ไลฟ์แฮ็ก

5 เทคนิครับมือสถานการณ์ เมื่อต้องเผชิญความขัดแย้งกับผู้ใหญ่

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
5 เทคนิครับมือสถานการณ์ เมื่อต้องเผชิญความขัดแย้งกับผู้ใหญ่

ในชีวิตการทำงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหลายระดับ ซึ่งแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ ความคิด อุปนิสัยใจคอแตกต่างกันไป บางครั้งจึงอาจเกิดความขัดแย้งหรือกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา

ความขัดแย้งในที่ทำงาน(ภาพจาก Pixabay.com)

ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นกับบุคคลทุกระดับ แม้บุคคลบางกลุ่มจะเป็นกลุ่มที่เราควรหลีกเลี่ยงการขัดแย้งกับพวกเขา นั่นคือ คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เจ้านาย รุ่นพี่ หรือผู้ที่อาวุโสกว่าไม่ว่าจะทางใด  เพราะการขัดแย้งกับบุคคลเหล่านั้นย่อมจะไม่ก่อให้เกิดผลดีมากเท่ากับผลเสียที่อาจเกิดขึ้น ดังสุภาษิตไทยโบราณว่า "เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง" หรือ "ถ่มน้ำลายรดฟ้า"

แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับผู้ใหญ่ได้ ก็ควรเรียนรู้ที่จะรับมือกับสถานการณ์ และคลี่คลายลงให้เร็วและนุ่มนวลที่สุด ด้วยเทคนิคที่ผู้เขียนขอนำเสนอในวันนี้ คือ

Advertisement

Advertisement

ประการแรก ไม่ว่าในความขัดแย้งนั้น ใครจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด แต่ไม่ควรโต้เถียงในลักษณะที่มุ่งหักล้างอีกฝ่ายที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ในลักษณะที่เป็นการ"หักหน้า" ต่อหน้าคนอื่น ๆ  เพราะธรรมชาติอย่างหนึ่งของผู้ใหญ่ ย่อมจะมีทิฐิและความเชื่อมั่นในตัวเองสูง  ต่อให้อาจจะรู้ตัวว่าตนเป็นฝ่ายผิด  แต่ก็คงยากที่จะยอมรับ เพราะจะทำให้รู้สึกว่าเป็นการเสียหน้าหรือทำลายความน่าเชื่อถือ  การที่เราซึ่งเป็นผู้อาวุโสน้อยกว่ายังดึงดันโต้เถียงชนิดไม่ยอมแพ้ในสถานการณ์แบบนั้น ก็คงไม่เกิดผลดีอะไร ยิ่งจะทำให้บรรยากาศเลวร้ายหรือติดลบลงไปอีก  ตัวเราเองก็อาจกลายเป็นถูกมองว่าเป็นเด็กก้าวร้าว ไม่มีสัมมาคารวะได้

ทางที่ดีควรตั้งรับในลักษณะเหมือนนักมวยที่ตั้งการ์ดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกชกจนเจ็บตัวก่อนก็พอ ยังไม่ต้องชกสวนไป  แล้วค่อยหาโอกาสอธิบาย ชี้แจง เป็นการส่วนตัวในเวลาที่บรรยากาศดีขึ้นแล้ว น่าจะทำให้ผู้ใหญ่เปิดใจรับฟังเราได้มากกว่า

Advertisement

Advertisement

ชี้แจง อธิบาย ด้วยเหตุผล(ภาพจาก Pixabay.com)

ประการที่สอง ในการอธิบายหรือชี้แจงต่อผู้ใหญ่นั้น พึงหลีกเลี่ยงการพูดในลักษณะของการอวดภูมิรู้ว่าตนเหนือกว่า ทำนองยกตนข่มท่าน แม้ในความเป็นจริงเราอาจจะมีความรู้ความเข้าใจ ทักษะ ประสบการณ์ที่เป็นความถนัดหรือชำนาญเฉพาะทางมากกว่าก็ตาม  เหตุผลก็คล้ายกับข้อแรก คือ คนที่เป็นผู้ใหญ่นั้น มักจะยึดมั่นในความอาวุโสของตน กับแนวคิดที่ว่า 'อาบน้ำร้อนมาก่อน" จึงไม่ง่ายนักที่จะยอมรับว่า เด็กรุ่นหลังที่มีอาวุโสน้อยกว่า ซ้ำยัง(อาจจะ)เป็นคนที่อยู่ในการปกครองดูแลจองตนนั้น จะมีความ "เก่ง" เหนือความ "เก๋า" ของตนไปได้

ดังนั้น เมื่อต้องอธิบายชี้แจงกับผู้ใหญ่ที่มีแนวคิดแบบนี้ ก็ควรใช้แนวทางอธิบายประมาณว่า แนวทางของผู้ใหญ่นั้นก็ไม่ผิดอะไร  แต่เรายกหลักการหรือข้อมูลอ้างอิง เพื่อสนับสนุนแนวทางอีกอย่างหนึ่งที่เรานำเสนอ เพื่อเป็นข้อพิจารณาอีกข้อหนึ่ง

Advertisement

Advertisement

ประการที่สาม ซึ่งควรระลึกไว้ควบคู่กับสองข้อแรกที่กล่าวมา คือ แม้จะจัดการความขัดแย้งโดยใช้วิธีการเสนอแนวคิดที่เห็นต่างอย่างนุ่มนวล หลีกเลี่ยงการโต้แย้งในลักษณะ "งัดข้อ" กับผู้ใหญ่ก็ตาม  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ต้องรักษาจุดยืนในแนวทางที่ถูกต้องของเราไว้ด้วย  เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่มีมาตรฐานการทำงานที่แน่ชัด เหมือนไม้หลักปักเลนที่โอนเอนไปตามกระแสน้ำ ซึ่งบางครั้งก็จะไม่เป็นผลดี เพราะแนวทางของผู้ใหญ่นั้น แม้จะเป็นมุมมองที่อ้างว่ากลั่นกรองจากความรู้และประสบการณ์  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปราศจากช่องโหว่แห่งความบกพร่องหรือไม่มีความผิดพลาดเอาเสียเลย  หลายต่อหลายกรณีที่มุมมองของผู้ใหญ่เองก็ยังมีความคลาดเคลื่อน หรือเกิดความผิดหลง เพราะความเข้าใจผิด หรือเพราะเหตุใดก็ตาม  ในขณะที่เราซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนั้นหรืองานนั้น ๆ โดยตรง ก็ย่อมอาจจะมีแนวทางที่ถูกต้องแม่นยำกว่า  หากเราละทิ้งแนวทางที่ถูกที่ควร  เพียงเพื่อให้เป็นไปในทิศทางตามผู้ใหญ่  หรือเพียงเพื่อยุติความขัดแย้งในลักษณะ "ตัดความรำคาญ"  สุดท้ายก็อาจจะเกิดความเสียหายแก่งาน และตัวเราเองก็ต้องรับผิดชอบ

ชี้แจง อธิบาย อย่างมีหลัก(ภาพจาก Pixabay.com)

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำ คือ อธิบายความเห็นต่าง และนำเสนอแนวทางที่แตกต่างออกไปอย่างมีศิลปะจะดีกว่า

และประการที่สี่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ คือ อย่าลืมเรื่องมารยาท ความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะเรายังอยู่ในสังคมไทยที่ยังให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสและความเคารพผู้ใหญ่  ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการโต้แย้ง ชี้แจง หรืออธิบายเรื่องใด ๆ ต่อผู้ใหญ่ ก็ควรเลือกใช้คำพูดที่สุภาพ น้ำเสียงที่ไม่ห้วนหรือแข็งกระด้าง  และหากเกิดการกระทบกระทั่งกัน เราในฐานะเป็นผู้อาวุโสน้อยกว่าก็ควรเอ่ยคำขอโทษ  ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายผิดหรือไม่ก็ตาม  เพราะการแสดงออกลักษณะนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลร้ายใด ๆ ต่อผู้กระทำ ซ้ำยังจะเป็นเสน่ห์ในสายตาของคนภายนอกที่มองเข้ามาอีกด้วย

ทั้งสี่แนวทางที่ยกมานี้ นอกจากจะใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญความขัดแย้งกับผู้ใหญ่แล้ว  ยังอาจปรับประยุกต์ใช้จัดการสถานการณ์ความขัดแย้งทั่ว ๆ ไปได้ด้วย  เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญอย่างเดียวกัน คือ การกำจัดจุดที่ต่าง แสวงหาจุดร่วม  เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และร่วมกันขับเคลื่อนงานให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพปกบทความจาก Pixabay.com

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์