อื่นๆ

“งานศพ” พิธีคนตายสะท้อนวิถีชีวิตคนเป็น

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
“งานศพ” พิธีคนตายสะท้อนวิถีชีวิตคนเป็น

ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา คุณยายของเราเสียชีวิตอย่างสงบในวัย 93 ปี ด้วยโรคชรา นี่เป็นครั้งแรกที่ครอบครัวเราต้องรับบทเจ้าภาพ ‘งานศพ’ ความเศร้าเสียใจมาพร้อมกับความกังวล ชุลมุน ยุ่งเหยิงเพราะไม่เพียงแค่เตรียมพิธีบำเพ็ญกุศลศพตามหลักพุทธศาสนา แต่ยังมีเรื่องของ ‘อาหารการกิน’ สำหรับเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งถือเป็นงานใหญ่และสำคัญพอกัน

บรรยากาศพิธีบำเพ็ญกุศลศพที่บ้าน

ระยะหลังเราจะเห็นพิธีบำเพ็ญกุศลศพหรือว่างานศพที่จัดในเมือง ส่วนใหญ่จัดที่วัดและเสิร์ฟ Snack Box หรือของว่าง อย่างน้ำผลไม้ นม และขนม บางงานอาจเสิร์ฟข้าวกล่องให้กับแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งสะดวก ประหยัดเวลาและงบประมาณ แต่งานศพในต่างจังหวัดไม่ใช่แบบนั้นค่ะ โดยเฉพาะตามหมู่บ้านชนบทยังนิยมจัดงานศพที่บ้านและทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานทั้งคาวหวานหลากหลายเมนู เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อๆ กันมา เพราะฉะนั้นการเช่าเต็นท์ตั้งโรงครัวทำอาหารจึงเริ่มขึ้น

Advertisement

Advertisement

โรงครัวทำอาหารงานศพในต่างจังหวัดโรงครัวทำอาหารงานศพต่างจังหวัด

เมื่อเจ้าภาพกำหนดเมนูและซื้อวัตถุดิบพร้อมแล้ว ลุงป้าน้าอาซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านก็เริ่มทยอยมารวมตัวล้อมวงช่วยล้าง หั่น ปอก ปรุง บางคนถนัดหุงข้าวกระทะใหญ่ๆ ด้วยฟืน ก็ได้โชว์ฝีมือกันในงานนี้

ป้าๆ น้าๆ ช่วยหั่นเนื้อสัตว์ป้าศรีช่วยผัดกับข้าวน้าคนนี้ช่วยผัดกับข้าวคุณลุงผ่าฟืนหุงข้าว

ส่วนผู้ชายหนุ่มๆ ก็ช่วยยกหม้อ ยกกระทะ ช่วยเสิร์ฟอาหารและเก็บโต๊ะหลังแขกรับประทานอาหารเสร็จ ระหว่างนั้นจะได้ยินเสียงพูดคุย หยอกล้อ สลับเสียงตะโกนทักทายกันไปมา พอให้บรรยากาศไม่เงียบเหงาหดหู่จนเกินไป

หนุ่มๆ ช่วยยกหม้อแกงอาหารงานศพบรรยากาศโรงครัวเป็นแบบนี้จนถึงวัน ‘ฌาปนกิจ’ หรือวันเผาศพ ลุงป้าน้าอาในหมู่บ้านยังหลั่งไหลมาช่วยงานไม่ขาด ยิ่งตอนเคลื่อนโลงศพของยายจากบ้านไปวัด เหล่าเพื่อนบ้านและลูกหลานผู้ชายร่วมแรงร่วมใจช่วยยก ช่วยเข็น ประคองโลงขึ้นรถไปถึงวัดจนพิธีเสร็จสมบูรณ์

เพื่อนบ้านและลูกหลานผู้ชายช่วยเคลื่อนย้ายโลงศพชาวบ้านและลูกหลานผู้ชายช่วยกันเคลื่อนย้ายโลงศพเพื่อนบ้านและลูกหลานผู้ชายช่วยเคลื่อนย้ายโลงศพ

ต้องยอมรับว่าการจัดงานศพที่บ้านทำให้เจ้าภาพเหนื่อยมาก แต่สิ่งที่ครอบครัวเราได้เรียนรู้และได้สัมผัสจากงานศพของยาย คือ ‘วิถีชีวิต’ ของคนต่างจังหวัดยังมีความใกล้ชิดเหมือนญาติพี่น้อง ความเอื้อเฝื้อต่อกันยังมีอยู่มาก ทุกคนมาช่วยงานเพื่อแสดงน้ำใจต่อทั้งคนตายและคนเป็น สำคัญสุดคือ 'น้ำใจไมตรี' ที่เราได้รับนั้น ถ้าพูดภาษาวัยรุ่นก็ต้องบอกว่าช่วย ‘ฮีลใจ’ (Heal) ให้กับครอบครัวของผู้วายชนม์ได้มากทีเดียว ขณะที่สิ่งตอบแทนจากเจ้าภาพไม่ใช่เงิน แต่เป็นข้าวปลาอาหารที่จัดเลี้ยงอย่างเต็มกำลังแทนคำขอบคุณจากใจ

Advertisement

Advertisement

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์