ไลฟ์แฮ็ก

"เกมฝึกภาษา” ที่มีแค่กระดาษกับปากกาก็เล่นได้ ep.1

145
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
"เกมฝึกภาษา” ที่มีแค่กระดาษกับปากกาก็เล่นได้ ep.1

"เกมฝึกภาษา” ที่มีแค่กระดาษกับปากกาก็เล่นได้ ep.1



ถ้าคุณมีลูกหลานในยุคไทยแลนด์ 4.0 อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้เด็ก ๆ มีติดตัวคือทักษะทางภาษาที่แข็งแรงใช่ไหมละคะ แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับผู้ปกครองก็คือ จะต้องซื้อเกมฝึกภาษาราคาแพงมาให้เด็ก ๆ ได้เล่นกัน และอีกสักพักเด็ก ๆ ก็จะเบื่อและซื้อชิ้นใหม่ให้อย่างนั้นซ้ำ ๆ จนเกมเหล่านี้กองเต็มบ้านอย่างน่าเสียดาย รวมไปถึงคุณครูที่ต้องรับมือกับนักเรียนจำนวนมาก ๆ ต่อ 1 ห้องเรียนให้เด็ก ๆ สนใจในการเรียนการสอน จึงต้องเสียเงินทอง เสียเวลาไปกับการสร้างสื่อการเรียนรู้ที่บางทีสื่อนั้นก็ใช้ได้เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น
ทุกท่านคะ จะดีกว่าไหมที่ใช้ความเรียบง่ายและความคลาสสิกยุค 90 ของเราให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด โดยการดึงเกมเหล่านั้นมาปรับเปลี่ยนเป็นเกมฝึกภาษาแสนสนุกที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ใช้อุปกรณ์ที่หาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนอย่างกระดาษและปากกาเท่านั้น! กับ“เกมฝึกภาษา” ที่มีแค่กระดาษกับปากกาก็เล่นได้ ep.1

Advertisement

Advertisement

ภาพจาก ผู้เขียนภาพจาก ผู้เขียน

1. เกมต่อตัวอักษร
เกมนี้เหมาะสำหรับเด็ก ๆ ที่อยู่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาเลยทีเดียว เพราะช่วยฝึกการสะกดคำทั้งคำในภาษาไทยและคำในภาษาอังกฤษ ซึ่งระดับความยากขึ้นอยู่กับอายุและระดับความสามารถของเด็ก ๆ โดยใช้ความท้าทายจากคำศัพท์ที่ยากขึ้น แปลกใหม่ขึ้น
อุปกรณ์ : กระดาษแข็ง ปากกาเมจิกและกรรไกร
วิธีทำ : ตัดกระดาษแข็งให้เป็นสี่เหลี่ยมขนาดเท่า ๆ กัน แล้วเขียนตัวอักษร สระ และวรรณยุกต์ให้ครบ อย่างน้อย 3 ชุด
วิธีเล่น : คุณครูหรือผู้ปกครองบอกคำศัพท์แล้วให้เด็ก ๆ หาบัตรอักษรมาต่อให้ถูกต้อง อาจจะต่อแข่งกันหรือแข่งกับเวลาที่กำหนดก็ได้

ภาพจาก ผู้เขียนภาพจาก ผู้เขียน

2. เกมจับคู่
เกมนี้เหมาะสำหรับเด็ก ๆ ที่อยู่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษา หรือชั้นมัธยมศึกษาแต่จะมีวิธีเล่นแตกต่างกัน โดยเด็ก ๆ ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาจะจำคำศัพท์ได้จากรูปภาพ จึงต้องเป็นเกมจับคู่ระหว่างคำศัพท์กับรูปภาพ แต่เด็กมัธยมสามารถอ่านและสะกดคำได้คล่องแล้ว ฉะนั้นเกมจับคู่จึงควรเป็นเกมจับคู่ระหว่างคำศัพท์ที่มีความหมายเหมือนกันหรือมีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น คำว่าช้าง คู่ คำว่าไอยรา คำว่าปลา คู่ คำว่ามัจฉา เป็นต้น
อุปกรณ์ : กระดาษแข็ง ปากกาเมจิกและกรรไกร
วิธีทำ : ตัดกระดาษแข็งให้เป็นสี่เหลี่ยมขนาดเท่า ๆ กัน แล้วเขียนคำศัพท์และวาดรูปเป็นคู่ ๆ จากนั้นให้คละบัตรคำศัพท์และบัตรรูปภาพ
วิธีเล่น : คุณครูหรือผู้ปกครองวางบัตรคำศัพท์และบัตรรูปภาพบนโต๊ะ แล้วให้นักเรียนจับคู่บัตรที่มีความสอดคล้องกันเข้าด้วยกันในเวลาที่กำหนด

Advertisement

Advertisement

ภาพจาก ผู้เขียนภาพจาก ผู้เขียน

3. เกมคำคล้องจอง
เกมนี้เหมาะสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษา เกมนี้ใช้เล่นคู่กับเนื้อหาเรื่องคำคล้องจอง ซึ่งคำคล้องจองคือคำที่มีสระและตัวสะกดตัวเดียวกัน เช่นคำว่า กากับตา หาวกับดาว เป็นต้น โดยคำคล้องจองคือความรู้พื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับการแต่งคำคม คำขวัญและกลอน เช่น เลิกเหล้า เข้าพรรษานี้ จะเห็นได้ว่า คำว่าเหล้ากับเข้าคือคำคล้องจองกัน รวมทั้งความพิเศษของเกมนี้สามารถเขียนเป็นบัตรให้ต่อหรือให้เขียนโต้ตอบกันในกระดาษหรือพูดโต้ตอบกันก็ได้ แต่ข้อแนะนำคือ หากเป็นเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ที่ยังไม่มีคลังคำมากให้เขียนเป็นบัตรคำจะทำให้เด็ก ๆ มีคำศัพท์ไว้ในคลังคำมากยิ่งขึ้น
อุปกรณ์ : กระดาษแข็ง ปากกาเมจิกและกรรไกร หรือ กระดาษรายงานและปากกา หรือ อาจไม่ต้องใช้อุปกรณ์

วิธีทำ

แบบที่ 1 แบบต่อคำคล้องจอง ต้องตัดกระดาษให้มีขนาดเท่ากัน เขียนคำศัพท์ 2 พยางค์หรือ 2 คำ เช่น เปลี่ยนแปลง แขนขา เป็นต้น

Advertisement

Advertisement

แบบที่ 2 แบบเขียนโต้ตอบกัน โดยทำตารางในกระดาษ แบ่งออกเป็นช่อง ๆ บนสุดของตารางเขียนชื่อผู้เล่นไว้สลับช่องกัน เช่น มีทั้งหมด 4 ช่อง ผู้เล่น 2 คน ให้เขียน น้องแพม น้องพู น้องแพม น้องพู เป็นต้น

แบบที่ 3 แบบพูดโต้ตอบ ต้องเตรียมใจ สติและไหวพริบของผู้เล่นให้พร้อม
วิธีเล่น
ทุกแบบต้องใช้คำศัพท์ 2 พยางค์หรือมี 2 คำ แล้วให้ผู้เล่นต่อคำคล้องจอง เช่น คำว่า หน้าตา ต่อด้วยคำว่า หาลือ ต่อด้วยคำว่า ซื้อปลา เป็นต้น

แบบที่ 1 แบบต่อคำคล้องจอง แบบนี้มีผู้เล่น 1 คนหรือ 2 คนขึ้นไปก็ได้ โดยคุณครูหรือผู้ปกครองแจกบัตรคำให้นักเรียนต่อให้ได้ในเวลาที่กำหนด ใครต่อเสร็จก่อนชนะ หรือมีผู้เล่นหลายคนให้แจกบัตรคำให้ผู้เล่นแต่ละคนเท่า ๆ กันจากนั้นให้ต่อบัตรคำตามลำดับการเล่น หากไม่มีให้จั่วบัตรตรงกลาง ทำอย่างนี้เรื่อย ๆ จนกว่าจะมีผู้ที่ต่อบัตรจนหมดจึงจะชนะ
แบบที่ 2 แบบเขียนโต้ตอบกัน แบบนี้ต้องมีผู้เล่น 2 คนขึ้นไป โดยเขียนโต้ตอบต่อคำคล้องจองไปเรื่อย ๆ ตามเวลาที่กำหนด เช่น ช่องละ 5 วินาที ถ้านับ 5 วินาทีแล้วไม่ต้อง สิทธิ์ตอบจะเป็นของผู้เล่นคนถัดไปทันทีแล้วช่องนั้นก็จะว่าง ส่วนใครโต้ตอบไม่ได้ 3 ครั้งถือว่าแพ้

แบบที่ 3 แบบพูดโต้ตอบ ทำเช่นเดียวกับแบบที่ 2 เปลี่ยนจากการเขียนเป็นการพูด แต่ต้องมีคนกลางคอยนับเวลาและนับครั้งที่ผู้เล่นตอบไม่ได้

เกมฝึกภาษา สามารถเล่นได้ง่าย ๆ ทั้งที่บ้านและโรงเรียนแบบนี้คุณครูและผู้ปกครองลองเอาไปให้เด็ก ๆ เล่นดูนะคะ ผู้เขียนเชื่อว่าเด็ก ๆ คงจะตื่นเต้นและสนุกกับการเรียนรู้ไม่น้อยเลย ซึ่งความสนุกของ “เกมฝึกภาษา” ที่มีแค่กระดาษกับปากกาก็เล่นได้ ไม่ได้จบเพียงแค่นี้นะคะ เพราะบทความใน ep.1 นี้ได้กล่าวถึงเกมที่สร้างง่าย มีกติกาการเล่นง่าย ๆ ใน ep.2 หรือ epต่อไป จะเป็นเกมฝึกภาษาที่ยังคงแนวคิดเดิม คือ มีแค่กระดาษกับปากกาก็เล่นได้ แต่จะมีกติกาที่ซับซ้อนและท้าทายเด็ก ๆ ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง รอติดตามกันได้เร็ว ๆ นี้นะคะ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์