ท่องเที่ยว
เที่ยวโคราช อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ปราสาทหินที่ใหญ่สุดในประเทศไทย (นครราชสีมา)
อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวโคราช (นครราชสีมา) "อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย" เป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ ย้อนร่องรอยในอดีตผ่านการชื่นชมความสวยงามของตัวปราสาทหิน ให้เราได้หลงใหลไปในประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งได้ถ่ายรูปสวย ๆ ตามเรามาได้เลยยย~~
"ปราสาทหินพิมาย" ตั้งอยู่ที่ถนนวนปรางค์ ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นเทวสถานโบราณทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีงานแกะสลักและประติมากรรมหินอันวิจิตร สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 และต่อเติมขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ปราสาทพิมายพุทธสถานนิกายมหายาน โดยดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมายในราชกิจจานุเบกษา เพื่อดำเนินการบูรณะปราสาทหินพิมายครั้งใหญ่ ที่ห่างจากตัวเมืองโคราชประมาณ 60 กม.
Advertisement
Advertisement
โบราณสถานที่สำคัญในเมืองพิมาย
เมื่อเดินเข้ามาในบริเวรปราสาทพิมายเพื่อน ๆ จะ "สะพานนาคราช" ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้ สร้างด้วยหินทรายมีผังเป็นรูปกากบาท กว้าง 4 เมตร ยาว 31.7 เมตร ราวสะพานทำเป็นลำตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นลำตัวนาคราชชูคอแผ่ผังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร ที่เป็นลักษณะศิลปะเขมรแบบนครวัด ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 สะพานนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อว่าเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์
"ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว" ซุ้มประตูหรือโคปุระ ที่มีลักษณะเป็นรูปกากบาท ตั้งอยู่ที่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน ก่อดินหินทราย สูงประมาณ 8 เมตร มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเขามาจะเป็นลานชั้นนอกของปราสาทจะพบ "ชาลาทางเดิน" ปรากฏแนวทางเดินทอดไปยังซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศใต้ แนวทางเดินก่อด้วยหินทราย ได้มีการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าทางเดินมีลักษณะเป็นระบียงโปร่ง รองรับด้วยเสาไม่ซึ่งผุพังหมดแล้ว
Advertisement
Advertisement
"บรรณาลัย" ตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอกระหว่างซุ้มประตูกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคด มีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กั้นเป็นห้องยาวตลอดแนว บริเวณพื้นห้องจะมีหลุมเสารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ระหว่างขุดพบกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าคงเคยมีหลังเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เชื่อกันว่าเป็นบรรณาลัย ซึ่งหมายถึงสถานที่เก็ยคัมภีร์ต่าง ๆ ทางศาสนา และจะพบ "สระน้ำ" ตั้งอยู่ที่มุมทั้ง 4 ทิศ ของลานกำแพงปราสาทชั้นนอก โดยสระเหล่านนี้ไว้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค ในราวสมัยอยุธยาตอนปลาย
"ซุ้มประตูและระเบียงคด" เป็นระเบียงทางเดินหลังคาซุ้มโค้ เป็นแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบปราสาทประธาน มีซุ้มประตูอยู่กึ่งกลางทั้ง 4 ด้าน ทางเข้าปราสาทประธานปรากฏหลักฐานสำคัญที่ซุ้มประตูคือ จารึก ที่มีอักษรขอมโบราณ ระบุชื่อ กมรเตงชคตวิมาย และกล่าวถึงการสร้างรูปเคารพสำคัญชื่อ กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย ตรงกับ พ.ศ. 1651 ตรงกับชื่อขุนนางชั้นสูงและพระนามของพระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าธรณีนทรมันที่ 1
Advertisement
Advertisement
ภายในลานชั้นใน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารศาสนสถานหลายหลัง อยู่ตรงกลางคือ "ปราสาทประธาน" เป็นศูนย์กลางและสำคัญที่สุด สร้างด้วยหินทรายสีขาว มีการสลักลวดลายประดับตามส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง ด้านนอกสลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาคติมหายาน
"ปรางค์หินแดง" สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 17 เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ มีทับหลังหินทรายสลักภาพเล่าเรื่องมหาภารตะ ตอนกรรณะล่าหมูป่า ส่วนกรอบประตูด้านอื่นคงเหลือร่องรอยเฉพาะเสาประดับกรอบประตูประดับอยู่ "ปรางค์พรหมทัต" เป็นประติมากรรมหินทรายรูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งขัดสมาธิ สันนิษฐานว่าเป็นรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านมักเรียกว่า ท้าวพรหมทัต นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานสำคัญอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น พลับพลา หอพราหมณ์และอื่น ๆ
และรอบ ๆ พื้นที่ปราสาทยังมีการปลูกต้นไม้ล้อมรอบทำให้บรรยากาศรอบ ๆ ดี ลมพัดเย็นสบาย เพื่อน ๆ ที่เดินชื่นชมความสวยงามของปราสาทหินพิมายจนเมื่อยและอยากหาที่นั่งพัก บริเวณรอบ ๆ สามารถนั่งพักได้ค่ะ ใครไปช่วงกลางค่อนข้างร้อน เพื่อน ๆ อย่าลืมพกร่มไปด้วยน้าาา
ข้อปฏิบัติการเข้าชมโบราณสถาน
- ห้ามเคลื่อนย้ายสิ่งต่าง ๆ ภายในโบราณสถาน
- ห้ามขีด เขียน หรือทำให้ปรากฎซึ่งข้อความ ภาพหรือรูปรอยใด ๆ ลงโบราณสถาน
- ห้ามนำอาวุธ วัตถุระเบิด วัตถุเชื้อเพลิง หรือสารเคมี เข้ามา
- ห้ามปีนป่ายโบราณสถาน ที่ก่อให้เกิดความชำรุดเสียหาย หรือเกิดความสกปรก
- ห้ามให้อาหารสัตว์ในเขตโบราณสถาน
- ห้ามทิ้งขยะ ลงในภายโบราณสถาน
- ห้านนำอาหารเข้าไปรับประทานภายใน
ใครที่มีโอกาสมาเที่ยวนครราชสีมา (โคราช) ก็อย่าลืมแวะมาเที่ยวที่ "อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย" เพราะที่นี่นอกจากจะเป็นสถานที่ที่ชื่นชอบและประทับใจ อีกทั้งยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกหนึ่งแห่งที่สมบูรณ์และยังเป็นปราสาทหินที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ทิ้งร่องรอยในอดีตให้ได้ชมและเรียนรู้ถึงเรื่องราวในอดีต ผ่านทั้งตัวปราสาท เรื่องเล่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และตอนนี้ปราสาทหินพิมายก็ได้อยู่ในความดูแลของกรมศิลปะกร เพื่อน ๆ คนไหนที่ชอบท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ก็สามารถมาแวะชมความสวยงาม บรรยากาศ ชมศิลปะในอดีตของที่นี่และหวังว่าเพื่อน ๆ จะชื่นชอบ ประทับใจปราสาทหินพิมายแล้วเจอกันใหม่บทความหน้าน้าาาา~~
ข้อมูลสถานที่ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย นครราชสีมา
- ที่อยู่สถานที่: ถนนวนปรางค์ ตำบล ในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
- เปิดบริการ : เปิด - ปิด 07.00 น. - 18.00 น.
- พิกัด : Google Maps
- ค่าเข้า : คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท, ชาวต่างชาติ 100 บาท
***หมายเหตุ***ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดอ่านรายละเอียดก่อนไป
#ที่เที่ยวโคราช#เที่ยวโคราช#โคราชเที่ยวไหนดี#เที่ยวไหนดีโคราช#ปราสาทหินพิมาย#อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย#ปราสาทหินพิมายโคราช#ที่เที่ยวพิมาย โคราช
อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !
นักเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่าย ภาพหนึ่งภาพตีความได้ล้านความหมาย
ความคิดเห็น