็เหมือนกัน สีผิวมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าคนชอบผิวดำก็บอกว่าสวย แต่คนชอบผิวขาวก็บอกว่ามันดำเกินไป สมัยก่อนก็ชื่นชมผู้หญิงเจ้าเนื้อว่าสวย แสดงถึงสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะเห็นได้จากภาพวาดของศิลปินยุโรปโบราณ ฝรั่งมาอาบแดดในเมืองไทยให้ผิวดำผิวคล้ำเพราะความนิยมว่า ผิวคล้ำ ๆ เป็นสีแทนนั้นสวย แต่คนไทยกลับไปเสียเงินซื้อยามากินเพื่อฟอกสีผิวให้ตัวขาวและแพ้ยาจนตัวเองตายก็มี
  • ความรวยความจนก็เช่นกัน มันเกิดจากใจ จากความคิดและจากมุมมองของแต่ละคนอยู่ด้วยเหมือนกัน เช่น เงิน 10 ล้านบาทอยู่ในมือคนสองคน คนหนึ่งอาจคิดว่าตนเองรวยแล้ว แต่อีกคนคิดว่าตนเองยังจนอยู่ ความรวยและความจน ก็ไม่ได้มีอยู่จริง อยู่ที่สภาวะ และแต่ละสังคมนั้น ๆ เป็นปัญหาที่ไม่สิ้นสุด เงิน 10 ล้านบาท ถ้าเป็นของคนในชนบท ก็ถือว่ารวย แต่ถ้าเป็นของนักธุรกิจในเมืองใหญ่ เขาก็อาจจะถือว่าตนเองยังจนอยู่ บางชนเผ่าในต่างประเทศ นับความรวยความจนกันโดยจำนวนปศุสัตว์ก็มี
  • หรือเช่น การจะปลูกบ้านหลังหนึ่ง แต่ที่ดินมีจำกัด ทำให้ดูไม่ได้สัดส่วน ไม่สวยงาม ก็มีทางแก้คือ ซื้อที่ดินเพิ่มกับทำบ้านให้เล็กลง และคนเราถ้าอยากรวยก็มีอยู่ 2 ทางเช่นกัน คือ หาเงินให้ได้มากขึ้น กับมีความต้องการให้น้อยลง กินอยู่อย่างสมถะ อย่างพอเพียง เพราะสันโดษก็เป็นความรวยอย่างยิ่งเหมือนกัน แต่บางคนอยากแก้ปัญหาด้วยการหาเงินให้ได้มากขึ้น ไม่ต้องการลดความอยากลดกิเลสของตนเอง และแก้ปัญหาโดยหาเงินในทางผิด เช่น ไปซื้อหวย เล่นการพนัน หวังจะได้เงินมาก ๆ หรือทำการทุจริตคดโกง ขายยาเสพติด จึงกลับกลายเป็นการเพิ่มปัญหาอย่างที่เป็นข่าวอยู่เนือง ๆ จึงควรมีสติ และมีปัญญา ตรึกตรองในการแก้ปัญหานั้นด้วย

เพราะสิ่งที่ถูกสังเกต จะเป็นอย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับผู้สังเกต ว่าใครเป็นผู้สังเกต สังเกตอยู่ที่จุดใด เวลาไหน สถานการณ์อย่างไร ปัญหาต่างๆก็เช่นเดียวกัน

หลัก 3 ประการ

ภาพที่ 3 ถ่ายโดย Jenna Hamra จาก Pexels

  • มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง มีอยู่ว่า "ขอทานคนหนึ่งอยากได้เงินสัก 50 บาท เพื่อจะนำไปซื้อรองเท้าแตะมาใส่ เขาขาดเงินอยู่อีก 50 บาท จึงเข้าไปขอเงินกับเศรษฐีที่ตนรู้จักมักคุ้นและมีเมตตาต่อเขา แต่เมื่อไปในบ้านเศรษฐีคนนั้น เขาเห็นเศรษฐีกำลังกราบไหว้อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กำลังอธิษฐานขอนั่นขอนี่อีกมากมายก่ายกอง ขอให้รวยยิ่งๆขึ้นไปอีก จากร้อยล้านเป็นพันล้าน ขอทานจึงหลบออกจากบ้านเสีย เศรษฐีหันไปเห็นเข้าจึงสอบถามขอทาน เมื่อรู้เรื่องก็จะให้เงิน 50 บาทกับขอทาน แต่ขอทานไม่ขอรับเงิน 50 บาทนั้น และบอกกับเศรษฐีว่า ท่านยังขาดกว่ากระผมอีกเยอะ เขาเห็นว่าเศรษฐียังขาดแคลนกว่าเขาเสียอีก เขาจึงไม่ขอรับเงินนั้นจะดีกว่า"

เมื่อใดที่เราคิดว่า เรามีปัญหาก็ลองมาคิดใหม่ว่า ปัญหานั้นเป็นปัญหาจริง ๆ หรือปัญหาที่เกิดจากมุมมอง เพราะถ้าเป็นปัญหาจริง ๆ ก็จะได้ไล่เรียงลงมา สาวมาให้ถึงต้นเหตุ แล้วจึงแก้ให้ถูกกับเหตุ จะได้ไม่เป็นการเพิ่มปัญหา หรือเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นปัญหาที่เกิดจากการมอง ต้นเหตุก็อยู่ที่ใจของเราเท่านั้น

มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนยา ใจนั้นเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ

หลักใหญ่ๆในการแก้ปัญหาจึงมีอยู่ 3 ประการ

  • ข้อ 1 หาเหตุของปัญหาให้พบ แล้วให้แก้ที่เหตุนั้นด้วยใจเป็นกลาง ไม่มีอคติ
  • ข้อ 2 ไม่แก้ปัญหา ด้วยการทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้นกว่าเก่า
  • ข้อ 3 ไม่แก้ปัญหา ด้วยการทำให้ปัญหาเกี่ยวเนื่องอื่นๆที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นตามมาอีกหลัก 3 ประการ

ภาพที่ 4 ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadioจาก Pexels

คนโง่แก้ปัญหาไม่ได้ คนฉลาดแก้ปัญหาสำเร็จ คนอัจฉริยะป้องกันปัญหา

ภาพปกเครดิตภาพ ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels

เขียนโดย พระยมอมยิ้ม

ติดตามผลงานอื่น ๆ ของพระยมอมยิ้มได้ที่

Facebook : Ajarn.JarunCorrect

YouTube : พระยมอมยิ้ม เรื่องเล่ากฎแห่งกรรมและกฎหมาย

ขอบคุณทุกๆท่านที่อ่านบทความของพระยมอมยิ้มครับ

อัปเดตข่าวสาร และแหล่งเรียนรู้หลากหลายแบบไม่ตกเทรนด์ บน  App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
พระยมอมยิ้ม
พระยมอมยิ้ม
อ่านบทความอื่นจาก พระยมอมยิ้ม

ผู้คุมเรือนจำ ผู้พบเห็นกฎแห่งกรรม ศึกษาธรรมะและกฎหมาย อยากแบ่งปันประสบการณ์จริงในชีวิตเพื่อเป็นวิทยา

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์