อื่นๆ

เคล็ดลับดี ๆ สอนให้ “พี่รักน้อง” รักตั้งแต่ยังอยู่ในท้องของแม่

212
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เคล็ดลับดี ๆ สอนให้ “พี่รักน้อง” รักตั้งแต่ยังอยู่ในท้องของแม่

ครอบครัวไหนที่วางแพลนว่าจะมีลูกน้อยมากกว่า 1 คน การสอนให้พี่รักน้องเป็นสิ่งสำคัญมากเลยนะคะ ไม่อย่างนั้นแล้ว ลูกคนโตอาจจะรู้สึกว่าโดนแย่งความรักไป ทำให้ไม่รักน้อง อิจฉาน้อง หรืออาจมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวตามมาได้อีก วันนี้จะมาแชร์ประสบการณ์ของการเป็นคุณแม่ลูกสอง ที่ต้องเตรียมรับมือกับคำว่า “พี่น้อง” ทำยังไงให้ “พี่รักน้อง” รักตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่ สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างได้โดยเริ่มต้นที่ครอบครัว จากการอบรมสั่งสอน การดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ที่ถือเป็นต้นแบบของลูกๆ ในทุกๆ ด้าน วิธีที่จะแชร์ในบทความนี้เป็นวิธีที่ได้ใช้จริง และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะมีน้องคนที่สองของบ้านกันค่ะ

สมาชิกในครอบครัวการพูดคุยทำความเข้าใจกับสมาชิกในครอบครัว เพราะครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย รวมไปถึงญาติ ๆ คนอื่น ๆ ที่แวดล้อมตัวลูก ๆ ของเรา ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลในการเลี้ยงดู สั่งสอนทั้งสิ้น การหยอกล้อด้วยความสนุก หรือคำพูดบางประโยคของผู้ใหญ่ที่อาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่กลับกลายเป็นภาพจำฝังใจ สร้างปมในใจของเด็ก เช่น “คอยดูนะ...ถ้าน้องเกิดมา พี่จะกลายเป็นหมาหัวเน่า พี่จะตกกระป๋อง”  “ถ้าหนูดื้อ จะรักน้องมากกว่า” เป็นต้น การสร้างความเข้าใจถึงวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกของคุณพ่อคุณแม่ จึงเป็นเรื่องจำเป็น เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น รักใคร่ดูแล ห่วงใยซึ่งกันและกัน ย่อมมีความสุขและมีพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กที่เติบโตท่ามกลางความขัดแย้งของครอบครัว

Advertisement

Advertisement

111แนะนำให้พี่รู้จักกับน้องตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่ เมื่อคุณแม่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อาจจะช่วงหลังจาก 3 เดือนแรกไปแล้วที่ท้องเริ่มขยายอย่างเห็นได้ชัด คุณแม่อาจจะชวนให้พี่คนโตได้ทำความรู้จักกับน้อง เล่าให้เค้าฟังว่าในท้องของแม่กำลังมีน้องสาวหรือน้องชายของหนูอยู่นะ อาจจะแทรกด้วยการเล่านิทานที่มีเรื่องราวความรักระหว่างพี่กับน้องและพูดถึงข้อดีของการมีน้องเรื่อย ๆ  เอารูปหรือวิดิโอของพี่ตอนเด็ก ๆ ให้ดู และเล่าว่าถ้าน้องคลอด น้องก็จะมีรูปร่าง หน้าตา ประมาณนี้ คอยบอกเค้าเสมอว่าถ้าน้องคลอดออกมาแล้วหนูจะได้มีเพื่อนเล่น หนูเป็นพี่คนโต หนูจะดูแลน้อง ๆ ได้ พยายามอย่าพูดถึงข้อเสียใด ๆ ที่จะทำให้พี่คนโตกลัวการมีน้อง กลัวว่าอาจจะถูกแย่งความรักจากคนรอบข้างไป

สายสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องพี่รักน้องสร้างการมีส่วนร่วม สายสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้อง การมีส่วนร่วมง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถให้พี่คนโตทำได้เลยคือ การชักชวนให้พี่พูดคุยกับน้องผ่านท้องของคุณแม่ การพาพี่ไปโรงพยาบาลช่วงที่คุณแม่ฝากครรภ์เพื่อให้พี่ได้เห็นพัฒนาการของน้อง ได้ยินเสียงหัวใจของน้องผ่านหน้าจอเครื่องอัลตร้าซาวน์ การให้พี่ช่วยตั้งชื่อหรือเลือกชื่อของน้อง หรือแม้กระทั่งการเลือกของเล่นหรือช่วยหยิบจับผ้าอ้อม เลือกเสื้อผ้าให้น้อง  ก็เป็นการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความผูกพันฉันท์พี่น้อง ทำให้พี่รู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือและเป็นตัวอย่างที่ดีของน้องได้เช่นกันค่ะ

Advertisement

Advertisement

ทำความรู้จัก123แสดงความรักของครอบครัวให้เป็นเรื่องปกติ ทั้งการแสดงความรักจากพ่อแม่สู่ลูก และสอนให้ลูกแสดงความรักต่อกัน  การกอด การหอม การสัมผัส ถือเป็นการแสดงความรักที่สร้างพลังอย่างมหาศาลได้ดีเสมอ แต่ต้องเป็นการแสดงออกอย่างจริงใจ ไม่ใช่การถูกบังคับ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของพี่คนโต พูดคุย ทำความเข้าใจเป็นระยะ เพื่อให้พี่มั่นใจว่า เค้ายังเป็นที่รักของทุกคนในบ้านอยู่เสมอ การมีน้องไม่ได้ทำให้ความรักที่พี่เคยได้รับลดลง เมื่อพี่รู้สึกเป็นที่รัก เค้าก็จะสามารถแสดงความรักต่อน้อง และยอมรับน้องให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวได้อย่างมีความสุขค่ะ

แสดงความรักของครอบครัวให้เป็นเรื่องปกติอย่างไรก็ตาม คนที่มีผลต่อเรื่องนี้มากที่สุดก็คือ “คุณพ่อ คุณแม่” นั่นเอง การปลูกฝังและส่งเสริมความรักระหว่างพี่กับน้อง ความรักภายในครอบครัวด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะช่วยให้พี่รักน้อง ป้องกันและแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพี่น้องในอนาคตได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรคาดหวังมากเกินไปนะคะ เพราะเด็กวัยนี้ยังรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวไม่ดีพอ ให้จำไว้เสมอว่า เด็กก็คือเด็ก เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยบอก คอยสอน ให้กำลังใจ อย่าเบื่อที่ต้องทำเรื่องเดิม ๆ พูดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เพราะเด็กบางคนเข้าใจง่าย แต่เด็กบางคนก็ต้องใช้เวลา ต้องสอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปค่ะ

Advertisement

Advertisement

เรื่องและภาพ โดยผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์