อื่นๆ

อยากเป็นวิทยากร ก็ต้องหาเวที แต่จะหาได้ที่ไหน?

863
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
อยากเป็นวิทยากร ก็ต้องหาเวที แต่จะหาได้ที่ไหน?

TrueID In-Trend ฉบับที่ 12 “อยากเป็นวิทยากร....อยากจะพูด  ก็ต้องหาเวทีพูด แต่จะหาได้ที่ไหน”

ลุงแอ็ดเอง..ก็คลุกกับชีวิตในการเป็นเป็นวิทยากร...พูดแล้ว ก็ไม่ค่อยเท่าไหร่  หากจะเทียบกับ อาจารย์ทินวัฒน์, อาจารย์ไพบูลย์ หรืออาจารย์เสนีย์ แดงวัง แล้ว ลุงแอ็ดก็ยังนับได้ว่า เป็นรุ่นกระจอก เพราะตอนลุงแอ็ดเริ่มหนีงานออกมาบรรยายข้างนอกนั้น ท่านที่เอ่ยถึง และที่ไม่ได้เอ่ยถึง เขาก็ออกมาตั้งสำนักศิลปะการพูดกันอยู่แล้ว แต่บริษัทจัดฝึกอบรมยังมีไม่มากเท่าไหร่ มีแต่ TMA ซึ่งเปิดบริการอบรมวิชากลยุทธ์การตลาดสมัยใหม่ อะไรทำนองนี้

ตอนนั้น ลุงแอ็ดยังอยู่ที่ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ก็ได้หิ้วกระเป๋าเดินตาม คุณธวัช ยิบอินซอย ไปยัง TMA บ่อยๆ เพราะส่วนมากได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่นั่น ซึ่งการบรรยายก็จะเป็นภาษาอังกฤษ (เพราะคุณธวัช เพิ่งกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ ยังพูดภาษาไทยไม่ค่อยกระชับ) ลุงแอ็ดก็หาได้เก่งภาษาอังกฤษอะไรไม่ แต่อาศัยคุ้นเคยกับสำเนียงของคุณธวัช ก็มีโอกาสได้อธิบายและแปลความเป็นภาษาไทย ให้ผู้ที่เข้าสัมมนาที่ไม่เข้าค่อยเข้าใจได้บ้าง การฝึกอบรมในสมัยก่อน ที่เรียกว่า “การละลายพฤติกรรม” ก็ไม่มี  “วอล์คแรลลี่” ก็ไม่มี  กิจการเกมส์ต่างๆ ก็ไม่มี  แปลว่า  อบรมสัมมนากันแต่เนื้อล้วนๆ จะพูดเรื่องอะไร  ก็เอาเนื้อหาสาระมาสอนกันดื้อๆ และก็พูดกันครึ่งวัน หรืออย่างมากหนึ่งวันจบ ไม่มียืดเยื้อ

Advertisement

Advertisement

ซึ่งผิดกับสมัยนี้นี้ลิบลับ ซึ่งการสัมมนาส่วนใหญ่จะออกมาในรูปของ Edutainment คือมีการ Entertainment เข้าไปผสมไม่มากก็น้อย  มีการเล่นเกมส์เพื่อการเรียนรู้ต่างๆ ผู้เข้าสัมมนาก็ชอบ วิทยากรก็สนุก ก็เป็นการเปลี่ยนไปตามกระแส รสนิยมของผู้เข้าสัมมนา อาจจะเป็นเพราะสมัยก่อน การแข่งขันมันไม่ดุเดือดเลือดพล่านแบบสมัยนี้ .... สมัยนี้ รับรอง คนยิ่งเครียดจากการงานอยู่แล้ว ให้ไปทำ Workshop เอาเรื่อง Strategy หนักๆ มาพูดกันอย่างที่ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ทำ ที่เอาผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลกเข้าไปเก็บตัวเดือนสองเดือน แล้วกลับออกด้วยความรู้ที่แปลกใหม่ ทันสมัย เพื่อพัฒนาโลกของธุรกิจนั้นก็เห็นจะทำไม่ได้ในการอบรมสัมมนาในระดับนี้

 ยิบอินซอย - คุณธวัช ในงานแสดงสินค้าอเมริกัน แต่ที่ลุงแอ็ดคิดว่า จะเป็นประโยชน์แด่ผู้ที่เริ่มต้นจะเป็นวิทยากรทั้งหลาย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าที่ต้องมีการบรรยายต่อหน้าชุมนุมชน  ลุงแอ็ดขอแนะนำให้ไปเรียนเรื่องการพูดในที่ชุมนุมชน ซึ่งเปิดขึ้นมาหลายแห่ง  มีอาจารย์ที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ทีมงานที่ดำเนินการเรื่องนี้มาหลายสิบปี เช่น บริษัท MTL ของ อาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์, การอบรมพัฒนาทักษะการพูด ซึ่งมีอาจารย์สุขุม, อาจารย์พนม, อาจารย์ถาวร, อาจารย์เสน่ห์ เป็นต้น...ซึ่งส่วนมากก็เป็นหลักสูตรคล้ายๆ กัน เพียงแต่เอามาดัดแปลงเสริมแต่งให้เข้ายุคเข้าสมัยเท่านั้น

Advertisement

Advertisement

เชื่อไหมครับ  ตั้งแต่ลุงแอ็ดได้ขึ้นมาเป็นเซลล์เมเนเจอร์เอง ไม่ว่าที่บริษัท ยิบอินซอย จำกัด หรือ บริษัท ซัมมิท คอมพิวเตอร์ จำกัด พนักงานขายที่อยู่ภายใต้การปกครองของลุงแอ็ด จะต้องเข้าคอสการอบรมหลักสูตรดังกล่าวนี้ทุกคน โดยเฉพาะ กับบริษัท MTL ของอาจารย์ทินวัฒน์ ซึ่งส่งเป็นประจำ และกำชับด้วยว่า “เอ็งต้องเอาถ้วยประกวดรางวัลหนึ่งรางวัลใดมาให้ได้  จะได้ไม่เสียชื่อที่คุณอมร เคยประกวดการพูดได้ถ้วยมาแล้ว”  และหลายๆ คนก็ได้ถ้วยประกวดกลับมา  และอาจารย์ทินวัฒน์ก็ยินดีที่จะให้ผู้มีแววที่จะเป็นวิทยากรได้ เป็นผู้สังเกตการณ์ก่อน โดยให้เป็นคนจับเวลา เป็นคนให้คะแนน จนถึงให้คำแนะนำ และวิจารณ์ผู้ที่ออกมาพูดในที่สุด

และท้ายที่สุด  ก็เอาตัวไปเป็นวิทยากรเสียเลย  ดังนั้น  มีผู้ที่ถามมาหลังไมค์ก็เยอะเหมือนกันว่า  “อยากเป็นวิทยากร....อยากจะพูด  ก็ต้องหาเวทีพูด แต่จะหาได้ที่ไหน”  อย่างของลุงก็ไปหาโรงเรียนพาณิชย์ที่เคยเรียนมา และอาสาพูดให้เด็กนักเรียนฟังเป็นเวที .....  ต่อมาก็มีรุ่นหลังๆ ที่ส่งไปให้อาจารย์ทินวัฒน์ฝึกให้...ไม่ได้อะไรหรอกครับ  ไปสมัครให้เขาใช้ฟรีนะ  แต่คนเรา ก็อยากจะเก่งด้านนี้จริงๆ มันก็ต้องลองของฟรีไปก่อนใช่ไหมครับ....ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้ อาจารย์ทินวัฒน์ ท่านยังมีนโยบายฝึกคนอย่างนี้อยู่หรือเปล่า...ถ้ายังมีอยู่  ลุงจะส่งคนไปให้ใช้ฟรีๆ ครับ

Advertisement

Advertisement

DSC04482.JPG การบรรยายในสมัยก่อน ที่ทำไปก็เพราะความชอบ เป็นเรื่องที่หนึ่ง...ปกติก็เป็นคนที่รู้เรื่องอะไร  ชอบอะไรไม่ได้  ชอบแล้วก็อยากให้คนอื่นเขาชอบตาม  อย่างเช่นเวลาลุงอ่านหนังสือที่ถูกใจเล่มหนึ่งอย่างนี้  อ่านสองสามเที่ยวแล้ว ก็ชอบ ยังไม่พอ  ยังคะยั้นคะยอให้เพื่อนฝูงอ่านด้วย บางทีซื้อให้เขาอ่านอีกเล่มหนึ่งเลย แล้วจึงมาถกกันว่า หนังสือเล่มนี้ เอ็งเห็นว่าอย่างไร....มันทำให้เกิดนิสัยขึ้นมากอย่างหนึ่งว่า  จะเรียน จะอ่านหนังสือเรื่องอะไร  มันต้องอ่านให้เข้าใจ “เข้าใจพอที่จะไปคุยกับคนอื่นได้” ไม่ใช่อ่านแล้วเก็บไว้คนเดียว  ต่อไป นิสัยนี้ก็พัฒนาขึ้นไป “เข้าสัมมนาเรื่องอะไร  ก็ต้องเก็บไปสอนผู้อื่นได้”....อันนี้เป็นประโยชน์แท้ๆ เทียวครับ  ลองสังเกตดูผู้เข้ามาอบรมแต่ละคนดูซิครับ  บางคนนั่งเฉยๆ เวลาพูดอะไรไป ก็พยักหน้าหงึกหงัก แปลว่าเข้าใจ  แต่ไม่จดอะไรสักอย่าง   บางคนจดยิกเลย นอกจากจดยิกๆ แล้ว ยังเขียนแผนภูมิ Mind map ออกมาได้ด้วย...ลุงเคยถามเขาว่า “นี่คุณจะต้องเอาไปสอนลูกน้องต่อใช่ไหม..” คำตอบก็คือใช่ ทุกครั้ง มันทำให้ลุงต้องขอเวลาเลิกแล้ว ให้ความรู้เขาเพิ่มเติมในการที่จะต้องไปสอนผู้อื่นเขา

การที่ผู้เข้าอบรมมีความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะใช่โอกาสนี้ ศึกษาแล้วเอาไปสอนต่อ ไม่ว่าจะมีหน้าที่หรือไม่ก็ตาม ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้เข้าอบรมผู้นั้น ซึ่งวิทยากรควรจะสังเกตให้ดี เพราะถ้าเจอคนอย่างนี้เข้า  เราจะมีวิทยากรที่มีคุณภาพมากขึ้นในอนาคตครับ เพราะการที่ลุงแอ็ดต้องบรรยายเดี่ยวเกี่ยวกับระบบ “คอมพิวเตอร์” ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ยังเป็นของใหม่มาก ยังไม่เป็นที่รู้จักกันสักเท่าไหร่ และลุงก็ไม่ใช่นักเทคนิคที่ได้เรียนรู้มาโดยเฉพาะ  ก็อ่านหนังสือเอาบ้าง  ทำความเข้าใจกับคนที่มีความรู้ ให้เขาอธิบายให้ฟังบ้าง ฟังทีหนึ่งก็จะเป็นลม เพราะผู้อธิบาย อธิบายเป็นภาษาเทคนิค ดังนั้น  ลุงก็ต้องซัก... ซัก.... ซัก...เอาจนเข้าใจให้ได้ว่า ...ไอ้ที่พูดนั้น มันคืออะไร  ซักจนกระทั่งเข้าใจ ก็เหนื่อยกันทั้งผู้เรียนและผู้สอนว่างั้นเถอะ

MG_0392 ลุงแอ็ด ที่นี้ ลุงก็ต้องไปพูดหน้าชั้น พูดให้คนอื่นเขาฟัง ซึ่งคนส่วนใหญ่เขาก็พอจะรู้นิดหน่อย ว่าเจ้าคอมพิวเตอร์นี้มันทำอะไรได้บ้าง ลุงก็ต้องหาวิธีพูดให้ฟังแล้วเข้าใจ หยิกยกตุ๊กตุ่น ตุ๊กตามาอธิบาย เปรียบเทียบให้เห็นภาพพจน์  พูดง่ายๆ ว่า “ทำของยากให้กลายเป็นของง่าย”  แต่พอไปพูดกับนักเทคนิก  ตอนแรกก็ต้องเอานักเทคนิกไปพูด เขาจะได้พูดภาษาเดียวกัน แต่พอได้ฟังนานๆ เข้า ก็เริ่มเข้าใจ  ตอนนี้ก็หัด “พูดให้ของง่ายๆ กลายเป็นของยาก วิจิตรพิศดาล” เพื่อสร้าง Value ให้กับระบบเครื่องที่เสนอ

ลุงสังเกตพนักงานขายปัจจุบันนี้ ยังไม่เข้าใจเลยว่า จะพูดอย่างไร จากของง่ายให้กลายเป็นของยาก และจะพูดอย่างไรให้ของยากกลายเป็นของง่าย  ตอนลุงทำ Workshop สอนเซลล์ขายคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ ก็เคยสร้างเคสของจริง ที่ประสบมาด้วยตนเอง แล้วหัดให้ผู้เข้าสัมมนาลองปฏิบัติดู  ก็ทำกันไม่ค่อยได้เท่าไหร่  ซึ่งลุงจะเล่าให้ฟังทีหลัง พอขึ้นมาเป็นผู้จัดการ ต้องคุมลูกน้องหลายคน ต้องเรียนรู้เรื่องการบริหารงาน บริหารคน  ก็ได้เข้ารับการอบรมจากสถาบันต่างๆ บ่อยขึ้น  ก็เพราะนิสัยที่ชอบ “เรียน แล้วเอามาสอน” ให้ได้  ก็ได้รายละเอียดมาเยอะแยะ  ได้มาแล้ว  ก็เอามาสอนพนักงานบริษัททุกคราวไป ไม่ว่าจะเป็นการอบรมต่างประเทศหรือในประเทศ...ทำให้ตอกย้ำความรู้ที่เราได้ศึกษามาอย่างจริงจัง  พอเอามาสอนพนักงานบริษัทแล้ว มันก็มันเขี้ยว...พอเขามีสัมมนาข้างนอก ในเรื่องที่พอจะพูดได้ ก็อาสาเขาสมัครเขาไปพูดเรื่องที่เราพอจะเข้าใจ  ไม่ได้เงินไม่เป็นไร

ตอนแรกๆ มีความรู้ที่แน่ใจว่าชัวร์  ก็เอาครึ่งวันก่อน  พอพูดบ่อยๆ ขึ้น ก็ขยับมาเป็นหนึ่งวัน ... เขาก็ให้สตางค์มาบ้างเป็นค่ารถค่ารา...  ตอนบรรยายตอนแรกๆ ก็เขียนเป็น scrip ออกมาก่อน  บางทียาวเป็นหน้าๆ เลยทีเดียว  ... แล้วเจ้า Scrip นี้ก็ทำประโยชน์ให้กับอาชีพของตนเองอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ “การเขียนหนังสือ” เพราะลุงจะเก็บเจ้า Scrip นี้ไว้เป็นปึกๆ ตอนนั้น ก็มีหนังรายสัปดาห์ ชื่อ “ข่าวจัตุรัส” ของอาจารย์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ (อดีตที่ปรึกษาใหญ่ของพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง) เป็นบรรณาธิการ เขาออกหนังสือเล่มบางๆ มีเนื้อหาสาระหลากหลาย ทั้งการบ้าน การเมือง เศรษฐกิจ วิชาการ  ... เรื่องคอมพิวเตอร์ก็กำลังเป็นที่ขึ้นชื่อลือชากันมากในสมัยนั้น  คุณไพศาล มังกรไชยา ซึ่งรู้จักกันดีก็มาขอร้องให้เขียนเรื่อง "คอมพิวเตอร์" แบบชาวบ้าน  ก็ได้เขียนให้ไปลงในหนังสือ “ข่าวจัตุรัส” ทุกอาทิตย์  จนกระทั่งรวมเป็นเล่มได้ เป็น Pocket Book ที่เขียนอธิบายเรื่องราวของคอมพิวเตอร์  โดยไม่ใช่ผู้รู้ และเป็น Pocket book เล่มเดียวในประเทศไทย ที่มีคนสนใจมากที่สุด ขายดีมาก จน สต๊อกของลุงเองก็หมดเกลี้ยงจนบัดนี้ ได้ไปหาเจอในร้างหนังสือโบราณเข้าเล่มนึ่ง เลยต้องซื้อกลับมาเพื่อเป็นที่ระลึก

071_0.JPG ตอนนั้นปี พ.ศ. 2521 คุณอมร ถาวรมาศ ก็ได้เห็นประกาศจากบางกอกโพสต์ว่า มีบริษัทคอมพิวเตอร์กำลังประกาศหาคนที่จะมารันบริษัท ในตำแหน่ง GM ซึ่งมีไม่บ่อยนัก  เนื่องจากมันมีอยู่ไม่กี่รายในตลาด  ลุงเช็คแป๊บเดียวก็รู้ว่า  เป็นบริษัทของซี.เจ. ฮวง ซึ่งตอนนั้น เขาต้องการที่จะเปิดตัวขายระบบคอมพิวเตอร์อย่างเป็นทางการ ลุงซึ่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการของบริษัทในเครือของยิบอินซอย ซึ่งก็มีเงินเดือนดี ตำแหน่งสูง มีลูกน้องที่ไว้ใจได้ กับนาย ซึ่งเปลี่ยนจากคุณธวัช ยิบอินซอย มาเป็น คุณเทียนชัย ลายเลิศ (ขออนุญาตเอ่ยนาม..) ก็สนิทสนม กลมเกลียว รู้ใจกันเป็นอย่างดี ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องลาออก

แต่เนื่องจากการคุยกันระหว่างเพื่อนฝูง และผู้บริหารของบริษัท ซัมมิท คอมพิวเตอร์ ขณะนั้น ต่างก็ยืนยันว่า  ซี.เจ.ฮวง ต้องการคนจริงๆ ที่จะมา Run บริษัทฯ ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่....มันทำให้ลุงย้อนกลับมานึกถึงเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2507 ที่ลุงเข้าไป “ขายตัว” ที่ บริษัท ยิบอินซอย โดยเอาตัวเข้าไป Demonstrate แล้วก็ได้รับเข้าทำงานครั้งแรกในตำแหน่ง “พนักงานขายฝึกหัด” อัตราเงินเดือน 650.-บาท ทั้งๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์แม้แต่นิดเดียว  บัดนี้  โอกาสมาถึงแล้ว  ขอลองดูอีกสักครั้งซิว่า  ตอนนี้ ลุงมีประสบการณ์ในการขายและการบริหารมาแล้ว 14 ปี  ไต่เต้าจากเซลล์แมนขึ้นสู่รอง MD ถ้าจะ “ขายตัว” เป็นครั้งที่สอง  เราจะขายได้หรือไม่และ.....เขาจะซื้อหรือไม่

ลุงแอ็ด ถาวรมาศ (นายอมร  ถาวรมาศ)
152/9 ถนนนนทบุรี 1 อ.เมือง จ. นนทบุรี 11000
E- Mail : [email protected]
Line ID : AMORNTAR   Tel : 081 619 8071

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์