อื่นๆ

เกร็ดหมาย : ครอบครองปรปักษ์...วิธีการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินผู้อื่นแบบเนียน ๆ

156
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เกร็ดหมาย : ครอบครองปรปักษ์...วิธีการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินผู้อื่นแบบเนียน ๆ

ในโลกเสรีนิยมอย่างบ้านเรานั้น ทุกคนมีอิสระในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นประเภทอสังหาริมทรัพย์ หรือ สังหาริมทรัพย์ก็ตาม ในบางครั้งบุคคลหนึ่งอาจจะครอบครองที่ดินหรือทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน ด้วยคำที่ว่า "มีเงินต้องซื้อที่ดิน" ทั้งนี้ เพราะที่ดินนั้นราคาจะขึ้นเสมอไม่มีตก ซึ่งต่างจากทรัพย์สินประเภทอื่น

เมื่อบุคคลคนหนึ่งครอบครองที่ดินจำนวนมากเกินไป จนบางครั้งหลงลืมไปว่าได้ซื้อที่ดินไว้ตรงไหนบ้าง หรือเจ้าของที่ดินนั้นอาจจะเสียชีวิตโดยไม่มีทายาทมาสืบทอดรับมรดก ก็ทำให้ที่ดินผืนนั้นแทนที่จะได้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ก็กลับกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ปล่อยให้ชาวคณะท้าวิญญาณมาทำรายการเป็นที่บันเทิงเริงรมย์กัน หรือจะเป็นการซื้อขายที่ดินมีโฉนดโดยไม่จดทะเบียน จนผ่านมาเนิ่นนานกว่า 10 ปี หากเกิดข้อพิพาทกันขึ้น ทรัพย์มีโฉนดนี้จะตกแก่ใคร เพื่อเป็นการตัดปัญหาดังที่ว่ามานี้ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงจำต้องกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวนี้ขึ้นมา จึงเป็นที่มาของ...กฎหมายว่าด้วยการครอบครองปรปักษ์...

Advertisement

Advertisement

Lawก่อนจะเข้าเรื่อง การครอบครองปรปักษ์ อยากกล่าวถึงประเภทของทรัพย์สิน เพื่อให้ทราบความแตกต่างและความหมายของทรัพย์สินแต่ละประเภทกันสักเล็กน้อยนะครับ โดยหลัก ๆ แล้วทรัพย์สินนั้นแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ อสังหาริมทรัพย์ และ สังหาริมทรัพย์

ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า "ที่ดิน หรือทรัพย์อันดินอยู่กับที่ดิน มีลักษณะเป็นการถาวรหรือเป็นอันเดียวกับทรัพย์นั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือ ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น" สามารถสรุปความได้ว่า อสังหาริมทรัพย์ ก็คือ ทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ไม่ได้นั่นเอง เช่น พื้นดินทั้งผืน รวมไปถึงอิฐหินดินทราย ก้อนหินบนผืนดินนั้นด้วย นอกจากนี้ การที่เรามีสิทธิบางอย่างบนที่ดิน ที่เรียกว่าทรัพยสิทธินั้นก็ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน

Advertisement

Advertisement

สำหรับ สังหาริมทรัพย์ กฎหมายได้บอกเอาไว้ว่า คือ "ทรัพย์สินอื่นที่นอกจากสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย" สรุปความได้ว่า สังหาริมทรัพย์ ก็คือ ทรัพย์สินทุกชนิดที่สามารถเคลื่อนที่ได้ รวมทั้งอิฐหินดินทรายบนที่ดินที่ได้กล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็สามารถกลายเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ หากมีเจตนาจะแยกอิฐหินดินทรายนั้นออกจากอสังหาริมทรัพย์

ในเรื่อง อสังหาริมทรัพย์ และ สังหาริมทรัพย์ ยังมีข้อน่าสนใจอีกหลายประเด็น แต่เดี๋ยวจะยาวเกินไป ไว้จะมาเล่าเป็นเรื่องแยกให้ชมต่อไปในโอกาสหน้านะครับ โอกาสนี้มารับชมเรื่อง ครอบครองปรปักษ์ กันเสียก่อน เมื่อทราบถึงประเภทของทรัพย์สินแล้ว ก็จะขอเข้าเรื่องเนื้อหาของเราในวันนี้กันเลยนะครับ

Law สำหรับเรื่องของการครอบครองปรปักษ์นั้น ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้กล่าวไว้ว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

Advertisement

Advertisement

จากหลักในมาตราดังกล่าวที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ สามารถอธิบายเป็นข้อ ๆ ได้ดังต่อไปนี้นะครับ คือ

1. ถ้าพิจารณาข้อความจากมาตรานี้ จะไม่พบคำว่า "ครอบครองปรปักษ์" เนื่องจากคำว่า "ครอบครองปรปักษ์" นี้ ไม่ใช่ถ้อยคำในกฎหมายนะครับ แต่เป็นถ้อยคำที่นักกฎหมายใช้สำหรับจำกัดความหมายใน มาตรา 1382 ให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่ง "การครอบครองปรปักษ์" ถ้าจะให้อธิบายเป็นภาษาวัยรุ่นทันสมัยสักหน่อย ก็คือ การแย่งการครอบครองแบบเนียน ๆ นั่นเอง โดยในการแย่งการครอบครองนี้ สามารถแย่งการครอบครองได้ทั้ง อสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ โดยหากเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ใช้เวลาติดต่อประมาณ 10 ปี กว่าจะได้กรรมสิทธิ์ ต่างจากสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เวลาในการแย่งการครอบครองติดต่อเพียง 5 ปีเท่านั้น

Law2. แบบเนียน ๆ ที่ว่า “โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ” ก็อธิบายได้ว่า

2.1 "โดยสงบ" คือ การครอบครองเงียบ ๆ เช่น เข้าไปทำมาหากินเอาประโยชน์ในที่ดินนั้น จะปลูกบ้าน ปลูกแห้ว เลี้ยงนก ก็ได้ครับ ตามอัธยาศัย หรือจะครอบครองแบบโฉ่งฉาง ตีฆ้องร้องป่าวไปตลอดเวลาที่ครอบครองจนกระทั่งได้กรรมสิทธิ์ก็ได้เช่นกัน เนื่องจากกฎหมายไม่ได้มีข้อห้ามเอาไว้

2.2 "เปิดเผย" คือ การแสดงให้ทุกคนรู้ถึงการครอบครองนั้น แบบที่คุณป้าข้างบ้านรู้ ท่านผู้ใหญ่บ้านรู้ แม้กระทั่งเจ้าของเดิมก็ต้องรู้ด้วย โดยไม่มีข้อยกเว้น

2.3 "ต้องมีเจตนาเป็นเจ้าของ" คือ การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมการเป็นเจ้าของ เช่น มีการหวงกั้นไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาแย่งไป หรือจะขึ้นป้ายบิลบอร์ดประกาศให้ทุกคนเห็นว่า นี่เป็นของเรานะ ก็ได้นะครับ และ

2.4 "ต้องครอบครองติดต่อกัน" คือ การครอบครองอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน จนกว่าจะครบระยะเวลาของประเภทของทรัพย์สินตามที่กฎหมายกำหนด อาทิเช่น ถ้าครอบครองที่ดินมา 8 ปี และเกิดอยากละทางโลกจึงทิ้งการครอบครองไป โดยปล่อยให้คนอื่นมาครอบครองต่อจากตนเอง พอผ่านไป 1 เดือน เกิดเสียดายจะกลับเข้ามาครอบครองที่ดินต่อ ในการนี้จะนับเวลาต่อไปไม่ได้ เนื่องจากถือว่าไม่เป็นการครอบครองที่ติดต่อกัน ต้องเริ่มนับการครอบครองใหม่ตั้งแต่ต้น จนกว่าจะติดต่อกันครบ 10 ปี เป็นต้น

Law3. ข้อควรระวังในการจะเนียนครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่น

3.1. ถึงแม้ว่าการครองครองปรปักษ์นี้ไม่จำเป็นต้องสุจริตก็ตาม แต่ถ้าครอบครองผิดจังหวะ อาจมีโทษทางอาญาได้ นะครับ ในส่วนอสังหาริมทรัพย์ ก็จะเป็นโทษฐานประเภทบุกรุก เป็นต้น และในส่วนของสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นโทษฐานประเภท ลักทรัพย์ เป็นต้น ได้

3.2. ทรัพย์สินที่จะครองครองปรปักษ์ได้ต้องเป็นทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้นนะครับ สำหรับสังหาริมทรัพย์ไม่มีปัญหา แต่อสังหาริมทรัพย์นั้นถ้าเป็นที่ดิน ต้องเป็นที่ดินมีโฉนด หรือ ที่รู้จักกันในนามโฉนดครุฑแดง เท่านั้น ส่วนครุฑสีอื่นจะครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ แต่อาจจะไปเข้าเรื่องสิทธิครอบครองแทนได้

3.3. ทรัพย์สินที่เป็น สาธารณสมบัติแผนที่ดิน, ธรณีสงฆ์, ทรัพย์สินที่มีข้อกำหนดว่าห้ามโอน, ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือ ทรัพย์สินที่พระมหากษัตริย์ในสมัยก่อนมีพระบรมราชโอการมิให้จำหน่ายจ่ายโอน ทรัพย์สินเหล่านี้ถึงแม้จะครอบครองปรปักษ์ไป ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์นะครับ

3.4. การครอบครองปรปักษ์เป็นสิทธิ์อย่างหนึ่ง ถึงแม้ผู้ครอบครองปรปักษ์จะเสียชีวิตไปก็เป็นมรดกตกแก่ทายาทได้ ทายาทมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลสั่งว่าผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์นั้น (ส่วนใหญ่จะใช้กับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียน)

ก็สรุปความได้ว่า กฎหมายเรื่องการครอบครองปรปักษ์นี้ เป็นการตัดปัญหาอย่างหนึ่งในเรื่องของกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ ว่าใครควรมีสิทธิครอบครองดีกว่ากันนะครับ จะว่าไปแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นกฎหมายให้โทษแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม โดยเจ้าของที่ถูกต้อง กลับจำต้องถูกแย่งกรรมสิทธิ์ที่ตนมีไป ดังนั้น หากท่านใดมีที่ดินจำนวนมากหลายแปลง หรือ ท่านใดกำลังให้ผู้อื่นใช้ทรัพย์สินของท่านโดยลืมไปแล้วว่า ผู้ใช้ทรัพย์สินนั้นเคยกล่าวกับท่านเอาไว้เช่นไร วันนี้หลังจากอ่านบทความนี้จบ ก็ลองกลับไปตรวจทรัพย์สินของท่านนะครับ ว่ายังปลอดภัยดีอยู่หรือไม่ ไม่แน่ว่าทรัพย์สินของท่านอาจกำลังถูกแย่งการครอบครองอยู่ ก็เป็นด้ายย...

ขอบคุณภาพประกอบ จาก wallpapersafari : ภาพปก/ ภาพที่ 1/ ภาพที่ 2/ ภาพที่ 3/ ภาพที่ 4 ครับ...ขอบคุณครับ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์