ไลฟ์แฮ็ก
การวัดค่าสามตัวแปรทางไฟฟ้าเบื้องต้น
ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ความรู้พื้นฐานที่ช่างไฟฟ้าทุกคนต้องมีเลยนั่นก็คือการใช้มัลติมิเตอร์วัดหาค่าความต้านทานไฟฟ้า ค่าแรงดันไฟฟ้า และค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งการวัดหาค่าตัวแปรทางไฟฟ้าทั้งสามนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า
การวัดหาค่าความต้านทานไฟฟ้า ค่าแรงดันไฟฟ้า และค่ากระแสไฟฟ้าล้วนแล้วแต่มีวิธีการวัดและย่านในการวัดที่แตกต่างกันออกไป ก่อนที่เราจะวัดค่าตัวแปรทั้ง 3 ตัวแปรนี้ได้เราจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการวัดเสียก่อนหากเราวัดไฟฟ้าโดยที่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุอันไม่คาดฝันและผลที่ตามมานั่นก็คือความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สำหรับบทความนี้ได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับการวัดค่าตัวแปรทางไฟฟ้าทั้งสามตัวแปรนี้เอาไว้ให้ท่านที่สนใจได้ศึกษากันแล้ว วิธีการวัดค่าตัวแปรแต่ละตัวแปรจะมีหลักการอย่างไรบ้างนั้นเรามาดูกันเลยดีกว่าครับ
Advertisement
Advertisement
1.การวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า
อุปกรณ์ที่เราจะใช้วัดค่าความต้านไฟฟ้าทานนั้นได้แก่มัลติมิเตอร์แบบดิจิตอล โดยเราจะตั้งย่านมัลติมิเตอร์ไปที่ย่านโอห์ม ถ้าหากเราไม่อาจคาดเดาได้ว่าค่าความต้านทานไฟฟ้าของอุปกรณ์ที่เรากำลังจะวัดนั้นมีค่าเท่าใด ให้เราเลือกย่านมัลติมิเตอร์ไปที่ย่านที่มีค่าความต้านทานสูง ๆ ไว้ก่อน เมื่อเราตั้งย่านวัดความต้านทานไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้วให้นำปลายสายทั้งสองสายของมัลติมิเตอร์จิ้มไปที่ขั้วของโหลดในลักษณะคร่อม จากนั้นดูค่าความต้านทานไฟฟ้าที่แสดงบนหน้าจอมัลติมิเตอร์
ภาพโดย ธารา สุวรรณราช
2.การวัดค่าแรงดันไฟฟ้า
เราจะใช้มัลติมิเตอร์แบบดิจิตอลตั้งไปที่ย่านโวลต์ โดยเราต้องรู้มาก่อนว่าแหล่งจ่ายที่เราต้องการจะวัดแรงดันเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงหรือแหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ ในที่นี้ผู้เขียนต้องการวัดค่าแรงดันของแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ผู้เขียนจึงตั้งย่านการวัดไปที่โวลต์กระแสตรง จากนั้นให้นำปลายสายมัลติมิเตอร์ทั้งสองสายจิ้มไปที่ขั้วบวกและขั้วลบของแหล่งจ่าย โดยให้ใช้สายสีแดงจิ้มไปที่ขั้วบวกและสายสีดำจิ้มไปที่ขั้วลบ เท่านี้ค่าแรงดันไฟฟ้าของแหล่งจ่ายก็จะแสดงบนหน้าจอมัลติมิเตอร์แล้ว
Advertisement
Advertisement
ภาพโดย ธารา สุวรรณราช
3.การวัดค่ากระแสไฟฟ้า
ขั้นตอนแรกให้เราตั้งย่านดิจิตอลมัลติมิเตอร์ไปที่ย่านแอมป์ แนะนำให้ตั้งย่านแอมป์สูง ๆ ไว้ก่อนเพื่อป้องกันมัลติมิเตอร์เสียหาย การที่เราจะวัดกระแสที่ไหลผ่านโหลดนั้นทำได้โดยนำมัลติมิเตอร์แทรกไปที่ระหว่างโหลดกับแหล่งจ่าย ให้กระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไหลผ่านโหลดแล้วมาเข้าที่มัลติมิเตอร์แล้วมัลติมิเตอร์จึงจะแสดงค่ากระแสไฟฟ้าที่ตกคร่อมโหลดตัวนั้นออกมา
ภาพโดย ธารา สุวรรณราช
ทั้งหมดนี้คือหลักการวัดค่าตัวแปรสำคัญทางไฟฟ้า 3 ตัวแปรเบื้องต้นครับ ทุกท่านสามารถนำไปปฏิบัติกันได้โดยอาจจะลองทดสอบวัดกับวงจรตัวต้านทานที่ใช้แรงดันต่ำ ๆ ก่อน และที่สำคัญในขณะปฏิบัติการวัดให้คำนึงถึงความปลอดภัยมาก่อนเสมอ ถ้าหากมีผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านไฟฟ้าคอยควบคุมดูแลอยู่ด้วยยิ่งดี
ความคิดเห็น