อื่นๆ

วิธีจัดการ กับ “Timeline ชีวิต” ของแม่ปั้มล้วน ใน 1 ปี - มนุษย์แม่นักปั้ม -

3.9k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
วิธีจัดการ กับ “Timeline ชีวิต” ของแม่ปั้มล้วน ใน 1 ปี  - มนุษย์แม่นักปั้ม -

คุณแม่มือใหม่หลายคนอยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วน แต่ไม่ได้ให้ลูกเข้าเต้าหรือลูกไม่เอาเต้า จึงเลือกเส้นทางการเป็นแม่นักปั้มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่ตามมาคือ ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการตารางชีวิตของตัวเองอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น ช่วงเวลาการปั้มนม การเก็บน้ำนม และการทำสต๊อก แน่นอนว่าการใช้ชีวิตต้องแตกต่างจากคุณแม่ที่เลี้ยงลูกแบบเข้าเต้า วันนี้ผู้เขียนนำประสบการณ์การเป็นแม่นักปั้ม ปั้มนมให้ลูกทานตั้งแต่แรกคลอดมาแชร์ให้กับคุณแม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางและปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับตัวเองได้เลยค่ะ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการผลิตน้ำนมก่อนนะคะ

- cr. Mangjizonผู้เขียน -- กลไกการผลิตน้ำนม –

หลังคลอด 2 วัน น้ำนมก็เริ่มมา หากลูกไม่เข้าเต้าเราต้องรีบปั้มออกให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม โดยการใช้มือบีบหรือใช้เครื่องปั้มที่มีคุณภาพ ซึ่งผู้เขียนเลือกใช้เครื่องปั้มแบบ 2 ข้างปั้มเพลินๆ ไม่เหนื่อยเหมือนกับการบีบด้วยมือค่ะ ช่วงแรกอาจจะได้ปริมาณน้ำนมน้อย แต่ไม่ต้องกังวลนะคะ ผ่านไปสักระยะน้ำนมก็จะเพิ่มขึ้นหากเราระบายออกจากเต้าอย่างสม่ำเสมอ เพราะกลไกการผลิตน้ำนมนั้นส่วนหนึ่งถูกควบคุมโดยการนำน้ำนมออกมาจากร่างกาย กล่าวคือ หากมีการระบายออกทำให้น้ำนมสะสมในเต้าน้อย ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมมาแทนส่วนที่เอาออก และจะผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเราระบายน้ำนมออกมากขึ้นเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่มีการระบายออก น้ำนมก็จะสะสมค้างเต้าในปริมาณมาก ทำให้คุณแม่เกิดอาการคัดเต้า ส่งผลให้การผลิตน้ำนมลดลง และถ้าปล่อยให้คัดเต้าบ่อยๆ เป็นเวลานานร่างกายอาจหยุดการผลิตน้ำนมทันที ที่เรียกว่า นมหดหาย นั่นเอง เมื่อเราเข้าใจหลักการง่ายๆ แล้ว คราวนี้ก็มาเริ่มจัดช่วงเวลาปั้มนมกันเลยค่ะ

Advertisement

Advertisement

- cr. Mangjizonผู้เขียน -- ช่วงเวลาการปั้มนม –

1-2 เดือนแรก ผู้เขียนตั้งเวลาปั้มนมไว้ทุก 3 ชั่วโมง เลียนแบบพฤติกรรมการตื่นมาทานนมของลูก ทุก 2-3 ชั่วโมง เริ่มที่ 6.00 /9.00 /12.00 /15.00 /18.00 /21.00 /00.00 และ 03.00 น. แต่ละรอบใช้เวลาครั้งละ 15-20 นาที จากนั้นบีบด้วยมือต่อ 5 นาที เพื่อให้นมเกลี้ยงเต้า ปริมาณน้ำนมที่ได้แต่ละครั้ง 3-4 ออนซ์ เท่ากับ 24-32 ออนซ์ต่อวัน เท่านี้ก็เพียงพอต่อลูกน้อยแล้วค่ะ เพราะปกติทารกช่วง 1-2 เดือน ต้องการปริมาณนมประมาณ 16-24 ออนซ์ต่อวันเท่านั้น

3-5 เดือน เวลาตื่นขึ้นมาทานนมของลูกเปลี่ยนจาก 2-3 ชั่วโมง มาเป็น ทุก 3-4 ชั่วโมง ต้องการปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นจาก 16-24 ออนซ์ เป็น 24-32 ออนซ์ต่อวัน ซึ่งผู้เขียนยังรักษารอบปั้มคงที่ 8 รอบต่อวัน ได้ปริมาณน้ำนม 32-40 ออนซ์ต่อวัน จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำนมที่ปั้มได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นน้ำนมส่วนหนึ่งผู้เขียนจึงเก็บทำเป็นนมสต๊อกไว้ในตู้เย็นให้ลูกทานได้ด้วยค่ะ

Advertisement

Advertisement

- cr. Mangjizonผู้เขียน -

6-9 เดือน ผู้เขียนลดรอบปั้มจาก 8 รอบ เหลือ 6 รอบต่อวัน ช่วงนี้คุณแม่ปั้มล้วนเริ่มสบายขึ้นและได้พักผ่อนบ้างแล้วนะคะ เพราะลูกเริ่มทานอาหารเสริม 1-2 มื้อต่อวัน และหมุนนมสต๊อกให้ลูกทานด้วย

10-12 เดือน ลูกทานข้าว 2-3 มื้อต่อวัน และ 12 เดือนขึ้นไปลูกจะทานข้าวเป็นอาหารหลัก นมจึงเป็นอาหารเสริม ดังนั้นปริมาณน้ำนมที่ลูกทานลดลงเหลือเพียง 24 ออนซ์ต่อวัน ทุก 4-5 ชั่วโมง ผู้เขียนยังคงรักษารอบปั้มที่ 5-6 รอบต่อวัน และบางวันที่มีเวลามากพอก็จะเพิ่มจำนวนรอบปั้มด้วย เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนมสำหรับทำสต๊อกค่ะ คราวนี้เรามาดูวิธีการทำสต๊อกนมและเก็บรักษากันบ้าง

- cr. Mangjizonผู้เขียน -

- ทำสต๊อกและเก็บน้ำนม –

หากดูจากไทม์ไลน์การปั้มนมช่วงเวลา 1-2 เดือนแรก ผู้เขียนยังไม่สามารถทำสต๊อกได้เพราะปั้มนมแต่ละครั้งได้ปริมาณแค่พอให้ลูกทานวันต่อวัน โดยปั้มเสร็จ 1 รอบเทใส่ขวดเตรียมพร้อมให้ลูกทานเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาเรียงลำดับขวดปั้มก่อน-หลัง เมื่อถึงเดือนที่ 3 ปริมาณน้ำนมที่ปั้มได้เริ่มเยอะขึ้นเราเริ่มมีสต๊อกบ้างแล้ว จึงเก็บสะสมทำสต๊อกนมไปเรื่อยๆ โดยใช้วิธีการปั้มบ่อยๆหรือบางวันที่มีเวลาว่างก็จะปั้มมากกว่าที่เคยตั้งเวลาไว้เช่น 8 รอบ เพิ่มเป็น 10 รอบต่อวันหรือมากกว่านั้นตามความต้องการของคุณแม่ได้เลยค่ะ นอกจากปั้มหลักแล้วผู้เขียนใช้เทคนิคการทำ pp หรือ power pumping แทรกในการปั้มหลักระหว่างวันด้วยโดย ปั้มครั้งแรก 20 นาที พัก 10 นาที ปั้ม 10 นาที พัก 10 นาที ปั้ม 10 นาที รวม 60 นาที เท่ากับ pp 1 รอบ หากทำได้ 2-3 เซต ปริมาณน้ำนมจะเพิ่มมากขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์เลยนะคะ

Advertisement

Advertisement

- cr. Mangjizonผู้เขียน - - วิธีการเก็บนมสต๊อก -

หลังจากปั้มนมเสร็จ เทนมใส่ถุงเก็บน้ำนมแม่ในปริมาณเท่ากับ 1 มื้อเท่าที่ลูกทานเช่น ลูกทานมื้อละ 4 ออนซ์ ก็เก็บใส่ถุง ถุงละ 4 ออนซ์หากคุณแม่ท่านไหนอยากประหยัดถุงเราสามารถเก็บนมที่ปั้มหลายครั้งมารวมกันก็ได้แล้วค่อยเก็บใส่ถุง แต่ไม่ควรเกิน 24 ชั่วโมงนะคะ พร้อมกับเขียนวันเดือนปี เวลาที่ปั้ม ปริมาณน้ำนมในถุงและอาหารที่แม่ทานในมื้อนั้น ส่วนนี้จะเขียนหรือไม่ก็ได้ค่ะ ก่อนปิดถุงต้องไล่อากาศออกให้ได้มากที่สุดเพื่อลดกลิ่นหืนในน้ำนม และประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ จากนั้นนำถุงเก็บน้ำนมบรรจุลงกล่องพลาสติกก่อนนำเข้าไปแช่ในช่องฟรีซ เพื่อป้องกันน้ำแข็งกัดถุงทำให้เกิดการรั่วและสะดวกในการนำออกมาใช้ด้วย โดยเราจะเรียงน้ำนมที่ปั๊มได้ใหม่ในแต่ละวัน ไว้ด้านล่างสุดของกล่องที่บรรจุถุงเก็บน้ำนมเพื่อจะได้หยิบถุงน้ำนมที่ปั๊มได้ก่อนอยู่บนสุดออกมาละลายให้ลูกทานก่อน และหากคุณแม่ท่านไหนมีตู้แช่น้ำนมเมื่อสะสมน้ำนมได้ 10 ถุงเล็กแล้วก็จึงนำมาบรรจุลงถุงใหญ่อีกครั้งพร้อมทั้งเขียน วันเดือนปีและเลขที่ถุงก่อนนำไปแช่ในตู้เช่นเดียวกันค่ะ

- cr. Mangjizonผู้เขียน - อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการเป็นแม่เลี้ยงลูกด้วยเต้าล้วนหรือแม่ปั้มล้วนนั้น ย่อมมีเป้าหมายอย่างเดียวกันคือลูกฉันต้องได้ทานนมแม่ เพียงแต่ว่าเส้นทางการเป็นแม่ปั้มล้วน ค่อนข้างเหนื่อยมาก ต้องมีความอดทน มีวินัยในการปั้มนมอย่างสม่ำเสมอ ตกรอบไม่ได้ ยิ่งปั้มบ่อยแค่ไหนก็ยิ่งทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากเท่านั้น สำหรับการเลี้ยงลูกเราสามารถยืดหยุ่นได้ตามสะดวกและความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่มือใหม่ทุกท่าน ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจและขอให้มีความสุขกับการเลี้ยงลูกให้เติบโตด้วยนมแม่ในทุกๆ วัน นะคะ

- cr. Mangjizon ผู้เขียน -

................................................................................................................................................................................................................

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์