อื่นๆ
เจาะลึกรีวิว RP11! รถสูตรที่ออกแบบและสร้างขึ้นโดยนิสิตจุฬาฯ

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา แฟนๆกีฬามอเตอร์สปอร์ตชาวไทยต่างร่วมยิ่งดีกับอเล็กซ์ อัลบอน นักแข่งดาวรุ่งสัญชาติไทยที่ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในรายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบที่ถือได้ว่าเป็นที่สุดของที่สุดในโลกใบนี้ “Formula 1” ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากของชาวไทย เพราะนี่คือการแข่งขันที่รวมที่สุดของที่สุดในวงการไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทีม นักแข่ง รวมไปถึงเทคโนโลยียานยนต์ที่ล้ำสมัย
ในการแข่งขัน Formula 1 นั้น นักแข่งหัวกะทิทั้ง 20 คนต้องควบอาชาปีศาจความเร็วสูงเคี่ยวเข็นกันในสังเวียนความเร็วรอบโลก เพื่อชิงชัยความเป็นหนึ่งในแต่ละฤดูกาล โดยปัจจัยหลักที่จะได้มาซึ่งชัยชนะนอกจากนักแข่งที่ดีแล้ว นั่นก็คือรถแข่งที่ถูกสร้างมาอย่างพิถีพิถัน โดยวิศวกรระดับแนวหน้าของวงการ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยียานยนต์ระดับสูงนั้น ดูอาจจะเป็นของไกลตัวสำหรับคนไทย และดูจะเป็นไปได้ยากมากที่เด็กไทยจะสามารถก้าวไปสู่เวทีระดับโลกนั้นได้ แต่ไม่ใช่ว่าความพยายามนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย นักแข่ง Formula 1 ทุกคนยังต้องเริ่มต้นจากการขับคาร์ท และไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ เฉกเช่นเดียวกับทางวิศวกร ที่มีเวทีระดับอุดมศึกษาที่ไว้ให้ได้เริ่มต้นก่อนเช่นกัน โดยเป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นทั่วโลก ในชื่อการแข่งขัน “Formula Student”
Advertisement
Advertisement
สำหรับประเทศไทย จะใช้ชื่อการแข่งขันอย่างเป็นทางการว่า TSAE Auto Challenge เป็นการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบประเภทล้อเปิด คล้ายกับรถแข่ง Formula 1 แต่แค่เล็กกว่า เบากว่า และมีการจัดการโดยนักศึกษาทั้งทีม ตั้งแต่การออกแบบ การสร้าง รวมไปถึงการบริหารจัดการทีมทั้งหมด โดยใช้กฎ กติกา ข้อบังคับเดียวกัน
วันนี้ เราได้มีโอกาสพาไปดูหนึ่งในรถแข่งของรายการนี้ที่คว้าตำแหน่งที่ 6 ของรายการมาเมื่อปีที่ผ่านมา รถแข่งที่สร้างขึ้นโดยสมาชิกทีม Rapidamente จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
RP11 คือชื่อที่สมาชิกใช้เรียกรถแข่งคันนี้ มันมีหัวใจเป็นเครื่องยนต์สองสูบ parallel-twin ขนาด 650cc ที่ยกมาจาก Kawasaki Ninja 650 ซึ่งแน่นอนว่าตามมาด้วยเกียร์ 6 สปีดที่ถูกดัดแปลงให้ควบคุมด้วย paddle shift ที่พวงมาลัย
สำหรับแชสซีของรถคันนี้จะเป็นโครงเหล็กถักแบบ space frame ซึ่งมีขนาดเล็ก แข็งแรง และน้ำหนักเบาสุดๆ พ่วงมากับระบบช่วงล่างแบบปีกนกคู่ที่มาพร้อมกับล้อขนาด 10 นิ้วสั่งทำพิเศษจาก Lenso รัดมากับยางแข่งหน้าเรียบจาก Hoosier ระบบกันสะเทือนแบบ push rod ที่มากับโช้คคุณภาพสูง Ohlins TTX ทำให้รถคันนี้สามารถเกาะโค้งได้อย่างหนึบหนับเกินตัว
Advertisement
Advertisement
ในส่วนของ Body และ Aerodynamics devices ทำมาจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งมีความแข็งแรง น้ำหนักเบา และสามารถสร้างแรงกดให้กับตัวรถได้ในความเร็วสูง
ผลงานอันน่าทึ่งคันนี้ ถูกออกแบบและกำกับการสร้างขึ้นโดยนิสิตทั้งหมด โดยเปรียบเสมือนการสร้างรถคันนี้เป็นการนำความรู้ที่ได้เรียนมาลงมือทำจริง เป็นการพัฒนาความรู้ไปพร้อมกับความสามารถ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวเล็กๆที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าเราจะได้เห็นชาวไทยในวงการมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกมากขึ้นในอนาคต
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก Rapidamente
ขอขอบคุณรูปภาพจาก
รูปที่ 1 Alxander Albon
รุปภาพปกและรูปที่ 4-5 Rapidamente
ความคิดเห็น
