อื่นๆ

5 วิธี ลดใช้พลาสติก ดีต่อเรา ดีต่อโลก

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
5 วิธี ลดใช้พลาสติก ดีต่อเรา ดีต่อโลก

ภาพโดย pixabay

ราว 1-2 ปีที่ผ่านจะสังเกตได้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ มีแนวทางในการลดใช้พลาสติกอย่างชัดเจนขึ้น เช่น การหาวัสดุทดแทนพลาสติกมาใช้ การให้ความรู้ผ่านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ การกำหนดวันงดให้บริการถุงพลาสติก ร้านค้าบางแห่งไม่มีถุงพลาสติกให้บริการ ผู้ซื้อต้องนำภาชนะมาใส่เอง แนวทางดังกล่าวต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเตรียมตัวรับมาตรการใหม่ที่หลายองค์กรจะรณรงค์อย่างเข้มข้นในปี พ.ศ. 2563 ที่มุ่งเน้นลดใช้พลาสติกในกลุ่มผู้ซื้อปลีก ซึ่งเป็นกลุ่มการซื้อขายที่ใช้พลาสติกมากที่สุด

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นทุกคนในสังคมต่างต้องปรับตัว วันนี้ขอนำเสนอแนวทางการลดใช้พลาสติกโดยเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง 5 วิธี

พกถุงผ้าติดตัวเสมอภาพโดย pixabay

1. พกถุงผ้าหลาย Size ติดตัวเสมอ หลายปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เริ่มให้ของสมนาคุณเป็น ถุงผ้าลดโลกร้อน เพื่อเป็นสัญญาณตอบรับนโยบายลดใช้พลาสติก หลายคนอาจได้รับแจกถุงผ้าจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดขึ้น บางคนก็อาจหาซื้อถุงผ้าส่วนตัวมาใช้แล้วหลายใบ สิ่งที่ควรจะลองทำคือ ทุกครั้งที่ออกจากบ้านควรพกถุงผ้าหลายขนาดติดตัวไปด้วย หากใครเดินทางด้วยรถส่วนตัวอาจใช้ถุงผ้าหนาหรือบางก็ได้ ส่วนใครที่เดินทางโดยใช้บริการรถสาธารณะอาจเลือกถุงผ้าที่น้ำหนักเบาพับเก็บได้ อาจใส่ถุงผ้าแบบพับได้หลาย ๆ ถุง หรือถุงผ้าใบเล็ก ๆ ไว้ในถุงผ้าขนาดสะพายใบใหญ่ เมื่อซื้อของจะได้นำถุงผ้าออกมาใส่แยกตามชนิดของสินค้า เช่น ของกินใส่รวมในถุงของกิน ของใช้ใส่รวมในถุงของใช้ ถุงผ้าที่น่าสนใจอีกหนึ่งชนิดคือ ถุงผ้าเก็บอุณหภูมิ จะช่วยให้เราซื้ออาหารกลับบ้านได้อย่างสบายใจ

Advertisement

Advertisement

พกภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มติดตัวให้เป็นนิสัยภาพโดย pixabay

2. พกกล่องใส่อาหาร ช้อนส้อม และแก้วน้ำรักษาอุณภูมิ อาจจะรู้สึกพะรุงพะรังในช่วงแรกที่เริ่มทำ แต่หากเราเลือกขนาดและชนิดของวัสดุอย่างเหมาะสม โดยเลือกภาชนะที่มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบาก็จะสะดวกต่อการพกพา นอกจากนั้นยังควรวางแผนก่อนเดินทางทุกครั้งว่า การออกจากบ้านในครั้งนี้เราจะซื้ออาหารมากน้อยเพียงใด จากนั้นจึงนำกล่องใส่อาหารไปให้เพียงพอ การทำเช่นนี้นอกจากจะช่วยลดขยะพลาสติกแล้ว ยังทำให้มั่นใจว่าภาชนะเหล่านี้เป็นของส่วนตัว ไม่ต้องใช้จานชามช้อนส้อมและแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมความสะอาดได้ การซื้อกลับบ้านก็เช่นเดียวกัน เมื่อเรานำภาชนะไปใส่ย่อมดีต่อสุขภาพมากกว่าการใช้ถุงร้อนหรือกล่องโฟมใส่อาหารกลับบ้านอย่างแน่นอน

เลือกซื้อของใช้ขนาดใหญ่หรือซื้อยกโหล ช่วยลดพลาสติกได้ภาพโดย pixabay

3. ซื้อของ Size ใหญ่ สิ่งของที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ ยาสระผม ครีมทาผิว น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก กระดาษชำระ อาหารสัตว์แบบถุง สิ่งของเหล่านี้ล้วนแล้วแต่บรรจุอยู่ในพลาสติก ซึ่งผู้คนจำนวนมากใช้แล้วทิ้ง ดังนั้นยิ่งซื้อ size เล็ก มากเท่าใด ก็ยิ่งต้องทิ้งบ่อยมากเท่านั้น การซื้อของใช้ส่วนตัวขนาดใหญ่ทุกชนิดพร้อม ๆ กันอาจต้องใช้เงินมาก แต่หากเราวางแผนทยอยซื้อ อาจจะซื้อชิ้นใหญ่เดือนละ   4-5 ชนิด ก็จะใช้ได้นาน เดือนต่อ ๆ ไปก็ทยอยซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ชนิดอื่นมาเก็บเอาไว้ใช้ ทยอยซื้อวนไปเรื่อย ๆ นอกจากจะมีข้อดีเรื่องการลดใช้พลาสติกแล้ว การซื้อยกโหลหรือซื้อสินค้า size ใหญ่ยังช่วยให้เราประหยัดเงินได้มากขึ้นกว่าการซื้อปลีกอย่างเห็นได้ชัด หรืออาจใช้วิธีไปซื้อสินค้าพร้อมกันกับเพื่อน หารกันซื้อสินค้ายกโหล แล้วแบ่งกันไปใช้ก็จะช่วยลดพลาสติกและได้สินค้าราคาถูกไปใช้อีกด้วย

Advertisement

Advertisement

ยาสีฟันผสมเม็ดพลาสติกขนาดเล็ก (เม็ดบีดส์)ภาพโดย pixabay

4. ไม่ใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของเม็ดบีดส์ (Plastic Microbeads) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันหลายชนิดมีส่วนผสมของไมโครบีดส์ เช่น ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ โฟมล้างหน้า ผลิตภัณฑ์ขัดผิว ผู้ผลิตใส่เม็ดไมโครบีดส์ลงไปเพื่อเพิ่มความรู้สึกของการได้ขัดถูสิ่งสกปรกออกไปจากร่างกาย เม็ดบีดส์เหล่านี้ผลิตจากพลาสติกขนาดเล็กที่มีคุณสมบัติดูดซึมสิ่งสกปรกและสารพิษต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อเราชำระล้างออกจากร่างกายแล้ว เม็ดบีดส์ขนาดเล็กจำนวนมหาศาลก็จะไหลลงไปในท่อระบายน้ำ ไหลผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสียโดยไม่มีอุปกรณ์ใดกรองหรือสกัดกั้นมันได้ เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ต่อมาเม็ดบีดส์เหล่านี้ก็จะไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทะเล มหาสมุทร ดูดซึมสารพิษต่าง ๆ ตามแหล่งน้ำที่มันไหลผ่านมา เมื่อสัตว์ทะเลกินอาหารก็ต้องกินเม็ดบีดส์เหล่านี้ไปด้วย แล้วในที่สุดปลาทะเลและสัตว์ทะเลอื่น ๆ ก็จะถูกจับมาเป็นอาหารมนุษย์ มนุษย์ก็จะต้องกินเม็ดบีดส์เหล่านั้นเข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง แนวทางการหาสิ่งทดแทนเม็ดบีดส์เหล่านี้คือ การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีผิวขรุขระมาทดแทน เช่น เกลือ กากกาแฟ มะขาม มะกรูด ขมิ้น ดินสอพอง โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด

Advertisement

Advertisement

สนับสนุนผู้ผลิตที่ใส่ใจปัญหาขยะพลาสติกภาพโดย pixabay

5. อุดหนุนผู้ผลิตที่ลดใช้พลาสติกอย่างจริงจัง ต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายเรื่องบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างไม่ต้องการแบกรับ ทุกคนอยากได้สินค้า แต่ไม่อยากได้บรรจุภัณฑ์ ซื้อข้าวมา 1 กล่อง ทุกคนกินข้าว แต่ต้องทิ้งกล่องโฟม ซื้อน้ำมา 1 แก้ว กินน้ำเสร็จก็ต้องทิ้งแก้วพลาสติก ทิ้งหลอด ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์อาหารเกิดขึ้นมานาน ผู้ผลิตที่พยายามหาวัสดุอื่นมาทดแทนพลาสติกก็ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น หลอดหรือ      หูหิ้วที่ผลิตจากไม้ ย่อมมีต้นทุนแพงกว่าหลอดพลาสติก กล่องใส่อาหารแบบกระดาษย่อมมีต้นทุนสูงกว่ากล่องโฟม ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตต้องจ่ายเพิ่ม หรือลูกค้าต้องจ่ายเพิ่ม แต่หากเราทุกคนสนับสนุนกิจการที่รักสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ก็จะช่วยลดขยะพลาสติกได้ อีกทางเลือกหนึ่งหากผู้ซื้อไม่ต้องการจ่ายค่าภาชนะเพิ่มขึ้น ก็อาจนำภาชนะไปใส่อาหารเอง ในกรณีนี้บางร้านลดราคาให้ บางร้านแถมสินค้าให้ หรือหากไม่ได้ผลตอบแทนใด ๆ ก็ขอให้คิดว่า เราได้ช่วยลดขยะให้แก่โลก เพียงเท่านี้ก็คงอิ่มใจขึ้นได้บ้าง

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ไอยรา
ไอยรา
อ่านบทความอื่นจาก ไอยรา

ฉันรักอาหารเป็นชีวิตและจิตใจ

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์