อื่นๆ

โรงเรียนวัดกลางขุย อดีตที่ไม่หวนคืน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
โรงเรียนวัดกลางขุย อดีตที่ไม่หวนคืน

ตั้งแต่ครั้งโบราณมา “วัด” นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของผู้คนแล้ว “วัด” ยังเป็นสถานที่สำหรับการปลูกปัญญา เล่าเรียนเขียนอ่านของคนไทยในสมัยก่อนด้วย

จนกระทั่งมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ การศึกษาในรูปแบบโรงเรียนจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ กระนั้น “วัด” ก็ยังมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษารูปแบบใหม่อยู่ดี จะเห็นได้จากการมี“โรงเรียนประชาบาล” ที่ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดเป็นสถานที่ตั้งโรงเรียน

โรงเรียนประชาบาลวัดกลางขุย” อันเป็นสถานที่เล่าเรียนเขียนอ่านของชาวบ้านกลางขุย หรือ "บ้านขุย" หมู่ที่ 5 ตำบลหนองไม้ซุง อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ราวปีพุทธศักราช ๒๔๖๔ เพราะในปีดังกล่าว มีการออกพระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๔๖๔ ขึ้น โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา

Advertisement

Advertisement

แรกเริ่มโรงเรียนประชาบาลวัดกลางขุย ไม่มีอาคารเรียนเป็นของตนเอง ต้องอาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่เรียนไปพลางๆ ก่อน ชาวบ้านขุยหลายคนในปัจจุบัน ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ศาลาการเปรียญของวัดกลางขุยแห่งนี้ เป็นสถานที่ “ปลูกปัญญา” เล่าเรียนเขียนอ่านจนจบชั้นประถม ๔ มาด้วยกันทั้งนั้น

ศาลาการเปรียญวัดกลางขุย ที่ใช้เป็นสถานที่เรียนของชาวบ้านขุยเมื่อครั้งอดีต เป็นศาลาไม้หลังใหญ่ ยกพื้นสูงประมาณ ๑.๕ เมตร มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าแยกซ้ายขวาข้างละ ๑ บันได ตั้งอยู่กลางลานวัด (ตรงหน้าศาลาและพระอุโบสถหลังใหม่ในปัจจุบัน) ศาลาหลังนี้ใช้เป็นทั้งโรงเรียน ที่ตั้งศพ และทำบุญ รวมอยู่ในแห่งเดียวกัน คราใดที่มีงานศพ หรืองานบุญ ก็จำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอนไปโดยปริยาย

ศาลาประวัติศาสตร์หลังนี้ถูกรื้อถอนออกไปภายหลังที่ คุณนายจินดาบริรักษ์ชวการ (จินดา เมนะเศวต) ได้สร้างศาลาหลังใหม่ขึ้นถวายเมื่อปี ๒๕๐๗ กระนั้นใครบางคนก็ยังต้องไปอาศัยโรงลิเกที่อยู่ข้างศาลาเป็นสถานที่เรียนไปพลางๆ ระหว่างที่รอการก่อสร้างอาคารเรียนถาวรในปี ๒๕๐๙

Advertisement

Advertisement

การมาทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่าของคุณนายจินดาบริรักษ์ชวการ ได้ชักนำให้เศรษฐินีชาวกรุงเทพ ที่ชื่อ นางบุญมี ลิปิพันธ์ มารู้จักกับวัดกลางขุย และเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีอาคารเรียนถาวรขึ้น นางบุญมีจึงบริจาคเงินทุนสนับสนุนสร้างอาคารถาวรของโรงเรียนขึ้นทางทิศเหนือของวัด เมื่อราวปลายปีพุทธศักราช ๒๕๐๙

อาคารเรียน รร.วัดกลางขุยอาคารโรงเรียนดังกล่าว เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว แบ่งเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ จำนวน ๔ ห้อง มีมุขยื่นออกมาเป็นห้องพักครู มีระเบียงกว้างประมาณ ๒ เมตรยาวตลอดแนวอาคาร ยกพื้นสูงประมาณ ๑ เมตร มีบันไดไม้ขึ้นลงสองทาง การก่อสร้างต้องลำเรียงไม้จากโรงเลื่อยมาตามคลอง แม้จะมีความยากลำบาก แต่ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจของทุกฝ่าย โรงเรียนแห่งนี้ก็สำเร็จลุล่วงลงด้วยดี และเปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๑ โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนวัดกลางขุย (บุญมี ลิปิพันธ์ อุปถัมภ์)”

Advertisement

Advertisement

ภาพถ่ายเก่าหน้าโรงเรียนโรงเรียนประชาบาลทั้งหมดในสมัยนั้น ยังสังกัดกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้สังกัดกระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการเหมือนเช่นปัจจุบัน ภายหลังจึงมีการโอนการจัดการศึกษาประชาบาลจากมหาดไทยไปให้กระทรวงศึกษาธิการโดยมีการจัดตั้งสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติขึ้นมาดูแล เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ นับจากนั้น ชื่อ “โรงเรียนประชาบาล” ก็หายไปจากสารบบการศึกษาของไทย

น่าเสียดาย ที่ในเวลาต่อมานโยบายด้านการศึกษาของรัฐเปลี่ยนไป โรงเรียนวัดกลางขุยฯ ถูกยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่นตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ทำให้เด็กๆ ชาวบ้านขุยและใกล้คียง ต้องลำบากไปเรียนไกลบ้านมากขึ้น จนในที่สุดอาคารโรงเรียนวัดกลางขุยฯ ที่เป็นอิฐก้อนแรกๆ ด้านการศึกษาของใครๆ หลายคนในชุมชนแห่งนี้ ก็เหลือเพียงตำนานให้จดจำ

บริเวณที่ตั้งอาคารเรียนเดิม ภายหลังรื้อถอนอาคารออกแล้วฤดูแล้ง ปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ อาคารเรียนไม้เก่าแก่ที่เคยยืนตระหง่านเป็นแหล่งปลูกปัญญาของผู้คนในชุมชนแห่งนี้มาหลายทศวรรษ ก็ถึงกาลอวสาน ไม้กระดานที่เคยลำเรียงผ่านลำคลองมาด้วยความยากลำบากกว่าจะมาเป็นสถานที่เล่าเรียนของเด็กๆ แผ่นแล้วแผ่นเล่าถูกรื้อออกอย่างไม่ไยดี อาคารเรียนที่เคยสง่างามเมื่อครั้งอดีตก็เหลือเพียงพื้นดินเตียนราบโล่ง จนแทบจะนึกถึงความรุ่งโรจน์ในวันก่อนไม่ได้

เป็นการปิดตำนานโรงเรียนประชาบาลหลังแรกของชุมชนบ้านขุยไปอย่างน่าเสียดาย

ขอบคุณ

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง กระทู้เรื่อง “โรงเรียนประชาบาลเป็นอย่างไร” จาก www.pantip.com/topic/30317874

ภาพอาคารโรงเรียนวัดกลางขุย ต้นฉบับภาพจาก คุณครูสาคร กิจสมพงษ์

ภาพหมู่นักเรียน ต้นฉบับภาพจาก คุณครูดิเรก มีสมโรจน์

ภาพต้นโพธิ์ ภาพต้นฉบับจากผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์