อื่นๆ

เมืองในมิติประวัติศาสตร์ : จาการ์ตา

876
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เมืองในมิติประวัติศาสตร์ : จาการ์ตา

เมืองในมิติประวัติศาสตร์ : จาการ์ตา

*ภาพปก : https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Jakarta

จาการ์ตา (Jakarta) เป็นเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของชายฝั่งของเกาะชวา ณ ปากแม่น้ำซิลิวุง (Ciliwung) จาการ์ตาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของประเทศอินโดนีเซีย จาการ์ตาถือเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมนุษย์ตั้งถิ่นฐาน และอยู่อาศัยต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การตั้งถิ่นฐาน

ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกปรากฏที่ปากแม่น้ำซิลิวุง ราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 พื้นที่ที่เป็นจาการ์ตาในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรซุนดา (Sunda Kingdom, ค.ศ. 669 - 1579) บริเวณปากแม่น้ำซิลิวุงเป็นที่ตั้งของท่าเรือโบราณ รู้จักในนาม ซุนดา กาลาปา (Sunda Kalapa) หรือที่คนไทยรู้จักในนาม “กะหลาป๋า” จากบทละครเรื่อง “อิเหนา” แต่ในช่วงแรกศูนย์กลางของความเจริญอยู่ถัดไปทางตะวันตกของจาการ์ตาในปัจจุบัน ในบันทึกเกี่ยวกับชาวต่างชาติของจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960 - 1279) ที่จดบันทึกในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ได้กล่าวถึงดินแดนแห่งนี้ว่า “มีบ้านเรือนตั้งเรียงรายตลอดแนวชายฝั่ง หลังคาบ้านคลุมด้วยใบปาล์ม กำแพงทำขึ้นจากไม้กระดานผูกติดกันด้วยเชือกหวาย มีชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามาบ้างประปราย”

Advertisement

Advertisement

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 - 16 ศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายมาอยู่บริเวณท่าเรือซุนดา กาลาปา (พื้นที่เดียวกันกับจาการ์ตาในปัจจุบัน) ซึ่งทำหน้าที่เป็นท่าเรือการค้าหลักของเมืองโบโกร์ (Bogor) เมืองหลวงของอาณาจักรซุนดา ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของจาการ์ตาราว 60 กิโลเมตร

การมาถึงของชาวตะวันตก

ชาวโปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกเดินทางมาถึงจาการ์ตาในปี ค.ศ. 1513 ซึ่งได้มองเห็นโอกาสทางการค้าจากท่าเรือที่คับคั่งแห่งนี้ ในปี ค.ศ. 1522 ชาวโปรตุเกสได้ทำสนธิสัญญากับอาณาจักรซุนดา (Luso - Sundanese padrão) โดยสินค้าที่โปรตุเกสหมายตาไว้ก็คือ พริกไทย และในสนธิสัญญายังมีการตกลงให้พวกโปรตุเกสสร้างป้อมปราการบริเวณท่าเรือแห่งนี้ แต่ทว่าปัญหาภายในของพวกโปรตุเกสที่เมืองกัว, อินเดีย ทำให้การก่อสร้างไม่คืบหน้า ส่วนพวกโปรตุเกสก็ไม่ได้กลับเข้ามาที่ชวาอีกจนกระทั่งพฤศจิกายน ค.ศ. 1526

Advertisement

Advertisement

สนธิสัญญากับอาณาจักรซุนดา (Luso - Sundanese padrão) มีลักษณะเป็นเสาหินแกะสลัก หรือศิลาจารึกภาพที่ 1 : สนธิสัญญากับอาณาจักรซุนดา (Luso - Sundanese padrão) มีลักษณะเป็นเสาหินแกะสลัก หรือศิลาจารึก ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินโดนีเซีย

ข้อตกลงนี้ ทำให้โปรตุเกสได้สิทธิ์ในท่าเรือซุนดา กาลาปา โดยแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือทางทหารที่โปรตุเกสจะคุ้มครองท่าเรือดังกล่าวให้อาณาจักรซุนดา แต่ข้อตกลงนี้ทำให้เพื่อนบ้านข้างเคียงมองเห็นเป็นภัยคุกคาม

รัฐสุลต่านแห่งเดมัค (Demak Sultanate) ไม่ต้องการให้พวกโปรตุเกสมาตั้งตัวได้ในชวา จึงส่งทหารเข้าโจมตีพวกโปรตุเกสที่ซุนดา กาลาปาในปี ค.ศ. 1527 และสามารถเข้ายึดครองท่าเรือได้สำเร็จเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1527 และเปลี่ยนชื่อสถานที่แห่งนี้ใหม่ว่า จายาเกอตา (Jayakerta) แปลว่า "ป้อมปราการอันรุ่งโรจน์" (“Glorious Fortress”) ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์เมืองจาการ์ตาอย่างเป็นทางการ

Advertisement

Advertisement

Dutch East India Company & Dutch East Indies

ต่อมาพวกดัตช์ได้เข้ามามีบทบาททางการค้าเครื่องเทศในแถบหมู่เกาะอินโดนีเซียในปัจจุบัน ภายใต้บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East India Company : VOC) พวกดัตช์เข้ามาตั้งโรงงานที่จาการ์ตาในปี ค.ศ. 1610 แต่ด้วยความที่ดัตช์ไม่ไว้ใจผู้ปกครองชาวพื้นเมือง แยน ปีเตอร์ซูน คูน (Jan Pieterszoon Coen) เจ้าหน้าที่ทหารของดัตช์ได้เปลี่ยนโกดังสินค้าเป็นป้อมทหาร และเข้ายึดครองจาการ์ตา ในปี ค.ศ. 1619 ผลจากการยึดครองของดัตช์ทำให้เมืองถูกทำลายลง พวกดัตช์จึงสร้างเมืองขึ้นมาใหม่และตั้งชื่อใหม่ว่า ปัตตาเวีย (Batavia) เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1621 เมื่อพวกดัตข์สามารถเข้าปกครองหมู่เกาะอินโดนีเซียได้ส่วนใหญ่แล้ว ปัตตาเวียถูกยกฐานะให้เป็นเมืองสำนักงานใหญ่ของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ภายใต้ข้าหลวงชาวดัตช์ที่ถูกส่งตรงมาจากอัมสเตอร์ดัมเพื่อปกป้องพ่อค้า และผลประโยชน์ของดัตช์ในแถบนี้

อย่างไรก็ตามชาวพื้นเมืองได้พยายามบุกโจมตีปัตตาเวียเพื่อยึดเมืองกลับคืนมาอีกครั้ง โดยสุลต่านอากุงแห่งมะทะรัม (Sultan Agung of Mataram : ปกครองระหว่างปี ค.ศ. 1613 - 1645) ส่งกำลังทหารมาปิดล้อมเมืองนับหมื่นนาย เกิดการปิดล้อมเมืองปัตตาเวีย 2 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1628 และ 1629 แต่ว่าพวกดัตช์ พร้อมด้วยทหารรับจ้างชาวพื้นเมืองสามารถป้องกันและขับไล่ทหารมะทะรัมออกไปได้ทั้ง 2 ครั้ง

นับตั้งแต่สถาปนาเมืองปัตตาเวีย พวกดัตช์เข้าปกครองเมืองแห่งนี้ยาวนานถึง 178 ปี จนกระทั่งบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ล้มละลาย และสัมปทานจากรัฐบาลที่อัมสเตอร์ดัมหมดอายุลงในปี ค.ศ. 1799 ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เข้ามาบริหารอาณานิคมแห่งนี้เอง เรียกว่า หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East Indies : ค.ศ. 1800 - 1949)

สงครามนโปเลียนในยุโรป (Napoleonic Wars) ส่งผลให้ปัตตาเวียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกครั้งในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างปี ค.ศ. 1811 - 1814 ก่อนที่ดัตช์จะกลับเข้ามาปกครองอีกครั้งจากสถานการณ์ในยุโรปที่เปลี่ยนไป

ในยุคหมู่เกาะตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ปัตตาเวียได้รับการยกฐานะจากเมืองสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ให้เป็นเมืองหลวงของอาณานิคม เมืองค่อย ๆ ขยายตัวไปทางทิศใต้ สถานที่ราชการ และศูนย์กลางการบริหารของรัฐบาลอาณานิคมถูกย้ายไปในบริเวณเวลเทฟเรเดน (Weltevreden) ซึ่งกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยอันเป็นที่นิยม เต็มไปด้วยกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ และเขตการค้าของชาวยุโรปชนชั้นสูง (ปัจจุบันคือย่าน ซาวาห์ บีซาร์ (Sawah Besar)

แผนที่เมืองปัตตาเวียในปี ค.ศ. 1897

ภาพที่ 2 : แผนที่เมืองปัตตาเวียในปี ค.ศ. 1897

สงครามโลกครั้งที่ 2 และขบวนการชาตินิยม

สงครามโลกครั้งที่ 2 เดินทางมาถึงปัตตาเวียในช่วงต้นปี ค.ศ. 1942 ปัตตาเวียตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1942 ดัตช์ยอมแพ้อย่างเป็นทางการแก่กองกำลังทหารญี่ปุ่นในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1942 การปกครองอาณานิคมตกอยู่ในอำนาจของจักรวรรดิญี่ปุ่น

การยึดครองของญี่ปุ่นทำให้เมืองถดถอยลง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในยุคอาณานิคมของดัตช์ รวมไปถึงโรงแรมต่าง ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นค่ายทหาร, อาคารหลายแห่งถูกรื้อถอนลง อนุสาวรีย์ที่สร้างจากเหล็กจากช่วงอาณานิคมของดัตช์ถูกทหารญี่ปุ่นนำออกไปเพื่อนำเหล็กไปใช้ในการสงคราม อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นก็ให้ชาวอินโดนีเซียลิ้มรสการปกครองตนเองเป็นครั้งแรก แม้จะอยู่ภายใต้การดูแลจากญี่ปุ่นอีกที แต่ก็เป็นสิ่งที่พวกดัตช์ไม่เคยมอบให้ชาวพื้นเมืองเลย

เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นล่มสลายจากการแพ้สงคราม ขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เมืองได้รับการตั้งชื่อกลับคืนเป็น จาการ์ตา

ซูการ์โน (Sukarno) จัดสุนทรพจน์ประกาศเอกราช และต่อต้านลัทธิอาณานิคม และลัทธิจักรวรรดินิยม ที่จัตุรัสเมอร์เดกา (Merdeka Square) กลางเมืองจาการ์ตา เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1945 เป็นการส่งสารออกไปว่า ชาวอินโดนีเซียจะไม่ยอมรับการกลับเข้ามาปกครองของดัตช์อีก อย่างไรก็ดัตช์ยังต้องทรัพยากรจากอินโดนีเซียพวกช่วยฟื้นฟูสถานะทางเศรษฐกิจที่เสียหายจากสงคราม กองกำลังผสมดัตช์ - อังกฤษเดินทางเข้าสู่จาการ์ตาในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1945 เพื่อปลดอาวุธกองกำลังทหารญี่ปุ่น และวางแผนที่จะยึดอินโดนีเซียกลับมาเป็นอยู่ภายใต้การปกครองของดัตช์อีกครั้ง สงครามประกาศเอกราชอินโดนีเซียดำเนินไปอีกว่า 4 ปี จนกระทั่งอินโดนีเซียจะได้รับเอกราชเต็มตัวเมื่อ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1949

แม้ว่าชาวอินโดนีเซียจะประกาศใช้ชื่อเมืองว่า จาการ์ตา ตั้งแต่ประกาศเอกราชแล้ว แต่นานาชาติยังคงเรียกขานชื่อเมืองว่า ปัตตาเวีย ตามคำเรียกของดัตช์ที่ยาวนานมากว่า 3 ศตวรรษ จนกระทั่งอินโดนีเซียได้รับเอกราชเต็มตัวในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1949 ชื่อ จาการ์ตา จึงได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ประธานาธิบดีซูการ์โนประกาศเอกราชในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945ภาพที่ 3 : ประธานาธิบดีซูการ์โนประกาศเอกราชในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945

จาการ์ตาหลังได้รับเอกราช

หลังอินโดนีเซียได้รับเอกราช ในปี ค.ศ. 1950 จาการ์ตาประกาศขยายพื้นที่เมืองออกไปจาก 182 ตารางกิโลเมตร เป็น 530 ตารางกิโลเมตร แต่ตัวเมืองเองยังคงมีหน้าตาคล้าย ๆ เดิมจากสมัยอาณานิคม และยังมีประชากรชาวต่างชาติอาศัยอยู่ถึง 48,280 คน (ไม่นับชาวจีน) ซึ่งในจำนวนนี้ 90.2% เป็นชาวดัตช์ อย่างไรก็ตามแม้ตัวเมืองจะดูพัฒนาไปอย่างช้า ๆ ในทศวรรษที่ 1950 แต่การวางระบบสาธารณูปโภคในช่วงทศวรรษนี้จะเป็นการเตรียมพร้อมรองรับกับการขยายตัวของเมืองที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการที่รัฐบาลยึดทรัพย์สินของชาวดัตช์ และขับไล่ชาวดัตช์ออกไป ชาวอินโดนีเซียจากชนบทก็ไหลบ่าเข้ามาอาศัยอยู่ในจาการ์ตาเป็นจำนวนมาก เมื่อสิ้นสุดทศวรรษที่ 1950 เหลือชาวดัตช์อาศัยอยู่ในจาการ์ตาเพียงไม่กี่ร้อยคน ประกอบกับอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้นสูงภายหลังสงคราม ทำให้ในทศวรรษ 1960 แทบจะไม่เห็นชาวต่างชาติบนท้องถนนในจาการ์ตาเลย

ภายใต้ “นโยบายประชาธิปไตยแบบชี้นำ” (Guided Democracy) ในช่วงปี ค.ศ. 1957 - 1966 ประธานาธิบดีซูการ์โนพยายามขับเคลื่อนจาการ์ตาให้เป็นเมืองหลวงที่ทันสมัย ไม่เพียงแต่จะเป็นความภาคภูมิใจของชาวอินโดนีเซีย แต่จะเป็นสัญลักษณ์ของชาติใหม่ที่ทรงพลัง ซูการ์โนเริ่มตกแต่งจาการ์ตาด้วยอนุสาวรีย์ที่ดึงดูดสายตา และน่าจดจำ จาการ์ตารับหน้าที่เป็นเมืองเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในปี ค.ศ. 1962 กระตุ้นเมืองให้เกิดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งชาวเมืองจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในระยะยาว แต่ขณะเดียวกันการก่อสร้างจำนวนมากทำให้ชาวเมืองถึงกับขาดแคลนซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้างสำหรับที่จะใช้ในครัวเรือน

ภาพอนุสาวรีย์แห่งชาติ (อินโดนีเซีย) ระหว่างการก่อสร้างภาพที่ 4 : ภาพอนุสาวรีย์แห่งชาติ (อินโดนีเซีย) ระหว่างการก่อสร้าง

ภาพอนุสาวรีย์แห่งชาติ (อินโดนีเซีย) เมื่อปี ค.ศ. 2010ภาพที่ 5 : ภาพอนุสาวรีย์แห่งชาติ (อินโดนีเซีย) เมื่อปี ค.ศ. 2010

Boom & Bust

ในปี ค.ศ. 1966 อาลี ซาดิกิน (Ali Sadikin) ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจาการ์ตา แทนที่ซาดีกินจะสนใจโครงการอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ตามอย่างของซูการ์โน ซาดิกินมุ่งเน้นไปยังนโยบายในการจัดหาความต้องการพื้นฐานให้กับชาวเมือง เข่น ซ่อมถนน สะพาน จัดให้มีบริการขนส่งสาธารณะภายในเมือง ปรับปรุงสุขาภิบาล บริการทางการแพทย์ และเปิดโอกาสให้การศึกษาแก่ประชาชนที่ยากจน

ในทศวรรษที่ 1970 หลาย ๆ อย่างก็ลงตัวสำหรับจาการ์ตา โครงการก่อสร้างหลายอย่างสมัยซูการ์โนในทศวรรษที่แล้ว เริ่มทำเสร็จออกมาเป็นรูปธรรม การปรับปรุงระบบต่าง ๆ ของเมืองโดยซาดิกินก็ทำให้จาการ์ตาพร้อมที่จะขยายตัว เมื่อการ “บูม” ทางเศรษฐกิจมาถึงในกลางทศวรรษที่ 1970 ต่อเนื่อง 1980 จาการ์ตาก็สามารถรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ทศวรรษที่ 1980 มีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาอย่างมหาศาล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวเมืองแสวงหาสถาปนิกจากทั่วโลกเข้ามาออกแบบตึกระฟ้า ผลคือในย่านกลางเมืองของจาการ์ตาเต็มไปด้วยตึกระฟ้าในรูปแบบที่ไม่ต่างจากชาติตะวันตก และก็แลกมาด้วยราคาด้านสิ่งแวดล้อม และมลพิษที่เกิดขึ้น

ปี 1997 วิกฤตการณ์การเงินในเอเชียมาถึงจาการ์ตา โครงการก่อสร้างจำนวนมากถูกทอดทิ้ง ตัวเมืองกลายเป็นศูนย์กลางความรุนแรง การประท้วง และความเคลื่อนไหวทางการเมือง อันเป็นผลจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง ความอัดอั้นของประชาชนระเบิดออกมาภายหลังจากการสังหารนักเรียน 4 คน ที่มหาวิทยาลัยตรีศักติ (Trisakti University) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1998 เกิดการจลาจลไปทั่วเมือง และลุกลามไปทั่วประเทศนานหลายวัน ประมาณการกันว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การจลาจลในเดือนพฤษภาคม 1998 นี้กว่า 1,200 คน

ภาพจาการ์ตาในปี ค.ศ. 1995ภาพที่ 6 : ภาพจาการ์ตาในปี ค.ศ. 1995

ภาพจาการ์ตาในปี ค.ศ. 2013 (มุมเดียวกัน)ภาพที่ 7 : ภาพจาการ์ตาในปี ค.ศ. 2013 (มุมเดียวกัน)

ปัญหาในสหัสวรรษใหม่

เมื่อเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ จาการ์ตาเผชิญกับภัยความมั่นคงครั้งใหม่ มีการลอบวางระเบิด และการก่อการร้ายแทบจะเป็นรายปี อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจพลิกฟื้น จาการ์ตากลับมาพัฒนาตัวเองในทิศทางที่เคยดำเนินไว้ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ โครงการก่อสร้างและตึกระฟ้ากลับมาก่อสร้างอีกครั้ง รัฐบาลวางแผนก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนสมัยใหม่

ปัจจุบัน หากรวมพื้นที่ปริมณฑลด้วยแล้ว จาการ์ตาจะมีพื้นที่ 6,392 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมประชากร 35.934 ล้านคน ถือได้ว่าเป็นเขตเมืองที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากโตเกียวเท่านั้น

แต่ประชากรที่ล้นเมืองของจาการ์ตาก็เป็นความท้าทายหลักในการแก้ไขปัญหาของอินโดนีเซีย สิ่งแวดล้อมพังทลาย การจราจรติดขัด ชุมชนแออัด และที่สำคัญคือปัญหาน้ำท่วม จาการ์ตากำลังจมลง 17 เซนติเมตรต่อปี เมื่อประกอบกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้จาการ์ตาเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่กำลังจมน้ำเร็วที่สุดในโลก

การพูดคุยกันเรื่องย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดคุยในเรื่องการหาเมืองหลวงมาแทนจาการ์ตาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีซูการ์โนแล้ว แต่เป็นการพูดถึงในเรื่องที่ตัวเมืองยังสามารถจัดการเยียวยาได้ เช่น การขาดแคลนระบบขนส่งมวลชน การขาดแคลนพื้นที่สีเขียวภายในเมือง ปัญหาสลัม  อันที่จริงปัญหาน้ำท่วม หรือเมืองกำลังจมน้ำ เพิ่งมาเริ่มพูดกันอย่างจริงจังภายหลังจากน้ำท่วมใหญ่ในจาการ์ตาเมื่อปี 2007 และ 2013 ผลการศึกษาพบว่า สาเหตุมาจากการขุดเจาะนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ และระบบการระบายน้ำที่ต่ำกว่ามาตรฐานของเมือง ทำให้เมืองทรุดตัวลง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในเดือนเมษายน ปี 2017 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ได้ประกาศว่า อินโดนีเซียจะย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปยังบริเวณกาลิมันตันตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว มีการคาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณทั้งหมด 32.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม ปี 2021 แผนการย้ายเมืองหลวงยังรอการอนุมัติจากรัฐสภา ส่วนการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่จะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าแผนการฉีดวัคซีน COVID-19 จะเรียบร้อยในเดือนมีนาคม ปี 2022


เครดิตภาพปกจาก : Universiteitsbibliotheek Vrije Universiteit

เครดิตภาพประกอบ

- ภาพที่ 1 : Hadiyana

- ภาพที่ 2 : Niday Picture Library

- ภาพที่ 3 : National Library of Indonesia

- ภาพที่ 4 : National Monument Office

- ภาพที่ 5 : Gunawan Kartapranata

- ภาพที่ 6 : kevo123

- ภาพที่ 7 : kevo123


อัปเดตความรู้ใหม่ๆอีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !


คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
วัฒภูมิทวีกุล
วัฒภูมิทวีกุล
อ่านบทความอื่นจาก วัฒภูมิทวีกุล

ประวัติศาสตร์อยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์