ไลฟ์แฮ็ก
เรื่องจริง! 5 เคล็ด(ไม่)ลับ ในการเลิกบุหรี่สำหรับคนใจอ่อน
บทความนี้สร้างจากเรื่องจริง จากสิงห์อมควันมืออาชีพที่เริ่มเข้าวงการตั้งแต่อายุ 15 ปี นั่นก็คือตัวของผู้เขียนเอง บุหรี่แทบจะเป็นส่วนนึงในร่างกายของตัวผู้เขียนมาเกือบครึ่งชีวิต แรกเริ่มเดิมที เกิดจากการลองจากคำชักชวนของรุ่นพี่ อย่างว่า พอได้ลองก็เริ่มสูบเพื่อความเท่ห์ สูบตอนดื่ม สูบตอนเข้าห้องน้ำ จนพัฒนามาเป็นสูบทุกอริยาบถในที่สุด ผู้เขียนสูบบุหรีวันละ 1 ซองเป็นอย่างต่ำ บางวัน 2 ซอง ถ้างานเครียดหรือสังสรรค์ปาร์ตี้จนฟ้าสาง ด้วยตัวผู้เขียนเองเป็นคนใจไม่แข็ง เวลาเห็นเพื่อนสูบก็หักห้ามใจไม่ได้ หรือมีเรื่องเครียดมากระทบใจเพียงนิดเดียวก็ไม่ลีลาที่จะคว้าบุหรี่มาสูบเพื่อผ่อนคลายสมอง เรียกได้ว่า มีความสุขก็สูบ ทุกข์ก็สูบ
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้เขียนอยากเลิกเกิดจาก สุขภาพที่แย่ลงประจวบเหมาะว่าลูกชายคนแรกเพิ่งเกิด ผู้เขียนจึงค้นคว้าวิธีเลิกบุหรี่จากอินเตอร์เนตและสอบถามจากคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผลนัก จนเริ่มท้อ จนแล้วจนรอดผู้เขียนได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมจากพระอาจารย์รูปนึง ท่านได้บอกเคล็ดลับในการเลิกบุหรี่มา และเคล็ดลับที่ผู้เขียนจะแชร์ต่อไปนี้เกิดจาก วิธีการทางแพทย์ปัจจุบัน,วิธีการทางธรรม และวิธีการที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ขึ้นเอง จนสุดท้ายผู้เขียนก็เลิกบุหรี่สำเร็จ เอาล่ะเรามาดูเคล็ดลับกันครับ
Advertisement
Advertisement
1.หาแรงบันดาลใจและเป้าหมายที่เร้าใจ
คิดแค่เลิกบุหรี่เฉยๆ อาจยังไม่เพียงพอ เราต้องหาแรงขับที่มีกำลังมากพอจะรีดเร้นกำลังกายกำลังใจเพื่อเป้าหมายในการเลิกบุหรี่ บางคนอาจจะทำเพื่อลูก บางคนอาจจะเพื่อเพิ่มเงินเก็บตอนสิ้นเดือน หรืออาจจะเป็นสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง บุคลิกที่ดูดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเข็มทิศในตัวเรา มันจะคอยบอกเราในหัวว่า วันนี้คุณเข้าใกล้เป้าหมายขึ้นอีกนิดหรือยัง ถ้ามีพัฒนาการก็ทำมันต่อไป หรือถอยหลังก็เพิ่มขนาดของความพยายาม ตั้งเป้าหมายให้เร้าใจเข้าไว้ครับ
2.เราต้องมีโค้ชคอยดูแล
ผู้เขียนตัดสินใจเดินเข้า โรงพยาบาลเพื่อปรึกษาจิตแพทย์ โดยจิตแพทย์จะสอบถามเพื่อค้นหาว่าจริงๆแล้ว เราสูบบุหรี่เพื่ออะไร สูบเวลาไหน และสูบกี่ตัว โดยจิตแพทย์จะใช้วิธีบำบัดแบบ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) โดยเราจะเริ่มเข้าโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์อาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับผู้บำบัดบางราย เรียกได้ว่าวิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่ชาวสิงห์อมควันจะเข้ารับการบำบัดได้เพราะจะได้ไม่ต้องมานั่งเครียดหาวิธีการด้วยตนเอง มีผู้เชี่ยวชาญคอยชี้แนะจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
Advertisement
Advertisement
3.ออกกำลังกายด้วยการวิ่งวันละ 1 ชั่วโมง
ในการวิ่งครั้งแรกต้องเรียกได้ว่า เป็นนรกสำหรับคนสูบบุหรี่เลยทีเดียว เพราะเมื่อสูบบุหรี่เป็นเวลานานๆ มันจะทำให้เราเหนื่อยง่ายมากๆ แต่ขอแค่ให้อดทนวิ่งให้ได้สักอาทิตย์นึงร่างกายจะค่อยๆปรับตัว และเริ่มเหนื่อยยากขึ้น โดยช่วงแรกอาจจะเริ่มต้นง่ายๆด้วยการเดินสลับวิ่ง แต่ระยะเวลาตามประสบการณ์ของผู้เขียน 1 ชั่วโมงจะดีที่สุด (ตรงนี้แล้วแต่เทคนิคส่วนบุคคลนะครับ) ถ้าเราวิ่งจนร่างกายรู้สึกสดชื่นได้เมื่อไหร่ ความอยากบุหรี่จะลดลงไปเอง
4.บริหารสติ
โดยทั่วไปการติดสิ่งเสพย์ติดอย่างบุหรี่ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ก็คือ ติดที่พฤติกรรม กับ ติดสารประกอบในบุหรี่อย่างนิโคติน โดยหลักการแล้ววิธีแก้อาการติดที่สารประกอบในบุหรี่นั้นง่ายมาก เราอาจจะหาซื้อ แผ่นแปะนิโคตินมาติดตามร่างกายหรือหมากฝรั่งนิโคตินมาเคี้ยวไว้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดอาการอยากบุหรี่ ถ้าจะเรียกศัพท์ในวงการก็คือ คอจะไม่แห้ง มือไม่สั่น แต่ปัญหาที่หนักหนากว่าการติดที่สารประกอบ ก็คือติดที่พฤติกรรม โดยผู้เขียนได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนึง ที่สกลนคร พระอาจารย์ท่านให้เรารู้สึกตัว โดยการเคลื่อนไหวตามกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึก เราจะเริ่มเห็นความคิด เมื่อเห็นความคิด ถ้าเราไม่หยิบ ไม่จุด ไม่สูบ เราก็ไม่ติดบุหรี่ โดยจะเกิดภาพในหัวเป็นฉากๆ มันจะช่วยให้เราปล่อยวางอารมณ์กับพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น ใครสนใจรายละเอียดในการบริหารสติ เข้าไปดูที่ลิงค์เฟสบุ๊คด้านล่าง
Advertisement
Advertisement
https://www.facebook.com/watsomphanas/
5.เสพย์ภาพจริงสะเทือนใจ
ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา คำนี้ใช้ได้จริงสำหรับคนเคยสูบบุหรี่อย่างผู้เขียน มีอยู่วันนึงผู้เขียนได้ดูคลิปวิดีโอสั้นๆอันนึงจากยูทูป เป็นภาพจำลองปอดของคนสูบบุหรี่ เห็นผลลัพธ์จากในคลิปมันทำให้ผู้เขียนเกิดความกลัวขึ้นสมอง มันสะสมอยู่ในร่างกายนี่เอง มันน่ากลัวมากสำหรับผู้เขียน โดยปกติแล้วสมองมนุษย์จะจำเรื่องราวด้วยดีถ้าเป็นรูปภาพ วิธีการนี้ก็เป็นวิธีที่ดีอีกอันนึงที่จะทำให้สมองเกิดความกลัวผลเสียจากการสูบบุหรี่ และทำให้เราเลิกไปในที่สุดครับ ใครสนใจดูคลิป เชิญเข้าไปที่ลิงก์ได้เลยครับ https://www.youtube.com/watch?v=HD__r66sFjk
สุดท้ายแล้วผู้เขียนใช้เคล็ดเหล่านี้ในการเริ่มเดินทางสู่ความเป็นอิสระจากการสูบบุหรี่ และประสบความสำเร็จในที่สุด ถ้าผู้เขียนทำได้ เพื่อนๆนักอ่านก็ต้องทำได้ครับ บางคนอาจจะมีเทคนิคเพิ่มเติมกว่านี้ก็ขอให้ปรับใช้กันไปครับ แต่ถ้าหากใคร No idea ก็ลองเอาวิธีการเหล่านี้ไปลองใช้กันครับ ขอให้เลิกบุหรี่ให้ได้นะครับ
......ไว้พบกันใหม่ครับ
Credit รูปภาพ www.unsplash.com
ความคิดเห็น