ไลฟ์แฮ็ก

9เคล็ด(ไม่)ลับ สำหรับคุณแม่ให้นม...ที่ต้องกลับมาทำงาน

855
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
9เคล็ด(ไม่)ลับ สำหรับคุณแม่ให้นม...ที่ต้องกลับมาทำงาน

Cover Photo by senivpetro on Freepik.com

สวัสดีค่ะคุณแม่สายปั๊มและสายเข้าเต้าทุกท่าน วันลาคลอดใกล้หมดหรือยังคะ จะต้องกลับไปทำงานแล้ว คุณแม่บางท่านอาจกังวลเรื่องสต๊อกนมแม่ไม่พอ หรือจะสามารถให้นมแม่ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ วันนี้ OnionXoXo ขอนำเสนอเคล็บ(ไม่)ลับ ฉบับ Working Woman ที่ทำได้ง่ายๆ สำหรับคุณแม่ให้นมบุตรที่กำลังเตรียมตัวกลับไปทำงานกันค่ะ

Working womanPhoto by javi_indy on Freepik.com

1. การเริ่มทำสต๊อกนมแม่

"ควรเริ่มทำสต๊อกนมแม่เมื่อไหร่?"..."นมสต๊อกจะพอให้ลูกกินมั้ย?"..."ลูกจะกินนมสต๊อกที่แช่แข็งแล้วมั้ย?"...คงเป็นคำถามที่คุณแม่หลายๆท่านสงสัยและกังวลไม่น้อย

เคล็ดลับ คือ เริ่มทำสต๊อกเมื่อพร้อมค่ะ เหมือนหยอดกระปุกออมสินสมัยเด็กๆ เก็บเล็กผสมน้อยทีละนิด ช่วงที่ลาคลอด ควรฝึกให้ลูกน้อยเข้าเต้า จะได้ช่วยกระตุ้นน้ำนม เมื่อลูกหลับคุณแม่สามารถเลือกว่าจะปั๊มนมที่เหลือในเต้าเพื่อทำสต๊อก หรือถ้าไม่ไหวแนะนำให้นอนหลับไปกับลูก การพักผ่อนและสุขภาพของคุณแม่เป็นเรื่องสำคัญ และแน่นอนว่าส่งผลต่อการเลี้ยงลูกและปริมาณน้ำนมแน่นอน

Advertisement

Advertisement

เมื่อคุณแม่พร้อมและเก็บสะสมสต๊อกได้เล็กน้อย ควรแบ่งมาให้ลูกฝึกดื่มนมสต๊อกบ้าง เพื่อให้เคยชินกับรสชาติ ไม่ต้องรีบ อาจจะเริ่มฝึก 2-3สัปดาห์ก่อนคุณแม่จะไปงานก็ได้ หากละลายนมสต๊อกมาแล้วลูกไม่ยอมดื่ม เพราะไม่อร่อยเท่านมสด หรือมีกลิ่นหืนเล็กน้อย แนะนำให้ผสมนมปั๊มสดกับนมสต๊อกในอัตราส่วน1:1 หรือปรับสูตรตามที่ลูกยอมดื่ม แล้วค่อยๆเพิ่มสัดส่วนของนมสต๊อก ลดนมปั๊มสด เพื่อให้ลูกค่อยๆปรับตัว

ปริมาณนมสต๊อกที่ควรต้องมีก่อนไปทำงาน คำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่คุณแม่ไม่อยู่บ้านและจำนวนออนซ์ที่ลูกดื่ม ตัวอย่างเช่น คุณแม่ต้องออกจากบ้านไป 12 ชั่วโมง และ ลูกดื่มนม 5ออนซ์ ทุกๆ 3 ชั่วโมง แสดงว่าตอนที่คุณแม่ไม่อยู่ลูกต้องการดื่มนมรวม 20ออนซ์ ดังนั้นคุณแม่ควรมีสต๊อกอย่างน้อยที่สุด 2เท่าของปริมาณที่ลูกต้องการ หรือประมาณ 40ออนซ์ เพราะต้องเผื่อคนที่ช่วยเลี้ยงทำนมหกหรือลูกหิวมากเป็นพิเศษในวันนั้นด้วยค่ะ คุณแม่ท่านใดมีสต๊อกนมมากกว่านั้นถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆค่ะ เก็บสะสมไว้เผื่อตอนที่ไปทำงานแล้วจะไม่มีเวลาปั๊ม ส่วนคุณแม่ท่านใดมีน้อย ไม่ต้องเสียใจ ให้ใช้วิธีปั๊มเก็บวันต่อวัน ระหว่างที่ไปทำงานเอาค่ะ หากมีวินัยปั๊มอย่างสม่ำเสมอ แทบไม่มีสต๊อกเลยก็สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างยั่งยืนได้ค่ะ

Advertisement

Advertisement

้ให้นมขวดPhoto by Jcomp on Freepik.com

2. น้ำนมมายังไม่มา

ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่คลอดธรรมชาติหรือคุณแม่ผ่าคลอดก็อาจจะจิตตกได้ หากน้ำนมมาช้า ขอให้คุณแม่ใจเย็นๆ พยายามฝึกให้ลูกเข้าเต้าตั้งแต่แรกคลอด ตอนแรกลูกอาจจะผลักเต้า อย่าไปโกรธลูก หรืออย่าไปดูถูกความสามารถของลูกว่าเขาจะทำไม่ได้นะคะ เด็กเล็กมีพัฒนาการที่เร็วมาก หากได้รับการสอนอย่างถูกต้อง เขาจะกลายเป็นนักดูดเต้าระดับโปรภายในไม่ช้า

แต่ในขณะที่ลูกยังเป็นนักดูดเต้ามือสมัครเล่นและคุณแม่เป็นคุณแม่มือใหม่ แนะนำให้ปรึกษาคลินิกนมแม่ใกล้บ้าน เพื่อสอบถามเทคนิคและท่าทางที่ถูกต้องเวลาเข้าเต้านะคะ ใครที่อยู่แถวนนทบุรีหรือเดินทางสะดวกแนะนำเป็นพิเศษสำหรับคลินิกนมแม่ รพ.ศิริราช ดูแลดี แทบไม่มีค่าใช้จ่าย มีคุณพยาบาลจัดท่าทางที่ถูกต้องในการเข้าเต้าให้แบบตัวต่อตัว สอนหลากหลายท่าทางให้ไปปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งท่าสำหรับนั่งให้นม ท่าสำหรับนอนให้นม ท่าให้นมสำหรับเด็กเล็ก พาคุณย่าคุณยายหรือญาติพี่น้องที่เป็นผู้หญิงเข้าไปเรียนด้วยได้ มีการชั่งน้ำหนักเด็ก ติดตามว่าน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์หรือไม่ คำนวณให้ว่าน้ำนมแม่เพียงพอหรือไม่ ปรึกษาได้ทุกปัญหาเกี่ยวกับนมแม่ เต้านม และการเลี้ยงดูทารก

Advertisement

Advertisement

เคล็ดลับที่ทำให้น้ำนมมาดี คือให้ลูกดูดกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ 3ชั่วโมงหรือเมื่อลูกต้องการ ทีละเต้า ทั้งสองเต้า เต้าละประมาณ 15 นาที ตัวคุณแม่เองต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากพบว่าลูกน้อยแพ้อาหารผ่านน้ำนม ให้ปรึกษาแพทย์ เพราะโภชนาการอาหารของคุณแม่ก็เป็นเรื่องสำคัญค่ะ แพทย์อาจให้คุณแม่รับประทานแคลเซียมเม็ดตลอดการให้นมบุตรอย่าลืมปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และที่สำคัญที่สุด อย่าลืมดื่มน้ำมากๆค่ะ "ใครมาถามว่าอยากให้มีน้ำนมเยอะๆทานอะไร...ตอบเลยน้ำเปล่าจ้าาา"

ดื่มน้ำ

Photo by Racool_studio on Freepik.com

3. ตู้แช่แข็ง

หลายคนคงกำลังคิดว่า..."ซื้อตู้แช่แข็งดีมั้ย"..."ตู้แช่นมจำเป็นมั้ย"..."หรือจะแช่ในช่องฟรีซของตู้เย็นที่บ้านดี" ต้องขอบอกว่า"ตู้แช่แข็งสำหรับเก็บนมแม่จำเป็นค่ะ" โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ที่สต๊อกมากหรือสต๊อกน้อย เพราะตู้แช่แข็งเป็นเคล็ดลับสำคัญที่จะทำสต๊อกนมแม่ที่เก็บสะอาด ไม่ปนเปื้อน และไม่มีกลิ่นอาหารที่อยู่ในช่องฟรีซมาติด สำหรับคุณแม่สต๊อกน้อยสามารถซื้อตู้แช่แข็งขนาดเล็กที่มีความจุน้อยๆประมาณ 3คิวก็ได้ หรือจะเช่า หรือจะซื้อมือสอง ตามสะดวกเลย รับรองว่าคุ้มค่า เพราะเมื่อลูกน้อยของคุณแม่อายุครบ 6 เดือน ช่องฟรีซในตู้เย็นธรรมดาก็จะเต็มไปด้วยอาหารปั่นแช่แข็งของเด็กอยู่ดี แทบไม่เหลือที่ให้แช่นมแม่หรอกค่ะ

อุปกรณ์ปั๊มนม4. การจัดกระเป๋าไปทำงาน

เมื่อใกล้จะหมดวันลาคลอด ก็ถึงเวลาต้องเตรียมตัวไปทำงานกันแล้ว Itemสำคัญที่จะขาดไม่ได้ก็คือกระเป๋าใส่อุปกรณ์ปั๊มนม มีเคล็ดลับในการเลือกกระเป๋ามาฝากกันค่ะ

กระเป๋าควรมี 2 ชั้น แยกช่องใส่เครื่องปั๊มนมออกจากช่องเก็บความเย็นอย่างชัดเจน เนื่องจากน้ำแข็งสำหรับแช่นมแม่ในช่องเก็บความเย็นมีความชื้น ความชื้นนี้อาจทำให้เครื่องปั๊มนมเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรได้ค่ะ

ขนาดของกระเป๋าต้องใหญ่พอที่จะสามารถใส่อุปกรณ์ต่างๆได้ เช่น เครื่องปั๊มนม กรวยปั๊มนม ขวดนม น้ำแข็ง ถุงใส่นมแม่ ทิชชู่เปียก ปากกา เป็นต้น

เครื่องปั๊มนมแต่ละรุ่นนั้นก็มีขนาดที่แตกต่างกัน ก่อนซื้อกระเป๋าควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าช่องใส่เครื่องปั๊มใหญ่พอสำหรับเครื่องปั๊มรุ่นนั้น

กรวยปั๊มนมแนะนำแบบแฮนด์ฟรี เพราะสะดวก ไม่ต้องใช้มือจับ ใส่ซ่อนไว้ในเสื้อผ้าได้ จะปั๊มระหว่างทำงาน ขับรถ หรือป้อนข้าวลูกก็สามารถทำได้ หากกิจกรรมที่ต้องทำระหว่างปั๊มนมต้องเคลื่อนที่ เช่น ต้องเดินไปมา กวาดบ้าน หรือขับรถ แนะนำรุ่นที่มีตัวกันไหลย้อนนะคะ กรวยแฮนด์ฟรีรุ่นทั่วไปน้ำนมอาจหกหรือไหลย้อนเข้าไปในสายยางได้ค่ะ

การรักษาความเย็นที่ดีจะช่วยยืดอายุของนมและรักษาคุณภาพของนมไว้ ช่องเก็บความเย็นจึงต้องหนาเพียงพอ และน้ำแข็งที่ใช้ต้องเย็นนาน การใช้น้ำแข็งเทียม (Packed Cooler Gel) จึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะนอกจากจะแช่เย็นเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆแล้ว ยังสะอาด ไม่ละลายเป็นน้ำหรือหกเลอะเทอะอีกด้วย

กระเป๋าปั๊มนม5. การปั๊มนมที่ทำงาน

เมื่อต้องมาทำงานแบ่งเวลาปั๊มนมอย่างไร...รอบที่1 ในตอนเช้าขณะขับรถไปทำงาน การปั๊มนมในรถทำให้ประหยัดเวลาไปได้มาก รอบที่2 แบ่งเวลาในช่วงพักเที่ยงมาปั๊มนม อาจปั๊มไปรับประทานอาหารไปก็ได้ค่ะ และรอบที่3 ขณะขับรถกลับบ้าน หรือใครสะดวกปั๊มที่โต๊ะทำงานจะได้ทำงานไปด้วย หรือOfficeไหนมีห้องปั๊มนมให้ ก็เยี่ยมไปเลยค่ะ เคล็ดลับในการปั๊มนมนอกสถานที่ ควรมีผ้าคลุมให้นมไปด้วยเสมอนะคะ

ตู้แช่นม6. การเก็บน้ำนม

การเก็บน้ำนมทุกครั้งไม่ว่าที่บ้านหรือนอกสถานที่ ควรล้างมือให้สะอาด เมื่อปั๊มเสร็จแล้วควรรีบนำนมเก็บนมทันที อาจเก็บใส่ขวดเพื่อให้ลูกกินในวันถัดไป หรือเก็บใส่ถุงสำหรับบรรจุนมแม่ การใช้ถุงเก็บนมแม่ทำให้ประหยัดที่ และจัดเก็บได้อย่างเป็นระเบียบ เคล็ดลับคือเมื่อเทนมใส่ถุงแล้วควรรีดอากาศออกให้มากที่สุด อาจรีดกับโต๊ะ หรือรีดด้วยมือเปล่าก็ได้ตามที่คุณแม่สะดวก นำไปแช่แข็งให้เร็วที่สุดเพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม และว่างถุงนมที่ยังไม่แข็งในแนวราบเพื่อให้ถุงแบน จะประหยัดพื้นที่อย่างมากเมื่อนำไปจัดเรียง ที่สำคัญหากต้องแช่ตู้เย็นรวมกับเพื่อนร่วมงาน ควรเขียนชื่อที่ถุงให้ชัดเจน หากล่องมาใส่เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนหรือหยิบสลับกันนะคะ

Baby SleepPhoto by javi_indy on Freepik.com

7. ต้องเลี้ยงลูกกลางคืน นอนอย่างไรให้ไปทำงานได้

กลางวันตอนที่คุณแม่ไปทำงาน คงมีคนคอยดูแลลูกน้อยแล้ว ส่วนตอนกลางคืนสำหรับเด็กที่น้ำหนักดีและนอนยาวได้แล้วคงไม่เป็นปัญหา แต่สำหรับลูกน้อยที่ต้องตื่นมากินนมทุก 3 ชั่วโมง คุณแม่จะพักผ่อนเพียงพอได้อย่างไร

เคล็ดลับคือการให้นมในท่านอน จะช่วยให้คุณแม่พักผ่อนไปด้วยระหว่างให้นม ควรใช้ผ้าอ้อมรองบริเวณศีรษะของลูกและเต้านมของคุณแม่ไว้เพื่อไม่ให้น้ำนมไหลเลอะที่นอน เข้านอนพร้อมลูกตั้งแต่หัวค่ำ เพียงเท่านี้คุณแม่ก็จะสามารถมีพลังเพื่อจะไปทำงานต่อในตอนเช้าได้แล้วค่ะ

ให้นมบุตรPhoto by freepic.diller on Freepik.com

8. White Dot ปวดเต้า เศร้าใจ

เมื่อออกไปทำงานแล้ว คงมีช่วงที่คุณแม่ยุ่งจนไม่มีเวลาปั๊มหรือปั๊มตกรอบ ควรระวังปัญหาที่อาจจะตามมา เช่น White Dot, เต้านมแข็งเป็นก้อน หรือท่อน้ำนมอุดตันนะคะ เพราะปัญหาเหล่านี้หากไม่รีบแก้ จะส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้

ทางแก้ได้ง่ายๆคือถ้ายังไม่ได้กลับบ้านควรปั๊มนมออกก่อน นมอาจออกน้อย ให้ตามด้วยการบีบมือ และรีบกลับมาให้ลูกดูดเต้า ลูกจะเป็นเหมือนเจ้าหน้าที่เคลียร์เต้า ทำให้เต้ากลับมาโล่งอีกครั้ง ที่สำคัญถ้าไม่หายอย่าลืมพบแพทย์หรือคลินิกนมแม่ใกล้บ้าน ไม่ควรทิ้งไว้นานนะคะ

เว็บไซต์9. เจ็บป่วย

ความเจ็บปวดเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะคุณแม่ที่ทำงานหนักพักผ่อนน้อย เมื่อไปพบแพทย์ควรแจ้งทุกครั้งว่า"กำลังให้นมบุตรอยู่" แพทย์จะได้เลือกตัวยาที่เหมาะสมกับคุณแม่และไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยนะคะ หากลืมบอกควรโทรไปสอบถามข้อมูลเรื่องยากับโรงพยาบาลที่ไปรับการรักษา หรือสามารถตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเองได้ที่ www.e-lactancia.org วิธีใช้ให้พิมพ์ชื่อสามัญของยาลงไป

"อะไรคือชื่อสามัญ?"... ตัวอย่างเช่น ซีมอล (Cemol), พานาดอล (Panadol), พาราแคพ (Paracap), ซาร่า (Sara) หรือไทลินอล (Tylenol) ที่เรารู้จักนี่คือชื่อทางการค้า เวลาโฆษณาจะได้ยินว่า "ไทลินอล...มีตัวยาพาราเซตามอล 500mg" หรือ "ซาร่า...ยาบรรเทาปวด ลดไข้ พาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็ก ชนิดเม็ดสำหรับผู้ใหญ่" ชื่อสามัญของยาเหล่านี้แท้จริงแล้วคือ พาราเซตามอล (Paracetamol) ดังนั้นเวลาค้นหาสำหรับ Tylenol ให้พิมพ์ "Paracetamol" ค่ะ

ผลลัพธ์การค้นหาหลังจากพิมพ์ชื่อสามัญของยาที่เราสนใจลงไปแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้สำหรับตัวยานั้นๆจะมี 4 ระดับค่ะ ระดับที่1(สีเขียว): ความเสี่ยงต่ำมาก ปลอดภัยต่อการให้นมบุตร, ระดับที่2(สีเหลือง): ความเสี่ยงต่ำ ค่อนข้างปลอดภัยต่อการให้นมบุตร ทางเว็บไซต์จะมีทางเลือกแนะนำสำหรับตัวยาใกล้เคียงที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าให้ด้วย, ระดับที่3(สีส้ม) ความเสี่ยงสูง และระดับที่4(สีแดง) ความเสี่ยงสูงมาก ไม่ควรใช้ระหว่างให้นมบุตร หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรยังโรงพยาบาลที่คุณแม่ไปรับการรักษาก็จะดีที่สุดค่ะ

ระดับความเสี่ยงสุดท้ายนี้ OnionXoXo ขอให้คุณแม่ Working Women เตรียมตัวกลับไปทำงานอย่างมั่นใจและมีความสุข ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่าน ทั้งคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงาน คุณแม่Full-Time คุณแม่สายปั๊ม คุณแม่สายเข้าเต้า คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วน นมผสม หรือนมผงล้วนด้วยค่ะ การเป็นแม่นั้นเหนื่อยมาก ขอให้คุณแม่ทุกท่านสู้ๆเพื่อลูกน้อย เพื่อตัวคุณแม่เอง และครอบครัวค่ะ

บทความโดย: OnionXoXo...หัวหอมจุฟ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์