อื่นๆ
ประสบการณ์เล็ก ๆ จากเด็ก (ติดคดี)
.jpg)
“เด็กติดคุก” เป็นคำที่ใครหลายคนเมื่อฟังแล้วอาจรู้สึกหดหู่ เพราะเป็นคำที่ใช้เรียกเด็กที่ต้องติดคุกทั้งที่มีอายุยังไม่เกิน 18 ปี หรืออาจฟังแล้วรู้สึกโมโหที่เด็กอายุแค่นี้แต่กลับประพฤติตนเป็นภัยต่อสังคม และด้วยเหตุผลที่พวกเขาเหล่านั้นยังเป็นเด็กและเยาวชน เชื่อไหมว่า “เด็กติดคุก” ทุกคนที่ต้องถูกจองจำ พวกเขาเขาต้องการเพียงไม่กี่อย่างจากสังคม หนึ่งในนั้นคือ “โอกาส”
ผู้เขียนได้รับประสบการณ์ที่ได้เข้าไปใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ จากโครงการที่จัดขึ้นเพื่อตอบรับคำเชิญจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา ที่ต้องการให้กลุ่มนิสิตเข้าไปสอนภาษาไทยให้แก่เด็กและเยาวชนที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สาเหตุที่ตอบรับเพราะคิดว่าคงหาโอกาสแบบนี้ไม่ได้ง่าย ๆ ถือเป็นการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ และก็ได้อะไรใหม่ ๆ กว่าที่คิดไว้มากเหลือเกิน
Advertisement
Advertisement
อาจมีหลายคนสงสัยว่าสถานที่สำหรับเด็กติดคดีต้องอยู่ที่เป็นสถานพินิจฯ ไม่ใช่เหรอ ความจริงสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนมีความแตกต่าง คือ... สถานพินิจฯ เป็นสถานที่สำหรับเด็กและเยาวชนที่ทำความผิดและถูกจับกุม จะถูกส่งตัวมาที่สถานพินิจฯ ก่อนในเบื้องต้นเพื่อฟังคำพิพากษาจากศาลเด็กและเยาวชนของพื้นที่นั้น ๆ หลังจากที่ศาลพิพากษาเรียบร้อยแล้ว เด็กจะถูกส่งตัวมาที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เพื่อทำการอบรมพฤติกรรม ให้การศึกษาโดยจัดการเรียนการสอนภายในศูนย์ ตลอดจนการฝึกอบรมวิชาชีพต่าง ๆ ให้เด็กสามารถออกไปใช้ชีวิตและมีวิชาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้
วันแรกที่เดินทางไปศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา ยอมรับเลยว่ากดดันมาก มากกว่าความกดดันก็คือความกลัว เชื่อว่าใครหลายคนก็คิดเช่นเดียวกัน เพราะเด็กในนั้นล้วนแล้วแต่ติดคดีที่เราไม่รู้ว่าข้อหาอะไรบ้าง ทำให้รู้สึกกังวลใจไปหมด รอบศูนย์ฝึกฯ มีรั้วสูงอย่างที่เราเห็นตามเรือนจำและมีลวดหนามวางอยู่บนรั้วนั้นด้วย ก่อนเข้าไปผู้คุมให้นิสิตกว่า 30 คน เก็บของไว้ในล็อกเกอร์ ไม่อนุญาตให้นำสิ่งใดเข้าไปภายใน (กระเป๋าตังค์หรือโทรศัพท์ก็ไม่ได้นะคะ) ยกเว้นกล้องถ่ายภาพ 1 ตัว ของนิสิตที่ใช้เก็บภาพกิจกรรม ซึ่งต้องขออนุญาตเป็นพิเศษ
Advertisement
Advertisement
ผู้เขียนเดินเข้าประตูที่ทำจากโลหะหนา เข้าไปเจอประตูกรงเหล็กชั้นที่ 2 พร้อมกับมีผู้คุมมาตรวจร่างกายและตรวจวัดโลหะ ผ่านประตูสองเข้ามา สิ่งแรกที่คิดก็คือ สภาพแวดล้อมมันเหมือนกับโรงเรียนขนาดไม่ใหญ่มากที่เราเห็นทั่วไป มีอาคารเรียน โรงอาหาร ศาลาทำกิจกรรม สนามกีฬา ม้านั่ง และตึกนอนที่ดูจะสูงกว่าตึกอื่น ๆ พร้อมทั้งเห็นเด็กสวมเสื้อสีน้ำเงินเหมือนกันหมดเดินอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ หลังจากนั้นครูที่ประจำอยู่ในศูนย์ฝึกฯ ท่าทางดุและกำหวายอยู่ตลอดเวลา (แต่ความจริงแล้วครูเค้าใจดีมาก ๆ) พาผู้เขียนและเพื่อน ๆ ไปยังห้องเรียน และนั่นเองคือสถานที่ที่ผู้เขียนได้พบกับน้อง ๆ ทั้ง 28 คน
หลายคนคงคิดว่าทำไมต้องสอนอ่านเขียนภาษาไทย เพราะเด็กมันก็โตแล้ว แต่เมื่อเราไปถึงและได้ทำการทดสอบเขียนคำบอกง่าย ๆ เช่น ปากกา ดินสอ บางคนเขียนได้ บางคนสะกดผิด แต่บางคนไม่รู้แม้กระทั่งพยัญชนะสักตัว เด็กเหล่านี้ทางศูนย์ได้คัดเลือกมาบางส่วน เพราะมีปัญหาด้านการใช้ภาษาไทย เพราะเด็กส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารเป็นหลัก เราทำกิจกรรมโดยให้พี่จับคู่น้องแบบตัวต่อตัวเพื่อสอน ซึ่งผู้เขียนได้น้องในจังหวัดปัตตานีที่มีทักษะการอ่านเบื้องต้นดีอยู่แล้ว จึงพยายามหากิจกรรมให้น้องได้อ่านและเขียนควบคู่กันไป นิสิตบางคนต้องเริ่มจากการสอนพยัญชนะกันใหม่เชียวล่ะ แน่นอนว่าสอนเด็กรุ่นนี้มันไม่ง่ายเลย แต่เด็กเค้าตั้งใจจริงที่อยากจะเรียน มีหรือที่จะปฏิเสธ...
Advertisement
Advertisement
ผู้เขียนและเพื่อนนิสิตไปสอนน้องอาทิตย์ 1 ละครั้ง เป็นเวลากว่า 2 เดือน แน่นอนว่าในใจของเรายิ่งมีคำถามว่า “ทำไมน้องจึงมาอยู่ที่นี่” ซึ่งน้องบางคนก็รู้ใจเลยเลือกที่จะเล่าให้ฟัง
“ติดยาเสพติด ผลิตยาเสพติด ค้ายาเสพติด ขโมย ทำร้ายร่างกาย พรากผู้เยาว์ ข่มขืน ฆ่าคน”
นี่เป็นเพียงบางส่วนที่ผู้เขียนรับรู้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากเด็กที่ยังมีอายุไม่ถึง 18 ปี ครูที่ประจำอยู่ศูนย์ฝึกพยายามบอกกับเราว่า เด็กมันคือเด็ก เค้าไม่ได้เลวมาจากสันดานหรือจิตใจที่เลวร้าย แต่เพราะบางครั้งสิ่งแวดล้อมก็บังคับให้เค้าต้องทำแบบนั้น หรือเป็นแค่เหยื่อจากสิ่งที่เค้ายังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ศูนย์ฝึกฯ จึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความคิด พัฒนาอาชีพ ให้การศึกษา รวมถึงยื่นขออภัยโทษ เพราะเด็กควรจะมีชีวิตที่สดใส มีความสุข มีอนาคตที่ก้าวไกลมากกว่าการมาอยู่ในสถานที่แบบนี้ ผู้เขียนและเพื่อนนิสิตทุกคนก็รับรู้ได้ว่าเด็กทุกคนที่นี่ต้องการมีชีวิตอย่างมีความสุขเช่นเดียวกับเพื่อนรุ่นเดียวกันคนอื่น ๆ โดยมองข้ามไปว่าเค้าเคย “ติดคุก” มาก่อน
น้องที่ผู้เขียนสอนด้วยตัวเองบอกกับผู้เขียนว่า เขาอยู่ที่นี่มา 2 ปีกว่า ๆ แล้ว และกำลังจะพ้นโทษในปลายปีนี้ เขาอยากรีบออกไปเร็ว ๆ อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีกว่านี้ อยากเรียนต่อให้สูงขึ้นหากมีโอกาสและหางานทำ มีชีวิตเหมือนคนทั่วไป ผมอิจฉาพี่มาก ๆ เลย ประโยคจากคนอายุ 17 ปี ที่ต้องสูญเสียช่วงวัยรุ่นของตัวเองที่ควรจะดีกว่านี้ แต่ก็พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่กับความท้าทายที่ต้องพบจากสังคมรอบข้าง ซึ่งนั่นมัน...ยากเหลือเกิน
สังคมมักคิดว่าเด็กเหล่านี้เป็นบุคคลอันตรายและเป็นภัยต่อสังคมในอนาคต สิ่งดังกล่าวถือเป็นทัศนคติทางลบต่อบุคคลที่เคย “ติดคุก” ซึ่งส่งผลให้คนชายขอบเหล่านี้มักไม่ได้รับโอกาส โครงการช่วยสอนเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกและอมรมฯ เป็นเพียงพลังที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมโดยใช้การศึกษาเป็นแรงผลักดันสำคัญ ตามความสามารถที่พอจะทำได้ แต่นั่นจะยิ่งใหญ่มากกว่านี้หากสังคมให้โอกาสพวกเขาอีกครั้ง เพราะเด็กกลุ่มนี้ถือเป็นอนาคตของชาติที่จะได้ไปสร้างสรรค์สรรสังคมต่อไปเช่นกัน
ปล. ภาพไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าของเด็กและเยาวชนได้ เป็นจรรยาบรรณเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เด็กและเยาวชนที่ติดคดีทุกคนค่ะ
ความคิดเห็น
