อื่นๆ

เกษตรกร | ก่อนเกษียณ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เกษตรกร | ก่อนเกษียณ

ความปราถนาของคนที่ทำงานประจำถึงแม้ว่าจะมีอาชีพที่มั่นคง พอถึงบั้นปลายของการปลดเกษียณส่วนมากมักคิดถึงอาชีพที่อยู่กับสวนเกษตร และธรรมชาติตามแต่กำลังจะทำได้ และใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างไม่ทะเยอทะยาน

หนึ่งในนั้น คือ คนนี้ บุคคลที่ผมรู้จัก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แหวนทอง บุญคำ หรือเรียกสั้น ๆ ว่าอาจารย์แหวน อาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศาลายา มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย มีการจัดการเรียนการสอนอย่างมากมายหลายศาสตร์สาขา เช่น ปรัชญา ศาสนา ศาสนศาสตร์ สังคมศาสตร์ รวมถึงเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาที่บ่มเพาะบัณฑิตด้านคุรุศาสตร์อีกด้วยครับ

นี่คือเว็บไซต์หลักของมหาวิทยาลัยที่ผมกล่าวถึง https://www.mbu.ac.th/ เผื่อเป็นทางเลือกที่ดีในการส่งสริมการศึกษาและตัดสินใจมาเล่าเรียนศึกษาครับ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีพื้นที่ที่มีความเป็นธรณีสงฆ์ที่อยู่บริรอบ ๆ ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยด้วย ด้วยความที่มีพื้นที่กว้างมาก จึงจัดสรรให้เกิดผลประโยชน์ต่อชุมชน และบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่สนใจในการทำมาหากินบนพื้นที่ในการดูแลของมหาวิทยาลัยรวมถึงคณะกรรมการวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร

Advertisement

Advertisement

ท่านอาจารย์แหวน เป็นหนึ่งในบุคคลที่จับจองพื้นที่ประมาณสามไร่ ที่มีการบริหารจัดการและเช่าเพื่อทำกิจกรรมทางการเกษตรด้วยความหลงไหลในธรรมชาติและชอบเคลื่อนไหวไปมาในแปลงปลูกผักและสารพัดพืช

ช่วงเสาร์อาทิตย์ ที่ไม่มีกิจจากการสอนหนังสือ หรือหลังจากเลิกงานมักจะมาด้อม ๆ มอง ๆ และ เนรมิตพื้นที่ที่มีดินแข็ง ๆ โดยหากิจกรรมทำร่วมกับเครือข่ายจิตอาสาที่เอาแรงมาช่วยทั้งเพื่อนที่เป็นสหายธรรม รวมถึงลูกศิษย์ลูกหา

อาจารย์เป็นคนอารมณ์ดี และมีจิตสาธารณะ ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ดูแลภารกิจด้านกิจการสังคมและพันธกิจชุมชน จึงทำให้เป็นที่รู้จักของคนแถบนี้ และเป็นนักสื่อสารกิจกรรมด้านพระพุทธศาสนา โดยหลังคารถจะติดลำโพง พร้อมที่จะประกาศฮัลโหล เป็นเสียงตามสายเพื่อบอกข่าวสารกิจกรรมของชุมชน ไม่เว้นแม้แต่โควิดอาจารย์ก็ไปช่วยร่วมประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

Advertisement

อาจารย์แหวนทอง บุญคำวกกลับเข้ามาที่เรื่องการทำเกษตร
ผมถามท่านอาจารย์ว่า เป็นมาเป็นไปอย่างไรถึงนึกมาออกกำลังกายช่วงวัยหง่อม

อาจารย์แหวนทอง หัวเราะร่า บอกว่า

พื้นที่นี้ทำให้มันสนุก รอเพื่อนฝูงเเวะเวียนมาหา ปลูกหญ้าปลูกผักกินไปตามประสาคนชอบปลูก ซึ่งมันก็เพิ่งจะเริ่มไม่ได้เร่งรีบ แต่หากใครแวะเวียนมาเยือนก็เหมือนได้ไอเดียต่อยอดที่จะทำ ตอนนี้ ทำอะไรทำได้ก็ทำไปก่อนเรี่ยวแรงมันยังไหวอยู่โว้ย

ผมถาม ค่าเช่าที่จะต้องรับผิดชอบต่อเดือนแพงไหมครับ

อาจารย์บอกว่า ตารางวาละ 3 บาทต่อเดือน

จุดนั้นมันไม่ใช่ประเด็นแต่เราจะลองสักตั้งดูสิว่า การลงมือทำเกษตรแบบวิถีพอเพียงที่เราอยากจะทำและใฝ่ฝันไว้มันจะเกิดรูปธรรมและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้คนที่คิดเหมือนกันมานั่งระดมสมอง พักผ่อน และร่วมกันพัฒนาต่อได้อย่างไร ส่วนเรื่องที่จะได้โดยตรงก็คือ การออกกำลังกาย พูดจบแล้วก็เบ่งกล้ามโชว์เลยครับ

Advertisement

Advertisement

รอบ ๆ บริเวณพื้นที่ของอาจารย์แหวนทองล้อมรอบด้วยน้ำ ซึ่งต่อท่อมาจากแม่น้ำคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องความแห้งแล้ง มีปลาธรรมชาติที่หลากหลาย และสายบัวที่เกิดขึ้นเองจากเมล็ดพันธุ์เดิม เติมให้สวนแห่งนี้มีชีวิตชีวา ผสมกับรถไฟสายใต้ เข้าออกกรุงเทพมหานคร วิ่งผ่านทำให้ทัศนียภาพยามเย็น ๆ ยิ่งผ่อนคลาย

ผมมาที่นี่ สามสี่หนเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ก็มิใช่น้อยและรู้สึกได้แต่ว่า สิ่งที่ต้องการเจาะลึกในความหมายของผู้ชายที่ทำงานมาตลอดชีวิตนั้น เขาคิดอย่างไร เพื่อไม่ให้ชีวิตบั้นปลายเดินไปหรือหยุดอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ผู้สูงวัย

อาจารย์แหวนทอง อีกไม่เกินสามปีก็ถึงวัยเกษียณจากการทำงานประจำ กล่าวด้วยความมั่นใจว่า

วิถีเกษตรกรรมมันคือวิถีของการอยู่รอดที่ยั่งยืน เพียงแต่จังหวะเวลาที่เราจะใช้โอกาสในการเรียนรู้กับวิถีเหล่านี้มันหาไม่ได้ในช่วงเวลาทำงาน เพราะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในหลาย ๆ เรื่องที่จะต้องทำ แต่สิ่งเหล่านี้มันอยู่กับเราเกี่ยวข้องกับการกินอยู่ในชีวิต การปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อสุขภาพที่ดีที่เราทำเอง มันคงเป็นทางรอดมากกว่าทางเลือก โดยเฉพาะพวกเราที่กำลังจะเข้าสู่วัยชรา .....ยกเว้นผมที่ไม่ยอมแก่ง่าย ๆ ฮ่า.....

อาจารย์ทิ้งอารมณ์ขันซ่อนไว้กับปรัชญาและหลักคิดหลายประการ

จริง ๆ แล้วในแง่มุมของทักษะมนุษย์นั้น คนหนึ่งคนมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้หลายอย่างก็จริงอยู่ แต่ผมคิดว่า มีไม่กี่อย่างที่มนุษย์เลือกที่จะทำ แล้วสิ่งนั้นคือความสุข และแม้ไม่ใช่สมบูรณ์แต่ก็เป็นความพยายามที่จะเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต ซึ่งคิด ๆ แล้ว ท่านอาจารย์แหวนทองนี่ล่ะ คือ ไอดอล ในด้านนี้เลยครับ

หากท่านใดแวะเวียนผ่านมา ศาลายา มาทักทาย และสร้างสัมพันธภาพร่วมกับอาจารย์นะครับแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกษตรวิถีพุทธในแบบฉบับของอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ท่านนี้ได้เลย ผมมั่นใจว่า เราจะได้ความสุขติดมือกลับไปไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจารย์ยินดีที่จะพบปะทุกคนเลยครับผม ไม่ต้องเอาอะไรมานะครับ อาหารปลาที่นี่มี และ สุนทรีย์ รับลมเย็น ๆ ลืมบอกไปพกกล้องถ่ายรูปมาถ่ายรถไฟช่วงตะวันคล้อย เย็น ๆ จะสวยงามเป็นที่สุดครับ

อ.แหวนภาพถ่ายทุกภาพโดย ผู้เขียน
เล่าเรื่องเรื่อย ๆ โดยพ่อบักอินดี้

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์