อื่นๆ
บอนป้าย: นางไหมสาวใช้ในวรรณคดี
สวัสดีค่ะอาทิตย์นี้สี่ตามีเรื่องราวของบอนป้ายมาให้อ่านกันค่ะ ในแวดวงบอนสีจะมีคำศัพท์ที่น่าสนใจมาให้ผู้หลงใหลในบอนสีได้เรียนรู้ สี่ตามีคำที่คุ้นชินสำหรับคนที่อยู่ในโลกแห่งบอนสี 2 คำค่ะ คำแรกก็คือคำว่า "ตับ" ตอนสี่ตาเริ่มเข้าแวดวงบอนสีใหม่ๆ สี่ตาก็งงค่ะ เห็นเรียกกันตับโน่นตับนี่ จนสี่ตาสงสัยทำไมต้องใส่ตับลงไปในชื่อบอนด้วย พอเริ่มเรียนรู้จึงถึงบางอ้อว่า คำว่าตับนั้น เป็นการจัดกลุ่มของบอนสีตามลักษณะและสีสันของใบ ตับของบอนสีที่นิยมเลี้ยงกันมากในอดีตคือ ตับขุนช้างขุนแผนตับนกตับพระอภัยมณี ในส่วนของตับขุนช้างขุนแผนนั้นมีบอนสีหลากหลายสายพันธ์ุมากค่ะ บอนสีหนึ่งสายพันธ์ุที่อยู่ในตับขุนช้างขุนแผนก็คือ นางไหม สี่ตารับนางไหมเข้าบ้านด้วยต้นขนาดเล็กๆ แต่ก็ไม่ถึงกับจิ๋วมาก มีใบเล็กๆ 2 ใบติดมาด้วย
ดูลักษณะตามรูปแล้ว จะเห็นใช่ไหมคะว่านางไหมมีแถบสีแดงไปทับอยู่บนสีใบเขียวๆ เหมือนกับการจับพู่กันเอาสีลงมาป้ายบนใบเขียวๆ เลยกลายเป็นที่มาของคำว่า บอนป้าย มาดูเรื่องราวของบอนสีสายพันธ์ุนี้ที่มีชื่อว่านางไหมกันค่ะ ผู้ที่ให้ชื่อบอนสีสายพันธุ์ นางไหม ก็คือคุณเปลื้อง สุเดช แห่งถนนนครสวรรค์ สำหรับบอนป้ายสายพันธ์ุนี้ สี่ตาพบว่านางไหมใช้เวลาในการพักฟื้นคืนสภาพจากการเดินทางข้ามจังหวัดพอสมควร แต่เมื่อฟื้นตัวแล้วก็เติบโตเร็ว ให้ใบใหญ่ๆ ออกมาต่อเนื่อง พร้อมกับแถบป้ายแปลกตา
Advertisement
Advertisement
อ้างอิงถึงปริญญานิพนธ์เรื่องการสำรวจการปลูกบอนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง (โดยคุณธำรงค์ กิตติปกรณ์) มีการระบุไว้ว่า ลักษณะของนางไหมนั้นใบเป็นพื้นเขียว มีเม็ดเล็กสีขาวกระจายทั่วไป และมีป้ายสีแดงทับ กระดูกมีสีแดง เส้นแดง ก้านพื้นสีสมอแก่ค่อนข้างดำ นางไหมของสี่ตามีลักษณะตรงกับที่ระบุไว้ในปริญญานิพนธ์เล่มนี้ แต่มีอยู่หนึ่งใบ นางไหมให้เม็ดสีชมพูออกมาปรากฎกายบนใบ จนสี่ตาอดสงสัยไม่ได้ว่า เกิดการผันแปรทางสายพันธ์ุขึ้นมาหรือไม่
พอเห็นแบบนี้ทำให้สี่ตาคลางแคลงใจว่า ลักษณะใบที่มีเม็ดชมพูแบบนี้เหมือนกับพระพันวษาเขียวหรือไม่ หรือการเปลี่ยนแปลงจากเม็ดขาวเป็นชมพู จะไปเหมือนกับบอนสีนกกระทา ที่บางจังหวะช่วงเวลาก็มีจุดเม็ดชมพูออกมาให้เห็น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถือว่าเป็นความอัศจรรย์ของโลกบอนสีจริงๆ ค่ะ นางไหม เป็นบอนป้ายสายพันธ์ุแรกและสายพันธ์ุเดียวที่สี่ตามีไว้ในครอบครองตอนนี้ นางไหม หนึ่งในตัวละครของวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นสาวใช้ของนางสร้อยฟ้า พระราชธิดาของเจ้าเชียงอินทร์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่กับนางอัปสรผู้เป็นพระมเหสีของเจ้าเชียงอินทร์ นางสร้อยฟ้า ที่กลับกลายเป็นคนพลัดถิ่น เนื่องจากต้องจากถิ่นเดิมทางเหนือ มาอยู่อยุธยา และแน่นอนค่ะ นางสร้อยฟ้า เป็นบอนสีอีกหนึ่งสายพันธ์ุที่อยู่ในตับขุนช้างขุนแผน สี่ตาเคยเห็น นางสร้อยฟ้าในรูป เป็นบอนสีที่มีสีออกโทนหวานมากๆ ปัจจุบันสี่ตาไม่เคยเห็น นางสร้อยฟ้า ในตลาดการซื้อขายบอนสี ไม่แน่ใจว่าไปพลัดถิ่นอยู่แห่งหนใด หากมีโอกาสได้เจอ สี่ตาก็อยาได้บอนสี นางสร้อยฟ้า ให้มาอยู่คู่กับบอนสี นางไหม สาวใช้ของเธอ
Advertisement
Advertisement
คงจะได้รับรู้เรื่องราวของบอนป้าย และนางไหมกันพอหอมปากหอมคอแล้วนะคะ รอบหน้ามารู้จักบอนสีสายพันธ์ุอื่นๆ ที่อยู่ในครอบครองของสี่ตากันต่อค่ะ
หมายเหตุ: รูปถ่ายทั้งหมดสี่ตาเป็นผู้ถ่ายและเป็นเจ้าของรูปภาพทุกรูปค่ะ
เอกสารอ้างอิง: ปริญญานิพนธ์เรื่องการสำรวจการปลูกบอนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผู้แต่ง คุณ ธำรงค์ กิตติปกรณ์
อัปเดตข่าวสาร และแหล่งเรียนรู้หลากหลายแบบไม่ตกเทรนด์ บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !
ความคิดเห็น