ไลฟ์แฮ็ก

ไม่ชมก็ไม่พัฒนา ชมไปก็ได้ใจจนลืมตัว งั้นต้องทำแบบนี้

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ไม่ชมก็ไม่พัฒนา ชมไปก็ได้ใจจนลืมตัว งั้นต้องทำแบบนี้

เคยมีโอกาสได้อ่านหนังสือ "กล้าที่จะถูกเกลียด" ทั้ง 2 เล่ม ซึ่งในนั้นได้ซึมซับหลักปรัชญามากมาย โดยในทั้งสองเล่มเป็นหนังสือแนวจิตวิทยาที่นำหลักจิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์ ซึ่งเป็นจิตแพทย์ที่ได้ค้นคว้าและพัฒนาบุคลิกภาพขึ้นมาใหม่ เรียกว่า จิตวิทยาปัจเจกชน (Individual Psychology) มาเขียนในเชิงนิยายถามตอบเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่น 2 คน คือ คิชิมิ อิชิโร เป็นนักวิชาการด้านปรัชญาและโคะกะ ฟุมิทะเกะ นักเขียนชาวญี่ปุ่น แค่ชื่อก็น่าอ่านแล้ว เห็นปกก็สงสัยว่าทำไมคนเราจึงต้องกล้าที่จะถูกเกลียดด้วย ให้คนชอบไม่ได้เหรอ จึงทนต่อความอยากรู้ของตัวเองไม่ได้ ต้องควักเงินซื้อมาอ่านจนได้ หนังสือ

วันนี้ก็เลยขอหยิบมาเล่าสิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ เผื่อมีประโยชน์สำหรับหลายๆคนที่กำลังต้องการหลักปรัชญามาเยียวยาชีวิต เพื่อให้ชีวิตมีแรงได้ไปต่อ ไม่ใช่จมปลักอยู่ในความทุกข์แบบนี้

Advertisement

Advertisement

เรื่องที่กระตุกความคิดของผมได้มากที่สุดตอนนี้ก็คือ การชม ซึ่งในหนังสือบอกไว้ว่าห้ามชมเด็ดขาดไม่ว่าในกรณีไหนก็ตามเพราะจะทำให้ผู้ถูกชมหลงระเริงกับการชม หรือบางครั้งทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้ได้รับคำชม ซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งไม่มีสิ้นสุด แอดเลอร์เลยเห็นว่า เราไม่ควรชมเลย เพราะสังคมที่มีแต่การชม จะมีการแข่งขันสูง มองคนอื่นเป็นศัตรูที่จะต้องเอาชนะให้ได้ ซึ่งมันขัดกับสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะในสังคมต้องมีความร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขันแข่งขัน

อ่านไปสักพัก แว็บแรกก็คล้อยตามไปเลยว่า จริงน่ะ เราไม่ควรชม เพราะจะเกิดการแข่งขัน แทนที่จะเกิดความร่วมมือ คิดอยู่กับประเด็นนี้อยู่นานว่าจะเห็นด้วยดีไหม หรือมันต้องยังไงสักอย่าง การชมมันแย่ขนาดที่ไม่ต้องชมเลยเหรอ หาคำตอบนานมากจนกระทั่งไปเจอหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ "ศิลปะของการปล่อยของ" ได้พูดถึงเกี่ยวกับการชมไว้เหมือนกัน ก็เลยกระจ่างเรื่องนี้สักที มันคือยังงี้หนังสือ The Power of Output ศิลปะของการปล่อยของ

Advertisement

Advertisement

จริงๆการชม มันเป็นเหมือนที่แอดเลอร์พูดไว้เลย คือจะทำให้เกิดการแข่งขัน นำมาสู่ความขัดแย้ง การมองคนอื่นรอบข้างเป็นศัตรูที่จะต้องเอาชนะให้ได้ แต่ถ้าไม่ชมเลย ก็ไม่ได้เพราะ อ้างอิงจากหนังสือ "ศิลปะของการปล่อยของ" ว่า การชมเป็น Feedback อย่างหนึ่ง ซึ่ง Feedback ก็คือผลสะท้อนกลับที่จะทำให้เรากลับมามองดูผลงานของเราว่า มีอะไรที่ดี มีอะไรที่ควรแก้ไขอย่างไร เพื่อนำมาใช้กับการสร้างผลงานในครั้งต่อไป ซึ่งการชมก็เป็น 1 ในผลสะท้อนกลับที่แสดงให้เราเห็นว่า ผลงานของเรานั้นดี ถึงได้มีคนชม ดังนั้นการชมที่ดีจึงไม่ใช่เป็นการชมไปเฉยๆว่า ดีมาก เก่งมาก แต่ควรบอกด้วยว่า ดียังไง ตรงไหนเด่น บอกไปเลย เพื่อที่เจ้าของผลงานสามารถนำมันไปใช้ในครั้งต่อไปได้

พอจะเห็นหรือยังครับว่าการชม ในตัวของมันเองนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด แต่ชมยังไงต่างหากล่ะเป็นเรื่องที่ควรคิด หากชมผิดวิธี มันก็เกิดผลเสียได้ แอดเลอร์ จึงใช้วิธีไม่ชมเลยจะดีกว่า แต่ถ้าไม่ชมเลยก็ไม่มี Feedback ทำให้ไม่เกิดการพัฒนา ก่อนจากกันไปผมมีเทคนิคการชมที่ทำให้อีกฝ่ายไม่เหลิงอย่างได้ผล ที่ได้จากหนังสือ "ศิลปะของการปล่อยของ" ดังนี้

Advertisement

Advertisement

1. ชมในการกระทำที่ต้องการเน้นย้ำ

ผลงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราจะต้องชมในเชิงการกระทำว่า เก่งมากที่มีความพยายามทำงานชิ้นนี้ ทำให้มีผลต่อจิตใจของผู้ที่ถูกชม ทำให้อยากจะพัฒนาให้ดีกว่านี้

2.ชมอย่างเป็นรูปธรรม

เขาทำได้ดีตรงไหน บอกเขาไปเลย เขาจะได้รู้ว่า จุดนี้ดี ควรทำมันอีกในครั้งถัดไป ควรชมให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด

3.ตอบสนองความต้องการความเคารพนับถือ

1 ในลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ได้บอกไว้ว่า ความต้องการความเคารพนับถือเป็นลำดับขั้นสูงอันดับ 2 รองจากความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิตเท่านั้น ฉะนั้นเราต้องชมด้วยการตอบสนองความต้องการนี้ของเขา ให้เขารู้ว่ามีความสำคัญ เช่น งานที่กำลังทำอยู่นี้มีความสำคัญต่อครอบครัวอย่างมาก ทำให้เขาได้รับการเติมเต็มความต้องการความเคารพนับถือของเขา ทำให้เขาสามารถพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นไปอีกลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

4.เขียนคำชมเชย

การชมด้วยคำพูดก็ดี แต่ถ้าชมด้วยการเขียนเป็นจดหมายหรืออีเมลหรือแม้แต่ส่งผ่านแชตส่วนตัว จะทำให้เขากลับมาอ่านซ้ำอีกกี่รอบก็ได้ ทุกครั้งที่เขาได้กลับมาอ่านคำชมจะทำให้เขามีพลังและกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้น

สิ่งที่เราควรระวังในการชมก็คือ อย่าชมให้เวอร์มากจนเกินไป เพราะแทนที่จะทำให้ผู้ถูกชมรู้สึกดี กลับกลายเป็นว่ากำลังถูกหลอกอยู่ก็ได้ ให้ว่ากันไปตามความเป็นจริงจะดีมาก

ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงก็คือ ตอนเรียนมหาลัยมีโอกาสรับหน้าที่ช่วยติวหนังสือให้รุ่นน้อง ตอนนั้นคิดตามหนังสือเลยว่า ห้ามชม พอรุ่นน้องทำการบ้านมาดี ตอบคำถามได้ดี ก็ไม่ได้ชมรุ่นน้องเลย ทำให้พอจะเห็นอาการที่ไม่ค่อยพอใจของน้องอยู่บ้าง เพราะเขาไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการ จนเมื่อได้เจอกับหนังสืออีกเล่มที่บอกว่า สามารถชมได้ แต่มีวิธีของมันอยู่ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าการชมก็สามารถทำได้ กินเวลาไป 1 ปีเต็มๆ พอกลับมาอยู่บ้านก็พอมีเวลาสอนการบ้านน้องที่อยู่ชั้นประถม เลยได้โอกาสนำไอเดียใหม่ไปใช้ กล่าวคือ เวลาน้องทำการบ้านถูกหมดทุกข้อ จะชมอย่างเป็นรูปธรรมเลยว่า เพราะน้องตั้งใจฟังที่พี่อธิบายไง เลยเข้าใจ ทำให้สามารถแก้โจทย์ได้ดีเยี่ยมแบบนี้

นึกถึงตอนนี้ก็เสียดายเวลานั้น รู้สึกสงสารตัวเอง สงสารรุ่นน้องด้วย ถ้าเข้าใจเร็วกว่านี้ ความต้องการของน้องคงได้รับการตอบสนองได้ดีกว่าวันนั้น ยังจำแววตาที่รุ่นน้องมองมาได้ไม่ลืม แต่ก็คิดไปว่า มันคือ 1 ในจังหวะชีวิตของเราที่ค่อยๆพัฒนาไปทีละเล็กละน้อย ฉะนั้นหมั่นการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก และวิธีเรียนรู้ที่ง่ายที่สุดก็คือ อ่านหนังสือ

เวลาอ่านหนังสือให้เรารู้จักการเปรียบเทียบด้วย ว่าจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันยังไง ไม่ใช่เห็นด้วย 100 % กับทุกอย่างที่หนังสือกล่าวมา เพราะคนเขียนหนังสือเป็นมนุษย์ มนุษย์สามารถผิดพลาดได้ในบางครั้งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว  บทความนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ผมเอามาฝากนักอ่านว่า เราจะต้องเปรียบเทียบสิ่งที่เราได้จากหนังสือด้วย ก่อนที่เราจะเอามันไปใช้ เพราะถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น เราอาจจะทำอะไรบางอย่างพลาดไปได้ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย เห็นต่าง มีความคิดเห็นอย่างไรก็สามารถเขียนมาบอกได้เลย ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็นครับ รออ่านน่ะครับ

เครดิตปก Engin Akyurt จาก Pixabay และ mohammed Hassan จาก Pixabay

ภาพที่ 1/3/4  โดย ผู้เขียน

ภาพที่ 2 โดย Thomas Wolter จาก Pixabay

🌟อ่านจบแล้วเข้าไปพูดคุยในคอมมูนิตี้ที่นำเทรนด์ที่สุดในปีนี้ที่ TrueID Community 🪄✨

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์