อื่นๆ

เกร็ดความรู้วิศวะสำรวจผ่านอนิเมะ: -เอทตี้ซิกซ์-

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เกร็ดความรู้วิศวะสำรวจผ่านอนิเมะ: -เอทตี้ซิกซ์-

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านและขอต้อนรับเข้าสู่บทความชิ้นแรกในชีวิตของผมนะครับ เหตุที่เกิดบทความนี้มาจากการดูอนิเมะเรื่อง ๆ นึงที่มีชื่อว่า -เอทตี้ซิกซ์- พบว่ามีเนื้อหาบางส่วนที่ดู ๆ ไปแล้วดันเกิดความคิดขึ้นมาในหัวว่า “ เอ้อ! ส่วนนี้ก็มีผ่าน ๆ ตาในวิชาของภาควิศวะสำรวจที่เรียนอยู่นี่นา ” พอคิดได้ดังนั้นเลยนั่งเรียบเรียงว่าจะเอาส่วนที่เจอในอนิเมะมาเล่าด้วยความรู้เกี่ยวกับวิศวะสำรวจที่มีน้อยนิดอย่างไรดี (เอ๊ะ? 'ความรู้วิศวะสำรวจที่มีน้อยนิด' นี่ดูแปลก ๆ นะครับ) พอเรียบเรียงเรียบร้อยจึงเกิดบทความนี้ขึ้นมาครับ ว่าแล้วก็ขอกล่าวถึงอนิเมะเรื่องนี้ก่อนครับรูปโปรโมทนิยายฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์คาโดคาวะ-อมรินทร์เอทตี้ซิกซ์

'-เอทตี้ซิกซ์-' เป็นอนิเมะดัดแปลงมาจากนิยายชื่อ Eighty-Six มีอาจารย์ Asato Asato เป็นผู้เขียนเนื้อเรื่อง  '-เอทตี้ซิกซ์-' ถูกจัดอยู่ในหมวดแอ็คชั่นดราม่า (Action Drama) ผสมไซไฟ (Sci-Fi) ในธีมสงครามจักรกล โดยผู้ถือลิขสิทธิ์นิยายในญี่ปุ่นคือสำนักพิมพ์ ASCII Media Works ส่วนในประเทศไทยมีผู้ถือลิขสิทธ์คือสำนักพิมพ์ Phoenix นอกจากเผยแพร่ในรูปแบบนิยายแล้ว ยังได้รับการดัดแปลงและเผยแพร่ในรูปแบบมังงะและอนิเมะ โดยในฉบับอนิเมะนั้นออกอากาศมาแล้วทั้งหมด 15 ตอน แบ่งเป็นพาร์ทแรก 11 ตอน ตอนพิเศษ 1 ตอน และพาร์ทสองที่กำลังฉายในตอนนี้ (ที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้อยู่ ณ วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2564) 3 ตอน ซึ่งพาร์ทสองมีกำหนดฉายทั้งหมด 12 ตอน รวมแล้วเอทตี้ซิกซ์จะออกอากาศทั้งหมด 24 ตอนครับรูปโปรโมทอนิเมะ -เอทตี้ซิกซ์-

Advertisement

Advertisement

เรื่องย่อ

สาธารณรัฐซันแมกโนเลียถูกจักรกลไร้คนขับ 'ลีเจี้ยน' จากจักรวรรดิเกียเดที่ตั้งอยู่ข้างเคียงเข้าโจมตี สาธารณรัฐจึงพัฒนาอาวุธแบบเดียวกันกับลีเจี้ยน 'จักเกอร์นอต' เพื่อปกป้องดินแดนทั้ง 85 เขตของสาธารณรัฐจากผู้รุกรานไร้คนขับโดยที่ไม่ต้องมีประชาชนสละชีพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มคนนอกเขต 85 เขตของสาธารณรัฐ 'เขต 86' คือผู้ที่เข้าต่อสู้กับลีเจี้ยนในฐานะคนขับจักเกอร์นอตตลอดเวลา

แฮนด์เลอร์ผู้สั่งการจากแนวหลังแห่งกองทัพสาธารณรัฐ-พันตรี 'วลาดิเลน่า มิริเซ่' ผู้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการหน่วยรบที่ 1 'สเปียร์เฮด' แห่งเขตการรบที่ 1 แนวรบตะวันออก และหัวหน้าหน่วยรบที่ 1 สมญานาม'อันเดอร์เทกเกอร์'-ร้อยเอก 'ชินเอ โนวเซน' โศกนาฏกรรมและการจากลานับนิรันดร์บนสมรภูมิที่ทั้งสองคนต้องฝ่าฟันกำลังจะเริ่มต้นขึ้น!

Advertisement

Advertisement

วิศวะสำรวจและแผนที่

คำเตือน: เนื้อหานี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภายในเรื่อง

ในพาร์ทแรกตอนที่ 3 พันตรีมิริเซ่ (จากนี้ขอเรียกว่าเลน่า) และเพื่อนสนิทชื่ออาเน็ตหาแผนที่ในห้องเก็บของของกองทัพเพื่อศึกษาสภาพภูมิประเทศในเขตการรบที่ 1 ไว้สนับสนุนและสั่งการหน่วยสเปียร์เฮด จะสังเกตว่าแผนที่กระดาษที่ทั้งสองคนนี้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับภูมิประเทศรวมถึงระดับความสูงของพื้นดินบริเวณนั้น แต่ก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของแผนที่ที่เลน่านำมาใช้ จะขอเล่าถึงวิศวะสำรวจกับแผนที่แบบคร่าว ๆ กันก่อนครับเริ่มกันที่วิศวะสำรวจครับ วิศวะสำรวจหรือวิศวกรรมสำรวจเป็นศาสตร์เกี่ยวกับการรังวัดลักษณะทางกายภาพของโลก รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial data) และข้อมูลตำแหน่งในบริเวณที่รังวัดมาจัดการให้กลายเป็นสารสนเทศ (Information) เพื่อนำไปประยุกต์ในด้านอื่น ๆ ต่อไป ผู้อ่านบางท่านอาจเกิดความสงสัยว่าข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ว่าเนี่ย มันคืออะไรล่ะ? ข้อมูลเชิงพื้นที่คือข้อมูลที่เกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของข้อมูลต่าง ๆ บนพื้นผิวโลก ข้อมูลนี้แสดงสัญลักษณ์ออกมาได้ 3 ประเภท ได้แก่

Advertisement

Advertisement

  1. จุด (Point) - สัญลักษณ์แสดงข้อมูลที่ระบุถึงตำแหน่งที่ตั้งเช่น บ้าน วัด โบสถ์ มัสยิด โรงเรียน ศูนย์ราชการ เป็นต้น
  2. เส้น (Line) - สัญลักษณ์แสดงข้อมูลที่เป็นลักษณะเส้นเช่น ถนน ทางเดิน ทางรถไฟ ลำธาร เส้นชั้นความสูง (Contour line) เป็นต้น
  3. พื้นที่ปิด (Polygon) - สัญลักษณ์แสดงข้อมูลที่เป็นลักษณะพื้นที่ปิดเช่น พื้นที่ของประเทศไทย พื้นที่ของทะเลสาบ พื้นที่ปกครองของเขตปกครองพิเศษ เป็นต้น

โดยสัญลักษณ์ทั้ง 3 ประเภทนี้จะถูกจัดอยู่ในลักษณะข้อมูลแสดงทิศทาง (Vector data) ซึ่งจะควบคู่กับการระบุพิกัดตำแหน่งในแนวแกน x แกน y และแกน z (เราเรียกว่าระบบพิกัด Cartesian) ข้อมูลลักษณะ Vector data นี้คือข้อมูลที่เราเห็นในแผนที่บ่อยที่สุด

ส่วนแผนที่นั้นเป็นสิ่งที่แสดงข้อมูลต่าง ๆ บนพื้นผิวของโลกในแนวราบโดยแสดงสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยสัญลักษณ์ที่สร้างหรือกำหนดขึ้นโดยข้อมูลที่นำมาแสดงนั้นจะถูกย่อส่วนตามมาตราส่วนของแผนที่ ข้อมูลบนแผนที่นั้นได้มาจากการรวบรวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์ซึ่งจำแนกได้เป็น

  1. ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data) - ข้อมูลที่มีสมบัติเชิงปริมาณและเชิงเรียงลำดับ (Ordinal) เช่น ความหนาแน่นของป่าไม้ต่อพื้นที่ ปริมาณน้ำในบึง เป็นต้น
  2. ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data) -  ข้อมูลที่มีสมบัติสามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้และอยู่ในระดับวัดนามมาตรา (Norminal) ข้อมูลเชิงคุณภาพจะมีเกณฑ์ในการจัดจำแนกกลุ่มขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแผนที่ว่าต้องการนำไปใช้ในเรื่องไหน

โดยตัวแผนที่นั้นสามารถแบ่งตามการใช้งานได้ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. แผนที่แบนราบ - เน้นแสดงตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ทั้งธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น
  2. แผนที่ภูมิประเทศ - เหมือนกับแผนที่แบนราบแต่แสดงรายละเอียดความสูงของบริเวณนั้น ๆ ด้วย (แผนที่ที่เลน่าเจอคือแผนที่ประเภทนี้นั่นเอง)
  3. แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ - ได้จากภาพถ่ายทางอากาศ ไม่สามารถระบุความสูงของพื้นที่ในรูปได้

Note - แผนที่ที่เลน่าใช้ในอนิเมะคือประเภทแผนที่ภูมิประเทศ จะเห็นว่ามีเส้นชั้นความสูงคอยบอกความสูงของพื้นที่นั้น ๆ ด้วยครับ (แม้ว่าภาพประกอบจะไม่มีเลขบอกระดับความสูงประกอบด้วย แต่ในความจริงเส้นนี้ต้องมีเลขความสูงระบุด้วยนะครับ)

จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างวิศวะสำรวจกับแผนที่คือ เมื่อทำการสำรวจรังวัดข้อมูลที่ได้จากลักษณะทางกายภาพของโลก วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่มาได้แล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะต้องแยกประเภทก่อนว่าเป็นเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพก่อนแล้วนำมาย่อตามมาตราส่วนของแผนที่ให้เรียบร้อยถึงจะนำมาใช้ในการออกแบบจัดทำแผนที่ได้นั่นเองครับ แต่พอจะเริ่มจัดทำแผนที่อย่าลืมคำนึงถึงว่า จะจัดทำโดยใช้สิ่งใดนำเสนอ เพราะวิธีการผลิตแผนที่จะส่งผลถึงการออกแบบแผนที่ด้วยครับ

แผนที่แสดงรายละเอียดของถนน ซอย สถานที่สำคัญ และพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลบางเสร่องค์ประกอบของแผนที่

จากหัวข้อก่อนหน้าที่พูดถึงข้อมูลประเภทต่าง ๆ ที่เหล่าวิศวะสำรวจไปสำรวจและรวบรวมข้อมูลมาแล้ว ในหัวข้อนี้จะพูดถึงการจัดวางแผนที่ (Map layout) ว่าพิจารณาที่อะไรบ้างถึงจะออกมาเป็นแผนที่ 1 ชุด โดยองค์ประกอบที่เราต้องพิจารณามีดังนี้ครับ

  • เส้นขอบระวาง (Sheet line) คอยแบ่งพื้นที่สองส่วนออกจากกันคือพื้นที่ในระวางและพื้นที่นอกระวาง จะมีเลขพิกัดทางภูมิศาสตร์ระบุไว้
  • ชื่อชุดแผนที่ (Series name) บอกชื่อชุดแผนที่
  • ชื่อระวาง (Sheet name) บอกชื่อชุดระวางว่าแผนที่นี้ครอบคลุมจุดสำคัญทางภูมิศาสตร์ส่วนไหน
  • หมายเลขประจำระวาง (Sheet number) บอกว่าแผนที่ระวางเท่าไร ไว้ใช้สำหรับอ้างอิงหรือค้นหาเพิ่มเติม
  • หมายเลขประจำชุด (Series number) บอกว่าแผนที่จัดอยู่ในชุดไหน
  • เลขฉบับ (Edition number) บอกว่าจัดทำเป็นครั้งที่เท่าไร
  • มาตราส่วนแผนที่ (Map scale) บอกสัดส่วนในแผนที่เทียบกับโลกความเป็นจริง
  • ศัพทานุกรม (Glossary) ช่วยอธิบายคำสำคัญบนแผนที่ (มักจะเป็นสองภาษา)
  • สารบัญ (Index) บอกข้อมูลให้ผู้ใช้เข้าใจมากขึ้น
  • คำแจกแจงสัญลักษณ์ (Legend) บอกรายละเอียดของสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนแผนที่
  • หมายเลขประจำแผนที่ (Stock number)

แม้ว่ารายละเอียดองค์ประกอบแผนที่ที่ต้องพิจารณานั้นมีเยอะมาก แต่ทุกส่วนถือว่าสำคัญในการนำไปใช้ในด้านอื่น ๆ ต่อไปเพราะการจัดทำแผนที่นั้นเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงค่าคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถกำหนดเกณฑ์ค่าคลาดเคลื่อนที่แผนที่นั้นรับได้เช่น ความยาวของถนนเส้นหนึ่งบนแผนที่เมื่อวัดระยะบนแผนที่แล้วแปลงเป็นค่าของโลกความเป็นจริงตามมาตราส่วนพบว่ามีความคลาดเคลื่อนต่างจากที่เคยวัดในโลกจริง ซึ่งตัวอย่างประมาณนี้สามารถเกิดขึ้นได้ และเกิดเป็นประจำสำหรับวิศวะสำรวจ (ฮา) แผนที่ของตัวเมืองอ่างทอง ที่มีองค์ประกอบของแผนที่เกือบครบทุกข้อ

แม้เตรียมพร้อมก็ไม่อาจเลี่ยงความสูญเสีย

กลับไปในส่วนของอนิเมะในตอนนี้ครับ หลังจากที่เลน่าได้แผนที่ที่ต้องการแล้ว ปฏิบัติการต่อไปของหน่วยรบสเปียร์เฮดก็เริ่มต้นขึ้น

Note - สังเกตว่าหน้าจอของแฮนด์เลอร์จะแสดงผลที่จำเป็นทุกอย่างยกเว้นรายละเอียดภูมิประเทศของแนวรบครับ ลำบากเลน่าต้องไปหาแผนที่มาใช้เพิ่มเอง (ฮา)

ในขณะที่ปฏิบัติการเป็นไปได้อย่างราบรื่น หัวหน้าหน่วยย่อยที่ 4 สมญานาม 'เคิร์ชบลูเท่อ' จะอ้อมเข้าตีลีเจี้ยนจากทางซ้ายของตำแหน่งเจ้าตัวแต่ติดหล่มเพราะเป็นพื้นที่น้ำขังทำให้จักเกอร์นอตของเธอขยับไม่ได้ แล้วหลังจากนั้นก็...

"ฉันยังไม่อยากตาย"

แม้ว่าปฏิบัติการนี้จะสูญเสียเคิร์ชบลูเท่อไป แต่เพราะการมีแผนที่ของเลน่านั้นทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถหาจุดได้เปรียบทางภูมิศาสตร์คอยยิงสนับสนุนเพื่อนร่วมทีมได้ครับ และแผนที่ที่เลน่าใช้จะช่วยสนับสนุนให้หน่วยรบสเปียร์เฮดฝ่าฟันไปจนภารกิจสุดท้ายของพวกเขาครับ

จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความนี้ครับ จริง ๆ แล้วเรื่องแผนที่ยังเขียนแยกย่อยไปได้อีกแต่ถ้าเขียนแล้วผู้เขียนจะหยุดเขียนต่อไม่ได้เพราะเนื้อหามันเยอะมาก ๆ ครับ บางส่วนในบทความนี้คือเลือกมาในส่วนที่เป็นการปูพื้นฐานของเรื่องวิศวะสำรวจกับแผนที่ครับ แน่นอนว่าถ้ามีโอกาสอีกเมื่อไรก็จะมาเขียนซีรี่ย์บทความ 'เกร็ดความรู้วิศวะสำรวจผ่านอนิเมะ' ครับ ส่วนอนิเมะเรื่องเอทตี้ซิกซ์ที่กำลังฉายในตอนนี้ผมดูถึงตอนล่าสุดเรียบร้อยครับ (ตอนที่ 15) กำลังลุ้นว่าในตอนไหนที่ชินเอจะมีโอกาสเจอกับเลน่ากันนะ แต่ก่อนไปถึงจุดนั้นต้องภาวนาว่าหน่วยรบที่ปัจจุบันเลน่าเป็นผู้บัญชาการนั้นจะเหลือรอดอยู่ไหม (ฮา) ขอตัวลาผู้อ่านทุกท่านไปก่อนนะครับ สวัสดีครับ


ขอบคุณแหล่งสืบค้น

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานคร

ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบขอบคุณรูปภาพปกจาก Twitter @anime_eightysix

ขอขอบคุณรูปภาพประกอบ

ภาพที่ 1 จาก เว็บไซต์สำนักพิมพ์คาโดคาวะ-อมรินทร์

ภาพที่ 2 จาก Twitter @anime_eightysix

ภาพที่ 3 จาก เว็บไซต์เทศบาลตำบลบางเสร่

ภาพที่ 4 จาก เว็บไซต์จังหวัดอ่างทอง

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์