อื่นๆ

แม่น้ำโขง…ทรงจำแห่งความผูกพัน

181
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
แม่น้ำโขง…ทรงจำแห่งความผูกพัน

ภาพปกจาก https://pixabay.com

“น้ำโขง” สายนทีที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สายน้ำคดเคี้ยวสายยาวจากเทือกเขาหิมาลัย ปล่อยทอดคุณประโยชน์สู่ผู้คนด้วยเส้นทางน้ำกว่า 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมภูมิภาคลุ่มน้ำถึง 6 ประเทศ คือ ประเทศจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งแต่ละประเทศต่างสร้างโอกาสและหาประโยชน์จากการใช้แม่น้ำโขงไม่แตกต่างกันมากนัก หากเป็นชาวบ้านธรรมดา คงไม่พ้นการทำเกษตรกรรมลุ่มน้ำ การประมง การขนส่ง การค้าขาย ตามศักยภาพที่สามารถทำได้

เกษตรกรรมลุ่มน้ำโขงการเพาะถัวงอก ที่ดอนถั่วงอก อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายถ่ายภาพ : เดชชาติ แสนประเสริฐ

แต่หากมองไปในภาคอุตสาหกรรม การบริหารประเทศ เรามักจะเห็นโครงสร้างเชิงนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ ที่จัดสรรขึ้นมาเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ตามอำนาจการครอบครองของประเทศนั้น ๆ  เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การระเบิดแก่งเพื่อสร้างเส้นทางการเดินเรือ ฯลฯ ซึ่งผลเสียจากการกระทำดังกล่าวเมื่อตีราคาออกมา หักกับผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับ อาจจะไม่ได้สร้างความเสียหายมากมายกับนักลงทุน แต่กับผู้คนที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่กับลุ่มน้ำ จะมีใครรู้ว่า พวกเขาได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

Advertisement

Advertisement

เขื่อนภาพจาก https://pixabay.com

ผมคือเด็กคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง เพราะพ่อประกอบอาชีพเป็นชาวประมง แม่ผู้สร้างรายได้ด้วยการรับจ้างเก็บหินประดับจากแม่น้ำโขง ครอบครัวของผมมีวิถีชีวิตที่ผูกโยงกับอยู่กับแม่น้ำโขงมาค่อนข้างนาน ทั้งการดำรงชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม ดังนั้น ผมจึงอยากเอาประสบการณ์ที่เคยพบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในช่วงสั้น ๆ มาเล่าให้กับผู้อ่าน

บ้านของผมอยู่ในเขตอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นระยะทางสั้น ๆ ที่แม่น้ำโขงไหลผ่านก่อนที่จะไหลเข้าสู่ประเทศลาวและวกกลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้ง ในดินแดนอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี

ปลาน้ำจืดภาพจาก https://pixabay.com

Advertisement

Advertisement

ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้เริ่มเกิดปัญหาขึ้นกับการประกอบอาชีพของพ่อ เพราะปลาในแม่น้ำโขงมีจำนวนลดน้อยลง พ่อเล่าว่าก่อนหน้านี้พ่อสามารถหาปลาได้ทุกวัน วันละหลายตัว แต่หลังจากที่ประเทศจีนเริ่มสร้างเขื่อน ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงก็เปลี่ยนไป กล่าวคือ น้ำขึ้น-ลงไม่ตรงตามฤดูกาล ปลาบางชนิดเริ่มหาไม่ได้ บางวันพ่อออกบ้านไปหาปลาตั้งแต่เช้า กลับมาตอนเย็นไม่มีปลาติดมือกลับมาแม้แต่ตัวเดียว เมื่อแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปและเป็นเช่นนี้บ่อยเข้า อาชีพประมงคงไม่ใช่วิถีที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในปัจจุบันสำหรับครอบครัวผมได้ ถึงกระนั้นพ่อจึงตัดสินใจทิ้งอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษและหันไปทำอาชีพอื่น พ่อทิ้ง “มอง” ซึ่งเป็นอุปกรณ์หาปลาของชาวเชียงของ หันมาจับจอบเสียม แบกปูน ส่วนแม่จากที่ต้องเก็บหินจาก ‘ดอน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศ ก็ต้องผันตัวมาเป็นแม่บ้านในโรงงาน เพราะระบบนิเวศที่เคยเป็นอยู่เปลี่ยนแปลง “ดอน” ที่เคยเห็น “โขดหิน” ที่เคยโผล่พ้นน้ำ กลับหายห่างจากตา เหลืองเพียงภาพจำที่ถูกบันทึกไว้ในใจของพ่อ แม่และผมจนถึงทุกวันนี้

Advertisement

Advertisement

การหาปลาภาพจาก https://pixabay.com

ทุกคนอาจจะมองว่านี่คือปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบการสร้างเขื่อน การระเบิดแก่ง แต่นอกจากครอบครัวของผม ยังมีอีกหลายครอบครัว หลายชุมชนในหลาย ๆ ประเทศ ที่ผูกพันอยู่กับแม่น้ำโขง สร้างอาชีพจากทรัพยากรลุ่มน้ำ เช่น อาชีพเกษตรกรรม ขนส่งข้ามฟาก ค้าขายหินน้ำโขง เขาเหล่านี้ต่างละทิ้งตัวตนของตนเอง ละทิ้งความเคยชิน แล้วหันมาใช้ชีวิตในสังคมแห่งการแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด พอวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง วิธีการใช้ชีวิตจึงเปลี่ยนไป พิธีกรรมที่เคยเห็น ประเพณีที่เคยมีก็เริ่มห่างหาย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่สามารถประเมินออกมาเป็นค่าของเงินตราได้ เพราะความสูญเสียที่ว่าไม่ใช่แค่ราคาทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป แต่คือวิถีชีวิต เอกลักษณ์ ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ และความผูกพัน ซึ่งไม่มีมาตราวัด ไม่มีมาตรฐานกำหนดค่าความสูญเสีย คงเหลือไว้แต่ “ความทรงจำแห่งความผูกพัน” ที่จะติดตราตึงอยู่ในห่วงหนึ่งความของคิดถึง ที่ไม่มีวันหวนคืน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์