อื่นๆ

เมื่อดวงใจที่แหลกร้าว เยียวยาได้ด้วยอีกหนึ่งใจที่ร้าวราน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เมื่อดวงใจที่แหลกร้าว เยียวยาได้ด้วยอีกหนึ่งใจที่ร้าวราน

การผิดหวังจากความรักเป็นประสบการณ์ที่เชื่อว่าใครหลายคนเคยได้ประสบพบเจอมาแล้ว อย่างน้อยก็สักหนึ่งครั้งในชีวิต แม้ว่ามันจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าพิสมัยนัก แต่ก็ทำให้เราเติบโตอย่างเข้าใจชีวิตมากขึ้น สอนให้เรารู้จักความผิดหวัง และสอนให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ภาพหญิงสาวผู้ซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากว่าจะผ่านจุดที่มืดมนและปวดร้าวจากความรักที่ล้มเหลวได้นั้น มีความยากง่ายต่างกันซึ่งแล้วแต่กรณีไป แต่สำหรับ ‘แหวนพลอย’ ดวงใจที่แหลกร้าว กลับเยียวยาได้ด้วยอีกหนึ่งใจที่ร้าวราน

ภาพตัว

คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ นักเขียนคุณภาพผู้รังสรรค์วรรณกรรมน้ำดีอย่าง ‘ความสุขของกะทิ’ และได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2549 ประเภทนวนิยาย ได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของแหวนพลอย หญิงสาวผู้เผชิญกับความเจ็บปวดจากความรักที่กัดกินหัวใจของเธอจนแหลกร้าว กระทั่งวันหนึ่งโลกได้เหวี่ยงเธอมาเจอกับ ‘ปนัตถ์’ หนุ่มใหญ่ผู้มากประสบการณ์ชีวิต ช่วงชีวิตวัยหนุ่มของเขาได้พบเจอกับคนที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดมาแล้วหลากหลายรูปแบบและอาจจะรวมถึงอดีตอันแสนเจ็บปวดของตัวเองด้วย เขาจึงสัมผัสได้ไม่ยากว่า ‘แหวนพลอย’ ก็คืออีกหนึ่งคนกอบกุมดวงใจบอบช้ำเอาไว้เช่นกัน การที่แหวนพลอยได้พบกับปนัตถ์นั้นแตกต่างจากนวนิยายรักหวานซึ่งทั่วไป หนุ่มใหญ่คนนี้ไม่ใช่คนที่พลิกชีวิตของเธอจากหน้ามือเป็นหลังมือ หากแต่มอบโอกาสให้เธอได้ทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นและเปิดโอกาสให้เธอได้เจอกับฟ้าใหม่อันเป็นพื้นที่ให้ดวงจันทร์ได้เฉิดฉายเด่นสกาวกลางเวหาอย่างแท้จริง

Advertisement

Advertisement

ชายในความหม่นหมอง

‘เมื่อฟ้ารอพบจันทร์’ อีกหนึ่งวรรณกรรมน้ำดีที่เปิดมุมมองให้ได้เห็นการเยียวยาคนที่แบกความเศร้าจากคนที่มีสภาพไม่ต่างกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่ออ่านแล้วทำให้นึกถึงการเยียวยาคนที่มีอาการซึมเศร้าหรือคนที่เป็นโรคซึมเศร้า จิตแพทย์หลายท่านกล่าวไว้ว่า การช่วยเหลือเยียวยาคนที่มีอาการซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่อาจใช้คำพูดปลุกใจได้ อย่างเช่น “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” “สู้สิ! ชีวิตต้องสู้” “เรื่องแค่นี้เองอย่าไปท้อ” “ไม่ต้องคิดมาก ฉันก็เคยผ่านจุดนี้มาก่อน” คำพูดเหล่านี้นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังรังแต่จะบั่นทอนจิตใจผู้ป่วยให้ถดถอยลงไปเรื่อยๆ ทางที่ดีเราควรสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาไม่โดดเดี่ยว และมีคนพร้อมจะอยู่เคียงข้างเขาโดยไม่ยัดเยียดความคิดอื่นใดใส่เขาเลยทั้งสิ้นจนกว่าจะถึงวันที่ผู้ป่วยพร้อมจะรับคำแนะนำ

Advertisement

Advertisement

จันทร์กลางเวหา

ปนัตถ์ เองไม่ใช่หมอก็เหมือนหมอ ความสามารถในการเป็นผู้ฟังที่ดีของเขาเรียกได้ว่า ‘น่ายกย่อง’ ประกอบกับการเป็นนักสัมภาษณ์ที่ถามอย่างฉานฉลาด ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกศรัทธาชายคนนี้ได้ไม่ยาก ชายผู้ที่แผ่รังสีพลังชีวิตได้มหาศาล ชายผู้ที่จุดประกายแสงสว่างให้ชีวิตได้โดยที่เราอาจคาดไม่ถึงเลยด้วยซ้ำว่าเขาเองก็คืออีกคนที่โอบอุ้มหัวใจที่บอบช้ำเอาไว้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน แหวนพลอยเองเมื่อได้เห็นคุณค่าในตัวเองแล้วก็ไม่ลืมที่จะมอบโอกาสให้ปนัตถ์ได้ชะล้างความมัวหมองในหัวใจที่ค้างคามานานแสนนานบ้าง

จะเห็นได้ว่าการมองเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการหลุดพ้นจากอาการซึมเศร้า แต่บางครั้งเราอาจต้องการใครสักคนที่พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เอื้อต่อการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง และนั่นคือความสำคัญของการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันในสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะสามารถเยียวยาคุณที่ทุกข์เศร้าได้ แม้ว่าเราก็มีความทุกข์เหมือนกัน และไม่แปลกที่คนอื่นจะสามารถเยียวยาเราได้แม้ว่าเราเองก็เห็นอยู่ว่าเขาก็มีความทุกข์ของเขา..........

Advertisement

Advertisement

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

เครดิตภาพหน้าปก: ภาพถ่ายโดยผู้เขียน

เครดิตภาพที่ 1: pixabay, Free-Photos

เครดิตภาพที่ 2: ภาพถ่ายโดยผู้เขียน

เครดิตภาพที่ 3: pixabay, pixel2013

เครดิตภาพที่ 4: pixabay, fill

เครดิตภาพที่ 5: pixabay, Tumisu


เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์