อื่นๆ

กลิ่นอายบอนสี: จากเหลืองแหวกสู่เหลืองบุศราคัม

189
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
กลิ่นอายบอนสี: จากเหลืองแหวกสู่เหลืองบุศราคัม

จากข้อมูลในหนังสือเกี่ยวกับบอนสีหลายๆเล่ม หรือตามสื่อ internet  หากผ่านตาใครก็คงทราบกันดีว่า บอนสีในสยามเมืองยิ้มของบ้านเรานั้น เป็นที่นิยมชมชอบกันมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยุคนั้นมีการสร้างพระราชอุทยานในกรุงเทพมหานครหลายแห่ง ซึ่งเป็นแหล่งรวมพันธ์ุไม้มากมายหลายชนิดรวมทั้งบอนสีด้วย ในอดีตนั้น การตั้งชื่อบอนสีมีการตั้งชื่อตามพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ หลังจากนั้นใบไม้ลวดลายสวยอย่างบอนสี ก็ได้รับความสนใจและแพร่หลายออกไปสู่ผู้คนหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มข้าราชการและประชาชนทั่วไป จนเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมาเรียกว่า บาร์ไก่ขาว สถานที่ตั้งของบาร์ไก่ขาวก็เป็นที่ที่ยังไม่มีการทราบแน่ชัดเท่าใดนัก ว่าอยู่ตรงไหนกันแน่ แต่จากเรื่องราวในอดีตสู่ปัจจุบัน ทำให้มีการคาดคะเนว่า บาร์ไก่ขาว อาจจะอยู่บริเวณราชดำเนิน หรือ อาจเป็นที่ วัดอินทรวิหาร ในอดีตนั้นเมื่อคนรักบอนสีมารวมตัวกัน ก็มีการจัดประกวดกัน ในช่วงที่มีบาร์ไก่ขาวนั้นการตั้งชื่อบอนสีเกิดขึ้นที่สนามประกวด หรือนำไปจดชื่อกับทีมงาน บาร์ไก่ขาว ดูเหมือนว่าในช่วงที่ บาร์ไก่ขาว ก่อตั้งขึ้น เป็นยุคที่การตั้งชื่อบอนสีมีการเชื่อมโยงกับชื่อตัวละครในวรรณคดี เช่น เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งในวรรณคดีเรื่องนี้มีการกล่าวถึงใบบอนเอาไว้ด้วยว่า...

Advertisement

Advertisement

เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ เด็ดใบบอนช้อนน้ำที่ไร้ฝ้าย พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนหนอน

จากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ดูเหมือนว่าวรรณคดีเรื่องนี้ มีอิทธิพลทำให้มีชื่อบอนสีอยู่ในตับขุนช้างขุนแผนอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อดูถึงการตั้งชื่อบอนสี ดูเหมือนว่าการตั้งชื่อบอนสีที่นักเล่นบอนในอดีตให้ความสำคัญคือ ลักษณะของบอนสี กับชื่อของบอนสีนั้น เหมาะสมกันหรือไม่ ไม่ใช่ว่าอยากจะตั้งเป็นชื่ออะไรก็ตั้ง สี่ตาได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบอนสี สี่ตารู้สึกประทับใจกับนักเล่นบอนในกลุ่ม บาร์ไก่ขาว ที่ช่วยกันรวบรวมชื่อของบอนสีในยุคนั้นเอาไว้ พร้อมทั้งมีการบันทึกลักษณะบอนสีเอาไว้ด้วย บอนสีในอดีตหลายชื่อ สี่ตาไม่เคยเห็นในปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่าสูญพันธ์ุไปแล้วหรือไม่ การตั้งชื่อบอนสี ไม่ได้เป็นเพียงแค่ได้บอนสีมา 1 ต้น แล้วรีบจดตั้งชื่อเลย แต่ผู้เลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์บอนสีต้องมีความมั่นใจก่อนว่า บอนสีที่ได้มานั้น ได้มีการนำมาขยายพันธุ์แล้ว ได้สายพันธ์ุที่นิ่งและคงที่ จนมีจำนวนหลายต้น และโดยมารยาทแล้วการตั้งชื่อจะไม่ตั้งซ้ำ แม้ว่าบอนต้นนั้นจะสูญพันธ์ุไปแล้วก็ตาม

Advertisement

Advertisement

วันนี้สี่ตาขอแนะนำบอนสีสายพันธ์ุหนึ่งที่มีต้นตระกูลเป็นสายพันธ์ุเก่าแก่ เวลาสี่ตามองบอนสีต้นนี้ทีไร กลิ่นอายแห่งอดีตก็เข้ามาทำให้หยุดคิดหลายเรื่องราว และก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะรู้สึกดีใจที่มีบอนสีสายพันธ์ุนี้ไว้ในครอบครอง เป็นบอนสีลูกผสมที่มีบรรพบุรุษเก่าแก่อย่าง เหลืองแหวก และ เหลืองสังฆราช รูปของบอนสีทั้งสองสายพันธ์ุนี้เป็นรูปที่สี่ตาใช้กล้องถ่ายออกมาจากหนังสือบอนสี 2 เล่ม ที่มีในมือค่ะ

บอนสีเหลืองสังฆราช #บอนสี

เหลืองแหวกสี่ตาไม่รู้ประวัติความเป็นมามากนัก แต่เหลืองสังฆราช เป็นบอนสี่ที่อยู่ในตับขุนช้างขุนแผน มีนายเป้า บ้านเพาะชำพาณิชย์ สะพานอุเทน เป็นผู้ขอจดชื่อเอาไว้ที่สนามบาร์ไก่ขาวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เห็นพ่อและแม่แล้วดูน่าทึ่งไหมคะ ? รุ่นลูกที่สี่ตาครอบครองเอาไว้นั้นมีชื่อว่า เหลืองบุศราคัม คุณชวลิต สำเภาพานิช เป็นผู้ผสมพันธ์ุ เหลืองแหวก และ เหลืองสังฆราช ในปี พ. ศ. 2530 จนได้ลูกเป็นเหลืองบุศราคัมออกมา

Advertisement

Advertisement

เหลืองบุศราคัม

เหลืองบุศราคัม

บอนสีเหลืองบุษราคัม

จะเห็นว่าลักษณะของเหลืองบุศราคัม มีลักษณะเหมือนกับเหลืองแหวกมาก มีเค้าของเหลืองสังฆราชติดมาไม่มากนัก     สี่ตาหวังว่าผู้อ่านที่หลงใหลในบอนสีเหมือนสี่ตา คงได้กลิ่นอายของบอนสีในอดีต ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันกันบ้างนะคะ ปัจจุบันบ้านเรามีสมาคมบอนสี หากมีการทำฐานข้อมูลรายการบอนสีที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมเอาไว้ บอนสีในยุคนี้คงได้ตกทอดไปถึงคนรุ่นต่อๆไปเช่นกัน

หมายเหตุ: รูปถ่ายทั้งหมดสี่ตาเป็นผู้ถ่ายและเป็นเจ้าของรูปภาพทุกรูปค่ะ

เอกสารอ้างอิง: 1.การปลูกบอนสี โดย บุญนาค สีสด และ สุรัตน์ อังกุรวิโรจน์

2.บอนสีใบสวย โดย เจริญ เจริญสุด

3.บอนสีราชินีแห่งไม้ใบ โดย อุไร จิรมงคลการ

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน  App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
สี่ตาพาอ่าน
สี่ตาพาอ่าน
อ่านบทความอื่นจาก สี่ตาพาอ่าน

สี่ตาชอบท่องเที่ยว และทำสวนเล็กๆที่บ้าน

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์