อื่นๆ

การครอบครองปรปักษ์

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
การครอบครองปรปักษ์

Land 1ภาพถ่ายโดย Tom Fisk : pexels

การครอบครองปรปักษ์คืออะไรครอบครองแล้วได้อะไร และสิ่งที่ครอบครองนั้นคือสิ่งใด อีกทั้งเมื่อครอบครองแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะได้ทรัพย์สินนั้นมาเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ที่ครอบครองหรือไม่ เป็นคำถามที่คนทั่ว ๆ ไปต้องเกิดความสงสัยอย่างแน่นอน ว่ามันคืออะไร แต่ถ้าเป็นนักกฎหมายหรือบุคคลที่มีคดีความเกี่ยว กับเรื่องการครอบครองปรปักษ์ก็คงจะต้องรู้และเข้าใจเป็นอย่างดีเนื่องจากได้ประสบเหตุกันมา

การครอบครองปรปักษ์คืออะไรถ้าเขียนแบบภาษาง่าย ๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายนั่นก็คือการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผย ทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดิน หรือจะเป็นสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ซึ่งผู้ครอบครองนอกจากจะต้องครอบครองไว้โดยความสงบและต้องครอบครองไว้โดยเปิดเผยแล้วการครอบครองและยังจะต้องแสดงเจตนาให้เห็นว่าเป็นเจ้าของด้วย อีกทั้งยังจะต้องครอบครองทรัพย์สินนั้นให้ครบกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบังคับไว้ด้วย

Advertisement

Advertisement

กฎหมายของประเทศไทยก็ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่า "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบ ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์"

Land 2ภาพถ่ายโดย Pixabay : pexels

Land 3ภาพถ่ายโดย Nicolas Postiglioni : pexels

หลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382

1.ต้องครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น

2.ต้องครอบครองโดยความสงบ

3.ต้องครอบครองโดยเปิดเผย

4.ต้องครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ

5.ต้องครอบครองติดต่อกัน  กรณีสังหาริมทรัพย์ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี กรณีอาสังหาริมทรัพย์ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

Advertisement

Advertisement

ทรัพย์สินที่ครอบครองและเป็นคดีความกันเป็นส่วนมาก   จะเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งก็คือที่ดินและต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดินเท่านั้น ที่นี้เรามาแยกพิจารณาหลักเกณฑ์แต่ละข้อที่จะเป็นการครอบครองปรปักษ์

หลักเกณฑ์ข้อที่ 1. ผู้ครอบครอง ต้องครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น
ทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นอย่างไร  เช่น ที่ดินแปลลงหนึ่งมี นาย ก. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เนื้อที่ 1 ไร่ ได้แต่นาย ก. ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรในที่ดินแปลงดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะนาย ก.ไม่ทราบว่าตนมีที่ดินเนื่องจาก นาย ก. มีที่ดินหลายแปลง ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวแต่มีนาย ข.เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้น โดยนาย ข.เองก็ไม่ทราบหรือทราบว่าที่ดินแปลงที่ตนทำนาอยู่เป็นของ นาย ก.อย่างนี้คือการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งแม้ผู้ที่ครอบครองจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม  หาก นาย ก. ได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนา เป็นเจ้าของแล้ว ก็ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่น  ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของครอบครองโดยเปิดเผย และถ้าครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ เป็นเวลาไม่น้อย กว่า 10 ปี ผู้ครอบครองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ซึ่งการนับระยะเวลาที่ครอบครองที่ดินของผู้อื่นโดยสำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของผู้ครอบครองต้องถือว่าผู้ครอบครองได้ครอบครองที่ดินของผู้อื่น การนับระยะเวลาในการครอบครองจึงต้องนับแต่วันที่ครอบครองไม่ใช่นับแต่วันที่รู้ว่าที่ดินที่ตนครอบครองนั้นเป็นที่ดินของผู้อื่น

Advertisement

Advertisement

หลักเกณฑ์ข้อที่ 2.ผู้ครอบครอง ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินนั้นโดยสงบ

อย่างไรถึงเรียกว่าเป็นการครอบครอง "โดยสงบ" คำว่าโดยสงบหมายถึง ผู้ครอบครองอยู่ในที่ที่ครอบครองโดยไม่ได้ถูกเจ้าขอที่แท้จริงกำจัดหรือขับไล่ให้ออกไป หรือไม่ได้ถูกฟ้องร้อง  แต่ถ้าเจ้าของที่แท้จริงกับผู้ครอบครองโต้งเถียงกันเฉย ๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ
ตัวอย่างที่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ เช่น เจ้าของที่ดินมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ครอบครองที่ดินและนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจสอบและแจ้งให้ผู้บุกรุกออกจากที่พิพาทหรือต่างฝ่ายต่างอ้างความเป็นเจ้า

หลักเกณฑ์ข้อที่ 3.ผู้ครอบครอง ต้องครอบครองโดยเปิดเผย

ครอบครองโดยเปิดเผยหมายถึง จะต้องไม่มีการปิดบังทรัพย์สินที่ตนครอบครอง

Land 3ภาพถ่ายโดย Tom Fisk : pexels

หลักเกณฑ์ข้อที่ 4.ผู้ครอบครอง ต้องมีเจตนาเป็นเจ้าของการมีเจตนาเป็นเจ้าของ

การแสดงเจตนาว่าเป็นเจ้าของไม่จำเป็นต้องแสดงต่อสาธารณะว่าตนครอบครองที่ดิน เพื่อจะแย่งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน

ตัวอย่างกรณีไม่มีเจตนาเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองเข้าครอบครองที่ดินและรับว่าถ้าเจ้าของจะเอาที่ดินก็จะคืนให้เช่นนี้การครอบครองที่ดินจึงมีลักษณะเป็นการครอบครองชั่วคราวเพราะไม่มีเจตนาครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองเห็นว่าเจ้าของที่ดินมาดูที่ดินนาน ๆ ครั้ง เนื่องจากเจ้าของที่ดินอยู่ห่างไกล จึงเข้าไปครอบครองที่ดิน เมือเจ้าของที่ดินรู้เรื่องเจ้าของที่ดินจึงแสดงตน ที่ดินนั้นมีกรรมสิทธิ์ผู้ครอบครองก็ยอมคืนที่ดินส่วนนั้นให้ไปโดยไม่ได้โต้แย้งการครอบครอง  จึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยเจตนามิได้เป็นเจ้าของ

หลักเกณฑ์ข้อที่ 5. ทรัพย์สิน และระยะเวลาที่ต้องครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ต้องครอบครองกันเป็นเวลา 10 ปี

หลักเกณฑ์ข้อนี้ ถือว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญมาก คือต้องนับระยะเวลาที่ครอบครองและทำประโยชน์ให้ครบกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าไม่ครบระยะเวลาก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ผู้ครอบครองได้ครอบครอง กล่าวคือ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินนั้นต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดินและครอบครองนับระยะเวลาติดต่อกันจนครบ 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะต้องครอบครองนับระยะเวลาติดต่อกันจนครบ 5 ปี ถึงจะได้กรรมสิทธิ์ ส่วนการจะได้กรรมสิทธิ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น จะต้องให้ศาลเป็นผู้มีคำสั่ง ฉะนั้นบทความเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์นี้ เป็นหลักเกณฑ์คร่าว ๆ  ยังไม่เจาะลงลึกไปถึง รายละเอียดปีกย่อยต่างๆ ในเรื่องการครอบครองปรปักษ ซึ่งในส่วนที่จะลงลึก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการร้องขอต่อศาล หรือการได้คำสั่งศาลมาผู้เขียนจะทยอยเขียนลงไปให้ท่านผู้อ่าน ได้อ่านในครั้งต่อไป

ขอบคุณครับ ทนายภาณุพงศ์ วรรณวงศ์ 095-8254562

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
Panupong
Panupong
อ่านบทความอื่นจาก Panupong

ภาณุพงศ์ วรรณวงศ์ อายุ 49 ปี ประกอบอาชีพทนายความ

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์