อื่นๆ

ตาเหลว : วิถีชาวนาบ้านขุย

345
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ตาเหลว : วิถีชาวนาบ้านขุย

ตอกไม้ไผ่ที่สานขัดกันเป็นห้ามุม พร้อมด้วยเครื่องจักสานรูปทรงแปลก มีปลาที่สานด้วยตอกไม้ไผ่แขวนห้อยเรียงลงมา ซึ่งผูกติดอยู่กับด้ามไม้ไผ่ยาวประมาณ 1.50 เมตร ที่ปักอยู่ริมทุ่งนาบ้านกลางขุย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองไม้ซุง อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “บ้านขุย”) ในเวลาที่ข้าวในนากำลังตั้งท้องเตรียมจะออกรวงให้ชาวนาได้ชื่นชมอยู่นี้ สร้างความแปลกใจให้กับคนรุ่นใหม่อยู่มิใช่น้อย และเกิดคำถามตามมาว่า สิ่งนี้คืออะไร มีไว้ทำไม

ชาญชัย บัวสมบัติ ประธานคณะกรรมการชุมชนท่องเที่ยวฯ “บ้านขุย” บอกว่า อาชีพหลักของคนในชุมชนบ้านขุย คืออาชีพทำนา สิ่งที่เอาไปปักไว้ริมทุ่งนา คนที่นี่เรียกว่า “ตาเหลว” หรือ “ตาแรก” ส่วนปลาตะเพียนสานจากไม้ไผ่ ก็เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ

ชาญชัย บัวสมบัติ

ชาญชัย เล่าว่า ชาวนามีความเชื่อกันว่า ต้นข้าวมีแม่โพสพซึ่งเป็นเทพธิดาองค์หนึ่งสถิตย์อยู่ คอยดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงามเพื่อเป็นอาหารแก่มนุษย์ จึงมีการจัดเครื่องเซ่นพลีมาไหว้แม่โพสพดังที่เห็น

Advertisement

Advertisement

เครื่องเซ่นพลีที่ใช้ หลักๆ จะประกอบด้วยหมาก พลู ยาเส้น แต่บางบ้านอาจจะเพิ่มขนมต้ม กระยาสารท และไข่ต้ม ถ้าเป็นช่วงข้าวตั้งท้องก็จะเพิ่มผลไม้รสเปรี้ยว เครื่องแป้ง กระจก และเสื้อผ้าไปด้วย โดยจะทำ “ตาเหลว” พร้อมชะลอมใส่เครื่องเซ่นพลีมาปักไว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้แม่โพสพมารับเครื่องเซ่นพลีนั้น และป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายมาทำลายแม่โพสพ

ตะเหลวแรกนาตาเหลว” หรือ “ตาแรก” ที่ชาญชัยพูดถึงนี้ มีความหมายเดียวกับ “เฉลว” ซึ่งทำด้วยตอกไม้ไผ่ หักขัดกันเป็นมุมๆ เช่นกัน ใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความหมายหลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือ เป็นเครื่องกั้นห้าม ห้ามแตะต้อง ห้ามล่วงสิทธิ์ และเป็นเครื่องป้องกันรังควานหรืออาถรรพ์ ถือเป็นเครื่องสานที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อของไทยมาแต่โบราณ ในเรื่องอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือปรากฏการณ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติ

Advertisement

Advertisement

ตะเหลวแรกนา

โดยทั่วไป ก่อนที่จะลงมือทำนานั้น ชาวนาจะทำพิธีเชิญขวัญข้าวหรือพิธีแรกนาในบริเวณที่นาของตนเอง โดยทำ “เฉลว”ไปปักไว้พร้อมเครื่องเซ่นพลี เพื่อขอขมาบอกกล่าวแม่พระธรณี ขอที่ดินทำกิน และเชิญแม่โพสพให้มาอยู่ประจำต้นข้าว เพื่อให้ต้นข้าวเจริญงอกงามดี ไม่มีภัยพิบัติมารบกวนและให้ผลดี

การทำ “ตาเหลว” หรือ “เฉลว” ไหว้แม่โพสพนี้ จะทำ 3 ช่วง คือ ช่วงปักดำ ช่วงข้าวตั้งท้อง และช่วงเก็บเกี่ยว ถ้าทำช่วงปักดำก็จะเรียกว่า “ตาเหลวแรกนา” เป็นการอัญเชิญให้แม่โพสพมาอยู่กับต้นข้าวเมื่อแรกลงมือทำนา ส่วนการไหว้แม่โพสพในทุกช่วงเวลานี้ก็เพื่อทำขวัญข้าว บำรุงรักษาแม่โพสพให้อยู่กับต้นข้าวไม่หนีหายไปไหน รวมทั้งขอให้ช่วยป้องกันไม่ให้นก หนู แมลงมากัดกินต้นข้าวด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้การทำนาได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย และข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้ในยุ้งฉางก็จะมีพอกินตลอดปี

Advertisement

Advertisement

พิธีกรรมและความเชื่อของคนบ้านขุยที่มีต่อแม่โพสพตามวิถีชาวนานี้ ถูกถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ปัจจุบันก็ยังคงได้รับการสืบสานไว้ไม่สูญหาย เพราะต่างตระหนักดีว่า “ข้าว” มีบุญคุณกับชีวิตของผู้คน

ตะเหลวแรกนา

(ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง เฉลว : กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน  โดย จรัญ ทองวิไล นักภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา กรมศิลปากร,  นิตยสารกรมศิลปากร กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่ เข้าถึงได้จาก http://www.sookjai.com/index.php?topic=179678.0 )

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์