อื่นๆ
ห้วยลำพังชู (ที่แห้งขอด)
เมื่อฤดูแล้งมาเยือน หลาย ๆ พื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ภาคอีสานถือเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากฤดูแล้งมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของภาคอีสานนั้นเป็นที่ราบสูง ดินในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่เป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำและขาดธาตุอาหาร ใต้ดินมีเกลือหินทำให้ดินเค็มและแห้ง ส่งผลให้หน้าแล้งน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำต่าง ๆ แห้งขอด
ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำพาผู้อ่านมายัง "ห้วยลำพังชู" ซึ่งเป็นลำห้วยขนาดใหญ่ มีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำหลายสายและเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของพี่น้องชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ขอนแก่นและมหาสารคามที่อาศัยอยู่บริเวณห้วยลำพังชูเลยทีเดียว สำหรับห้วยลำพังชูนั้น ถือเป็นแหล่งน้ำที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้เขียนเป็นอย่างมาก ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนยังคงอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาตินี้ในการดำรงชีวิตเสมอมา โดยการนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติแห่งนี้ไปใช้ประโยชน์มีหลัก ๆ มีดังนี้ค่ะ
Advertisement
Advertisement
1. ใช้ในการอุปโภค แหล่งน้ำจากธรรมชาตินี้ ถือเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่ใช้ในเรื่องของการอุปโภค ผู้คนบริเวณรอบอาศัยน้ำในห้วยลำพังชูเป็นหลัก ในการใช้ชำระร่างกาย และใช้ภายในครัวเรือน
2. ทำการเกษตร ผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีอาชีพทางการเกษตร คือ ทำไร่ ทำนา ปลูกผัก พืชผลทางการเกษตรเหล่านี้อาศัยน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พืชผลเจริญเติบโต จนได้ผลผลิต เมื่อน้ำในทุ่งนาแห้งขอดก็อาศัยสูบน้ำจากห้วยลำพังชูลงในนา เพื่อไม่ให้ข้าวยืนต้นตาย
3. เลี้ยงสัตว์ สำหรับสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ของชาวอีสานนั้น ก็มักจะเป็นวัว ควาย ปลา และไก่ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เป็นอาหารหลัก เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง และสามารถจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
แต่มาถึงปีนี้ ห้วยลำพังชูนั้นแห้งขอด ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ทำเอาพืชผลทางการเกษตรแห้งตายเป็นระนาวเลยทีเดียว ชาวบ้านก็เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน ชาวบ้านในพื้นที่และตัวผู้เขียนเองก็ได้แต่หวังว่า "ในไม่ช้าธรรมชาติจะคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่แห่งนี้ดังเดิม"
Advertisement
Advertisement
ภาพหน้าปก : ถ่ายภาพโดย นางสาวนิติญาพร ใจเที่ยง
ภาพประกอบที่ : 1 ถ่ายภาพโดย นางสาวนิติญาพร ใจเที่ยง
ภาพประกอบที่ : 2 ถ่ายภาพโดย นางสาวนิติญาพร ใจเที่ยง
ภาพประกอบที่ : 3pixabay
ความคิดเห็น