อื่นๆ

สังคมไทยกับยอมรับเพศทางเลือก(ได้จริงหรือ?)

111
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
สังคมไทยกับยอมรับเพศทางเลือก(ได้จริงหรือ?)

ความรักที่ไม่จำกัดเพศ

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “ความรักไม่ได้จำกัดเพศ แต่เพศต่างหากที่จำกัดความรัก” คำกล่าวนี้เป็นจริงอยู่ไม่น้อย นอกจากเพศสภาพที่เป็นตัวกำหนดบทบาทการกระทำของเราแล้ว ยังกำหนดความรักและความรู้สึกของเราอีกด้วย การถูกบังคับหรือการห้ามปรามจากครอบครัวทำให้คู่รักหลายคู่ต้องประสบกับปัญหาที่รักกันแต่คบกันไม่ได้ เพราะเป็นเหตุมาจากครอบครัวที่กีดกันและไม่ยอมรับ ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาทำได้ก็คือการหาที่ยืนในสังคมของตนเองโดยไม่ให้ครอบครัวรับรู้ว่าพวกเขานั้นมีความเบี่ยงเบน และแน่นอนว่าในยุคโลกาภิวัตน์แบบนี้พื้นที่นั้นคงจะหนีไม่พ้นโลกของอินเตอร์เน็ตหรือที่เรียกกันว่าไซเบอร์สเปซ ที่ในปัจจุบันมีพื้นที่มากมายให้พวกเขาได้เปิดเผยตัวตนและเข้าสู่สังคมที่มีความคิดแบบเดียวกันกับพวกเขา ซึ่งการนำตัวเองเข้าสู่โลกเสมือนจริงในอินเตอร์เน็ตมีหลายช่องทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น MSN, Facebook, Twitter, Line, Camfrog ฯลฯ เพราะการปกปิดหรือเปิดเผยในอินเตอร์เน็ตนั้นทำได้ง่าย เช่น การนำภาพของคนอื่นมาใส่เป็นภาพของตัวเอง ปิดบังอายุ สัดส่วนร่างกาย รสนิยมทางเพศ อาชีพการทำงาน การศึกษา โดยที่ไม่ต้องเป็นกังวลว่าครอบครัวหรือคนรู้จักจะรับรู้ พื้นที่เหล่านี้ทำให้พวกเขาสามารถพูดคุยหรือแสวงหาตัวตนที่แท้จริงตลอดจนเป็นพื้นที่การติดต่อสื่อสารหาคู่ หาคนรักได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพราะพวกเขารู้สึกว่าไซเบอร์สเปซ คือพื้นที่ที่ปลอดภัยมีเพื่อนที่มีจิตใจคล้ายๆ กันสามารถพูดคุยกันได้อย่างไม่ต้องแคร์สังคมในโลกของความเป็นจริงมากนักที่พวกเขาเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมภายนอกยังไม่ยอมรับพวกข้ามเพศหรือคนที่รักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะครอบครัวและคนรอบข้างของพวกเขาเอง ซึ่งเราจะเห็นว่ากลุ่มคนรักข้ามเพศที่เป็นเกย์ได้เปิดเผยตัวตนกับสังคมก่อนกลุ่มข้ามเพศอื่นๆ และสังคมก็เริ่มปรับตัวและยอมรับความแตกต่างนี้ได้มากขึ้น ภาพลักษณ์ของเกย์มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีกว่าทอม ดี้ หรือเลสเบี้ยน อย่างหลายครอบครัวในสังคมไทยลูกที่เป็นเกย์จะกล้าเปิดเผยกับครอบครัวและความรักของพวกเขาก็ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างมากกว่าลูกที่เป็นทอม ดี้ หรือเลสเบี้ยน ในขณะเดียวกัน ลูกที่กล้าเปิดเผยกับครอบครัวกลับถูกพ่อแม่กีดกันความรักที่เกิดขึ้น โดยพวกเขามองว่าความรักนั้นเป็นความรักที่ไม่ยั่งยืน อาจมีปัญหาตามมา เช่น การฆ่าตัวตาย การทำร้ายร่างกาย การนอกใจ เหมือนข่าวที่ออกมาให้เห็นอยู่แทบทุกวัน หรือบางครอบครัวพ่อแม่หลายคนใช้ข่าวเกี่ยวกับเกย์ ทอม ดี้ หรือเลสเบี้ยนที่ออกมาให้เห็นนี้ใช้เป็นกรณีศึกษาให้กับลูกๆ ของพวกเขา หรือบางครอบครัวก็อาย กลัวคำนินทาของคนรอบข้างว่ามีลูกผิดเพศ โดยทัศคติต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นผลมาจากกรอบความคิดและวัฒนธรรมของไทยที่เป็นกรอบตัดสินกลุ่มคนที่เบี่ยงเบนออกนอกความเป็นปกติหรืออะไรเดิมๆ ว่าเป็นการกระทำที่ผิด เนื่องด้วยการอบรมสั่งสอนของครอบครัวนี้ที่เป็นกรอบกดทับตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไปของลูก พ่อแม่หลายคนตั้งคำถามกับลูกตัวเองหรือบางรายอาจต่อต้านคนที่วิปริตผิดเพศอย่างจริงจัง ทำให้ลูกนั้นเกิดความเกรงใจ กลัวพ่อแม่จะเสียใจหรือผิดหวังในตัวเอง จึงไม่สามารถที่จะเปิดเผยออกไปได้ ด้วยเหตุนี้มันจึงนำไปสู่การกีดกันในเรื่องความรักของกลุ่มคนข้ามเพศหรือรักเพศเดียวกันและทัศนคติที่มีความไม่เท่าเทียมในการยอมรับเพศที่แตกต่างในครอบครัวของสังคมไทย

Advertisement

Advertisement

ความรักที่ไม่จำกัดเพศ

ดังนั้น สังคมไทยควรทำความเข้าใจและเปิดใจยอมรับในความแตกต่าง ตลอดจนการรับมือกับความผิดหวังหากลูกหรือคนในครอบครัวไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้ และไม่ควรที่จะแสดงออกถึงความไม่เท่าเทียมที่ยอมรับเกย์มากกว่าทอม ดี้ หรือเลสเบี้ยน ด้วยความคิดที่ว่า “อย่างไรเขาก็เป็นผู้ชายและสามารถดูแลตัวเองได้” และมองทอม ดี้หรือเลสเบี้ยนว่าเป็นผู้หญิง และใช้วาทกรรมของความเป็นหญิงไทยนั้นเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินความสามารถของพวกเขา แล้วหันมาตั้งคำถามกันอย่างจริงจังว่า “การเบี่ยงเบนทางเพศมันผิดถึงขั้นที่ต้องถูกกีดกันเลยหรือ?” หรือไม่ก็ “คนที่รักเพศเดียวกันมีความน่ารังเกียจจนไม่สามารถที่จะยอมรับได้เลยหรือ?” คำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราฉุดคิดและเปิดใจยอมรับในความแตกต่างมากขึ้น เพราะหากพวกเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือไปฆ่าใครตาย พวกเขาก็ควรที่จะได้รับสิทธิทางสังคมเหมือนกันกับเพศอื่นๆ หรือควรที่จะได้รับการยอมรับจากครอบครัวด้วยเช่นเดียวกัน เพราะพวกเขายังสามารถที่จะทำหน้าที่ตามความคาดหวังของครอบครัวได้ตามปกติ มีความสามารถและไม่ได้ทำให้สังคมเดือดร้อน ดังที่เพศที่ 3 หลายต่อหลายคนนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าสังคมไทยทุกวันนี้จะยอมรับความหลากหลายทางเพศและครอบครัวรับรู้ถึงความเบี่ยงเบนของลูก แต่ก็ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ยังไม่ให้การยอมรับและกีดกันความหลากหลายทางเพศนี้หรือที่เรียกกันว่า “มีความหัวโบราณ” มันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเพศที่ 3 ถึงนำเอาปัญหาไปปรึกษากับเพื่อนและคนรอบข้างมากกว่าครอบครัว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วนั้นครอบครัวคือสถาบันแรกที่ต้องรับรู้ปัญหาและให้คำปรึกษา ส่งผลให้พวกเขาเกิดความเก็บกด มีความกดดันและต้องการหาที่ระบาย ด้วยเหตุนี้ พื้นที่ไซเบอร์สเปซจึงกลายมาเป็นพื้นที่สำคัญของกลุ่มเพศที่ 3 ในการหาทางออกหรือระบายความเก็บกดนั้นให้กับตัวเอง

Advertisement

Advertisement

ความรักที่ไม่จำกัดเพศ

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเราไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ในโลกไซเบอร์สเปซหรือโลกเสมือนจริงได้ตลอดไป ทุกคนต้องอยู่บนโลกของความเป็นจริง เราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ที่เหมือนและแตกต่างจากเรา ดังนั้น การยอมรับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญแล้วต้องกล้าที่จะเปิดเผยกับครอบครัวด้วย และตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่าการอยู่แต่ในพื้นที่ไซเบอร์สเปซ นอกจากนี้ครอบครัวก็ต้องเปิดใจยอมรับและรับฟังปัญหาหรือเหตุผลของลูกด้วยเช่นกัน เหมือนเป็นการพบกันคนละครึ่งทาง จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่นั้นเบาลงและพบทางออกที่เหมาะสมในที่สุด

ความรักที่ไม่จำกัดเพศ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์