อื่นๆ
แสงดาวนำทางกลางบ้านนา : ประเพณีคริสต์มาสของชาวคาทอลิกอีสาน
ปลายเดือนธันวาคม ลมหนาวเยียบเย็นแผ่พัดปกคลุมทั่วผืนแผ่นดินที่ราบสูงอีสาน ท้องทุ่งเหลืองอร่ามเหลือเพียงตอฟางหลังเก็บเกี่ยว “ข้าวนา ปลาแล้ว” ชาวบ้านเรียกยามนี้เช่นนี้
ภาพจำในช่วง “ข้าวนาปลาแล้ว” ของชาวอีสานทำให้หลายคนเข้าใจว่า ชาวอีสานมีวิถีชีวิตผูกพันกับท้องนาเหมือนกัน วิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือความเชื่อเหมือนกันไปเสียหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีชาวนากับพระพุทธศาสนาผูกติดกันเเน่นแฟ้นจนหลายคนลืมเลือนไปว่า ที่อีสาน มีสังฆมณฑลของชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดถึงสองแห่ง และอีสานนับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีชาวคาทอลิกอยู่มากที่สุดในประเทศไทยด้วย
ชาวคาทอลิกอีสาน เชื่อมโยงวัฒนธรรมแบบชาวนากับแบบคาทอลิกของตนผ่านประเพณีที่คนทั่วโลกหลงรัก นั่นคือ “ประเพณีคริสตสมภพ” หรือ “เทศกาลคริสต์มาส” ที่ทุกคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าหากเราเดินทางเข้าไปในชุมชนของชาวคาทอลิกในช่วงเดือนธันวาคมแล้วล่ะก็ เราจะสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นท่ามกลางสายลมหนาวตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้านถึงในครัวเรือน เพราะสิ่งแรกที่เชื้อเชิญให้ทุกคนร่วม “ชื่นชมยินดี” ในโอกาสที่พระเยซูคริสต์ได้กำเนิดขึ้นเพื่อไถ่บาป คือ ดาวกระดาษดวงใหญ่ เด่นประดับตั้งแต่ทางเข้าชุมชน รวมถึงประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือนอย่างน่ารัก
Advertisement
Advertisement
ดาวนำทาง คือสัญลักษณ์แห่งการมาถึงของพระบุตรของพระเจ้า หรือพระเยซู ในค่ำคืนหนาวเหน็บ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งนอกเมืองเบ็ธเลเฮม พระนางมารีย์ได้ให้กำเนิดบุตรชายใต้แสงดาวที่สว่างที่สุดในท้องฟ้า เวลานั้นนักปราชญ์ 3 คน ที่เดินทางมาจากคนละทิศทาง พวกเขาเชื่อว่าแสงดาวสว่างสดใสนี้คือดาวแห่งกษัตริย์ แสงดาวที่ประกายขึ้นจึงเป็นการประกาศข่าวดีจากสวรรค์ว่ากษัตริย์คนใหม่ (กษัตริย์ในทางโลกและทางธรรม) จึงได้ติดตามแสงดาวนั้นจนกระทั่งพบกับพระกุมารน้อยพร้อมครอบครัว พวกเขาจึงได้มอบของขวัญแก่พระกุมารซึ่งจะกลายเป็นผู้นำชาวคริสต์ในอนาคต ชาวคริสต์จึงถือว่า “ดาวนำทาง” คือสัญญาณของข่าวดีจากสวรรค์
ชาวอีสานได้ริเริ่มการนำดวงดาวมาประดับตกแต่งแต่เมื่อใดนั้นไม่อาจทราบ แต่ “ดาวนำทาง” เกิดความโดดเด่นเมื่อราว พ.ศ. 2525 ที่ชุมชนท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นชุมชนคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดสุดในอีสาน ในเวลานั้นพระคุณเจ้าลอเรน คายน์ แสนพลอ่อน ได้ริเริ่ม “ขบวนแห่ดาว” โดยให้ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านตกแต่งดาวนำทางด้วยไฟแสงสีสวยงาม แล้วแห่รอบเมืองและอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ ในคำ่คืนวันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี เพื่อนำพาสาธุชนสวดภาวนาพร้อมกับดนตรีเทศกาลเพื่อประกาศข่าวดีแก่ชุมชนข้างเคียง จนกระทั่งประเพณีแห่ดาว กลายเป็นประเพณีประจำจังหวัดสกลนครเคียงคู่ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในวันออกพรรษาของชาวพุทธ
Advertisement
Advertisement
ประเพณีแห่ดาวได้รับความนิยมมายาวนานหลังจากริเริ่มขึ้นที่ท่าแร่ หนึ่งในนั้นคือชุมชนคาทอลิกเล็กๆ ชื่อว่า “บ้านหนองคูน้อย” ตำบลน้ำคำ อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร ประเพณีนี้ได้ปรับใช้มายาวนานเพื่อให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการประดับดาว ทำบุญ ร่วมภาวนา ชาวบ้านกล่าวว่า เกิดการมีส่วนร่วมในทุกกลุ่มชน ทั้งระดับอนุชนหรือเด็กๆ จนถึงผู้ใหญ่
ในช่วงวันที่ 20-24 ธันวาคมของทุกปี นอกจากชาวหนองคูน้อยจะช่วยการประดับตกแต่งบ้านเรือ โบสถ์ โรงเรียน และส่วนต่างๆ ในชุมชนแล้ว พวกเขายังเตรียมอาหารและขนมประจำถิ่นสำหรับต้อนรับญาติพี่น้องที่จะกลับบ้านในช่วงคริสต์มาส ซึ่งขนมที่แสนพิเศษคือ “ข้าวต้มมัดไต้” หรือ “ข้ามต้มมัดไส้หมู” ที่หาทานได้ยากยิ่งในละเเวกนั้น (ส่วนใหญ่ชาวอีสานทำข้าวต้มมัดไส้กล้วยน้ำว้า)
และเมื่อค่ำคืนวันที่ 24 ธันวาคม หรือ Christmas Eve มาถึง ระฆังจากโบสถ์จะย่ำดังกังวาล เมื่อนั้นขบวนดาวนำทางสีสันสดใสจะมาตั้งขบวนเรียงรายหน้าโบสถ์ประจำหมู่บ้าน คณะคุณพ่ออธิการ ซิสเตอร์ และผู้นำชุมชนจะเดินนำผู้คนสวดภาวนาไปตามเส้นทางในชุมชน พร้อมกับสลับกับเสียงเพลงเทศกาลจังหวะสดใส ชาวบ้านทยอยเดินทางมาร่วมขบวนพร้อมกับจุดเทียนร่วมขบวน (ในอดีตเป็นตะเกียงเนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าตามถนน) เมื่อเสร็จสิ้นก็จะกลับไปที่โบสถ์อีกครั้ง เพื่อทำพิธีมิสซาและร่วมชมการแสดงละครศักดิ์สิทธิ์หรือละครการกำเนิดพระเยซู ซึ่งเป็นการแสดงที่เด็กๆ ในชุมชน พ่อแม่ และผู้นำในชุมชนร่วมแสดง และด้วยจุดนี้ทำให้ญาติพี่น้องต่างกระตือรือล้นที่จะชมฝีมือของลูกหลานหรือพ่อแม่ตน ทำให้บรรยากาศในโบสถ์นั้นน่ารักอบอุ่นเป็นอย่างยิ่ง
Advertisement
Advertisement
ปัจจุบัน ประเพณีแห่ดาวเชื้อเชิญให้ทุกท่านได้สัมผัสด้วยตัวเอง ทั้งประเพณีใหญ่ที่บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร หรือ ที่ยโสธร ชาวหนองคูน้อยได้ร่วมกับชาวคาทอลิกบ้านอื่นๆ จัดแห่ดาวร่วมกันที่ โบสถ์อัครเทวดามีคาแอล บ้านซ่งแย้ อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นโบสถ์ไม้อันสวยงามที่ใหญ่ที่สุดในไทย ที่นั่นจะเป็นที่รวบรวมดาวนำทางของชุมชนคาทอลิกในจังหวัดยโสธร ซึ่งจัดในคืนวันที่ 25 ธันวาคม เนื่องจากชาวบ้านจะเเห่ดาวในชุมชนของตนตามความเชื่อในวันที่ 24 ธันวาคมก่อน นำมาร่วมงานในคืนถัดมานั่นเอง
แสงดาวนำทาง จึงเป็นความอบอุ่นท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ ความอบอุ่นของสัมพันธภาพที่เเน่นแฟ้นของชุมชน ครอบครัวและเครือญาติ ความอบอุ่นของเทศกาลและประเพณีที่หลายคนนึกไม่ถึงว่าชาวอีสานที่ผูกพันกับไร่นาและพุทธศาสนาจะสร้างประเพณีที่เป็นแบบฉบับของตนเช่นนี้ ทำให้ประเพณีแห่ดาวและประเพณีคริสต์มาสของชาวคาทอลิกอีสาน เป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างโดดเด่น แตกต่าง และอบอุ่นเป็นอย่างยิ่ง
เครดิตรูป : ฐินันท์
ความคิดเห็น