อื่นๆ

เราต่างก็ต้องการคนรับฟัง..

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เราต่างก็ต้องการคนรับฟัง..
เราต่างก็ต้องการคนรับฟัง..
ความเจริญในเมืองมาพร้อมกับชีวิตที่เร่งรีบ
ทุกวันนี้เราต่างคนต่างอยู่
แทบจะไม่ได้ทำความรู้จักกัน
หรือแม้กระทั่งครอบครัวเราเองก็ไม่ค่อย
จะใช้เวลาร่วมกันมากเท่าไรนัก
เราจึงมีชีวิตที่เปลี่ยวเหงามากกว่าเมื่อก่อนไปโดยปริยาย
บางคนรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ได้
ในขณะที่บางคนไม่รู้วิธีรับมือ จึงต้องหาวิธีหลบหลีกแปลกแยกออกจากสังคม
แต่การหลบหนีมันไม่ได้ช่วยอะไร กลับยิ่งสร้างรอยแตกร้าวภายในจิตใจให้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
ผมเพิ่งได้อ่านหนังสือ I Called Him Necktie ที่เขียนโดย มิเลนา มิชิโกะ ฟลาซาร์ นักเขียนลูกครึ่งญี่ปุ่นออสเตรีย
หนังสือเล่มนี้เป็นนิยายที่เขียนแต่งขึ้นมา
แต่มันกลับตีแผ่ภาวะจิตใจของคนในสังคมปัจจุบันได้อย่างดี โดยเล่าผ่านตัวละครหลักสองคนที่วัยแตกต่างกัน แต่ได้มาพบเจอกันโดยบังเอิญในที่ที่ทั้งสองคนไม่ควรจะอยู่
หนังสือ I called him necktie
ทากุชิ ฮิโระ เด็กวัยรุ่นที่ได้เผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง
ทำให้เขาปฏิเสธการเข้าสังคม ปฏิเสธที่จะพูดคุยกับทุกคนไม่เว้นแม้แต่กับพ่อแม่
เขาขังตัวเองอยู่แต่ในห้องนอนเป็นเวลานานกว่า 2 ปี จนวันหนึ่งได้สังเกตเห็นรอยแยกที่ผนังห้อง
จึงเกิดความคิดอยากออกนอกบ้าน เขาจึงตัดสินใจเดินไปนั่งที่สวนสาธารณะ
แล้วทากุชิก็ได้เจอกับชายวัยกลางคนแต่งชุดสูทผูกเนคไทนั่งอยู่ม้านั่งตรงข้ามกับเขา
ทากุชิสังเกตอิริยาบถของชายคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ พอเวลาเที่ยงก็หยิบข้าวกล่องขึ้นมานั่งทาน ไม่นานก็หยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ แล้วก็งีบหลับในยามบ่าย พอเวลาเย็นก็ลุกเดินจากไป
พฤติกรรมของชายวัยกลางคนนี้สะดุดความคิดความสงสัยให้กับทากุชิเป็นอย่างมาก
ทากุชิจึงมานั่งสังเกตชายคนนี้อยู่ทุกวัน แล้วก็ได้เห็นชายคนนี้มานั่งทำแบบเดิมซ้ำๆ อยู่เสมอ
บางสิ่งบางอย่างมันไม่ถูกต้อง
ทำไมชายวัยทำงานถึงมานั่งทำอะไรแบบนี้ที่สวนสาธารณะ แทนที่จะนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ
และเขาเองก็ไม่ควรมานั่งที่นี่ในเวลานี้ด้วยเช่นกัน
คนสองคนอยู่ผิดที่ผิดทางต่างมาพบเจอกันในสวนสาธารณะ
แล้ววันหนึ่งชายวัยกลางคนก็ได้เดินเข้ามาทักทายกับเขา มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ของคนสองคนที่วัยต่างกัน แต่ต่างก็มีปัญหา เป็นแก้วที่มีรอยร้าว ไม่สามารถรินน้ำใส่ลงไป
จนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีประโยชน์ และไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้
ทั้งสองคนได้แลกเปลี่ยนบอกเล่าเรื่องราวที่ทั้งคู่ได้เผชิญมา เรื่องราวที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังแม้กับครอบครัวของตัวเอง หรือคู่ชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่พ่อแม่คาดหวังสูงว่าจะต้องเรียนเก่ง จบออกมาได้งานดีๆ ทำ
การที่เกรงกลัวคำนินทาคนรอบข้างจึงไม่กล้าทำอะไรผิดแผกไปจากคนอื่น
การที่ได้เฉยเมยต่อเพื่อนสนิทที่ถูกบูลลี่จนนำไปสู่โศกนาฎกรรม
หรือเรื่องราวคนที่ทำงานอย่างหนักมาทั้งชีวิต
จนมาวันหนึ่งเขาก็พบว่าตัวเขาไม่ได้เป็นที่ต้องการของบริษัทอีกต่อไป จึงถูกไล่ออก
เขาไม่กล้าที่จะบอกความจริงเรื่องนี้กับคู่ชีวิต
การเอาแต่เก็บกดปัญหาเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี
ทั้งคู่ต่างก็ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการหลบหนีจากมัน
แต่มันก็ไม่ได้ช่วยอะไร
วันเวลาผ่านไปโดยที่ทั้งคู่ยังจมดิ่งไม่สามารถมูฟออนไปไหนได้
จนเมื่อทั้งสองคนได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน
ก็เป็นเหมือนการที่ทั้งคู่ได้ทบทวนเหตุการณ์ที่ได้ประสบผ่านมา ผ่านมุมมองความคิดเห็นของคนต่างวัย ทำให้เข้าใจชีวิต และยอมรับความจริงมันได้
แม้ว่าปัญหาบางอย่างมันอาจจะสายเกินที่จะแก้แล้วก็ตาม แต่การที่มีใครมารับฟังอย่างตั้งใจมันก็เป็นเหมือนการได้เยียวยาจิตใจให้เราแล้ว
สิ่งสำคัญของชีวิตอาจอยู่ใกล้ตัวเราแค่นี้
หนังสือ I Called Him Necktie
ผมคิดว่ามันไม่ใช่หนังสือโลกสวย
แต่มันก็ไม่ใช่หนังสือสายดาร์ก หม่นมืดหดหู่
มันเป็นนิยายที่เล่าถึงความเป็นจริงในชีวิตของเรา
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว
ปัญหาวัยเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน
ความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ และปัญหาในที่ทำงาน
ที่เราทุกคนต้องพบเจอไม่มากก็น้อย
แล้วเราแต่ละคนมีหนทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้กันยังไง
หนังสือเล่มนี้อาจทำให้คุณเจอกับคำตอบครับ...

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก Sasha Freemind โดย Unsplash
ภาพที่ 2 เป็นภาพจากผู้เขียนเองครับ
ขอบคุณภาพประกอบรูปที่ 3 จาก Sam Moqadam โดย Unsplash
ขอบคุณภาพประกอบรูปที่ 4 จาก Kin Li โดย Unsplash
ฝากติดตามเพจ ปั่นเรื่อง เป็นภาพ ที่ผมเขียนด้วยครับ

Advertisement

Advertisement

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ปั่นเรื่องเป็นภาพ
ปั่นเรื่องเป็นภาพ
อ่านบทความอื่นจาก ปั่นเรื่องเป็นภาพ

เพราะโลกไม่เคยหยุดหมุน..เวลาไม่เคยหยุดเดิน..คนไม่เคยหยุดนิ่ง..เราจึงมา "ปั่นเรื่อง เป็นภาพ" กัน

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์