ไลฟ์แฮ็ก
สูตร 3 ห้าม 3 ต้อง เมื่อลูกทำผิด
วันนี้เราอยากมาแชร์สูตร 3 ห้าม 3 ต้อง เมื่อลูกทำผิดค่ะ เพื่อให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องบอกว่าเราเป็นคนหนึ่งที่อยู่วงการดูแลเด็กมานาน และคลุกคลีกับเด็กมามาก สิ่งที่เราจะนำเสนอผ่านมาจากประสบการณ์ที่ทำงานกับเด็กมานานนะคะ
ใครเลี้ยงลูกไม่เคยตักเตือนว่ากล่าวบ้าง คำตอบคงไม่มี แม้แต่พระเยซูก็มีช่วงที่โมโหดุว่าสาวก และเราเป็นใครที่จะควบคุมทุกอารมณ์ได้ใช่ไหมคะ เชื่อว่าคนเป็นพ่อแม่ น้า พี่ ตายาย หรือคนที่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงเด็กต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ลำบากใจที่สุดคือการ ตักเตือนเด็กที่เรารักเวลาทำผิด จะทำก็สงสารจะไม่ทำก็ทำให้เขานิสัยเสียอีก เราคิดว่าทำเถอะค่ะ
3 ห้าม เมื่อลูกทำผิด
1. ห้ามใช้คำจำกัดลักษณะตัวตนลูก
อาจจะงงใช่ไหมคะกับหัวข้อนี้ ไม่ยากเลยค่ะ ดูตัวอย่างนะคะ หากลูกของเราขโมยของ ตีเพื่อน พูดคำหยาบ
Advertisement
Advertisement
ผู้ใหญ่ : ทำไมเป็นคนแบบนี้ พูดคำหยาบตลอด / ทำไมเป็นคนขี้ขโมยจัง เห็นของคนอื่นก็หยิบ / ทำไมปากร้ายจัง /ไม่มีมารยาท/ ตีเพื่อนทำไม เป็นอันธพาลหรือไง หรือในทำนองอื่นๆ
นี่แหละค่ะ คำที่บอกว่าทำไมเป็นคน... คำที่บรรยายที่ลักษณะของเขา เวลาเด็กทำผิด ด้วยความโมโหคนเป็นพ่อแม่อาจจะพลั้งปากพูดไป แต่หารู้ไม่ คำเหล่านี้ไม่ควรออกจากปากพ่อแม่หรือคนที่ดูแลเด็กเลย เพราะหากเราจำกัดตัวตนของเขาไม่ว่าจะเป็น ขี้ขโมย อันธพาล นิสัยไม่ดี ไม่มีมารยาทหรือในทำนองนี้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการปรักปรำเด็กและทำให้เด็กเชื่อสนิทเลยว่าเขาเป็นคนแบบนั้นจริงๆ เหมือนเรากำลังยัดเยียดตัวตนใหม่แบบนั้นให้เด็กจริงๆ เพราะการหมกหมุนกับความคิดแบบไหน ชีวิตก็เป็นแบบนั้น เด็กก็เหมือนกันได้ยินคำจำกัดความแบบไหนจากผู้ใหญ่ เขาก็จะกลายเป็นแบบนั้น
น่าเศร้าที่สุดคือสิ่งเหล่านี้จะติดตามหลอกหลอนเด็กไปตลอดจนโต จะทำให้เด็กคิดว่าเขาเป็นแบบนั้น และคงไม่ดีที่จะสร้างบาดแผลให้เขาจากคำพูดเราที่เป็นคนที่รักเขามากที่สุด
Advertisement
Advertisement
คำพูดเป็นสิ่งที่ทรงพลังสร้างทุกสิ่งได้ แต่ในขณะเดียวกันก็พังทุกอย่างได้
2. ห้ามลงโทษด้วยการตี
สุภาษิตไทยกล่าวไว้ว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี สมัยก่อนจึงเป็นเรื่องปกติที่จะสั่งสอนเด็กด้วยการตี ทั้งที่บ้านและโรงเรียน เราขอบคุณแม่ที่ไม่เคยตีพี่น้องเราเลยสักคนตั้งแต่เด็ก เพราะการไม่ตีเด็กคือหนทางการสร้างให้เขาเติบโตสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและมั่นคงทางจิตใจ
การใช้กำลังกับเด็กอาจทำให้เด็กมีภาพจำถึงความรุนแรงการคุกคาม และเขาจะเข้าใจผิดเองได้ว่าการใช้กำลังคือหนทางการแก้ไขปัญหา
การตีเด็กในยุคนี้มองว่า เป็นการกระทำที่รุนแรง ละเมิดสิทธิเด็กถูกมองว่าเป็นการคุกคาม ซึ่งเราเองก็เห็นด้วย เราคัดค้านในการตีทุกกรณี เพราะการตีเด็กเพื่อให้เขาหลาบจำ เพื่อสอนเพื่อให้เขาทำตาม หรือเพื่อขู่ให้เลิกทำสิ่งใดสิ่หนึ่ง เป็นการทำให้เด็กเชื่อฟังในระยะที่สั้นมากๆ มิหนำซ้ำสิ่งที่แย่ที่สุดคือ จะสร้างบาดแผลลึกทางใจให้แก่เด็ก ทำให้เด็กไม่มั่นใจ หดหู่และมีปมในระยะยาว หรือร้ายที่สุดอาจเกิดปัญหาสุขภาพจิต
Advertisement
Advertisement
3. ห้ามเปรียบเทียบลูกกับใคร
ช่วงหลังมามักจะได้ยินคำที่บอกว่า เปรียบเทียบเพื่อพัฒนา แต่หารู้ไม่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเปรียบเทียบเพื่อพัฒนาตัวเอง แต่คนเหล่านั้นกำลังคิดว่า..
ทำไมเราไม่ดี ไม่เก่งพอ เราทำไม่ได้เหมือนเขา อิจฉาจัง อยากชนะเขา คงไม่มีใครหนีความคิดแบบนี้พ้น
เวลาลูกทำผิดพ่อแม่บางท่านอยากเห็นลูกเอาอย่างคนอื่น อาจพูดกับลูกเพื่อหนุนใจลูกด้วยเสียงนุ่ม แต่ทำร้ายเด็ก
'หนูเห็นไหมน้องนิดเรียนเก่งมาก หนูลองขอเขาช่วยไหม'
'ทำไมหนูไม่แต่งตัวเหมือนเขาล่ะ'
'น้องนายช่วยแม่ทำงานบ้านตั้งแต่เด็กเลยนะหนูไม่เห็นช่วยเลย'
ดูเหมือนเป็นคำพูดที่ไม่รุนแรงใช่ไหมคะ แต่สำหรับเด็กเป็นคำพูดที่บั่นทอนความรู้สึกเขามากๆ
การเปรียบเทียบคือภัยเงียบที่สร้างความเจ็บปวดให้เด็กมากกว่าสิ่งอื่น ไม่มีใครชอบเวลาถูกเปรียบเทียบ เด็กไม่ชอบเวลาแบ่งขนมไม่เท่ากัน เด็กไม่ชอบเวลาพ่อแม่แสดงความรักว่ารักพี่หรือน้องมากกว่า และเด็กไม่ชอบเวลาถูกเปรียบเทียบกับใคร เมื่อใดก็ตามที่นำเขาไปอยู่บนกระดาษและผู้ใหญ่กำหนดเส้นกราฟ สูงต่ำให้เขาเทียบกับคนอื่น นั่นจะเป็นการทำให้เขาไม่มีความมั่นใจ ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่หากเราไม่เปรียบเทียบลูกหลานของเรากับลูกหลานคนอื่นแค่นี้ก็จะเป็นการป้องกันลูกหลานของเราแล้วค่ะ
3 ต้อง เมื่อลูกทำผิด
1. ต้องเสริมสร้าง/ปลอบโยนด้วยคำพูด
เมื่อเด็กทำผิดเราจะไม่ปรักปรำเขา ไม่เปรียบเทียบ เราควรใช้คำพูดในการถามไถ่เด็กถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เรียนรู้เหตุผลจากมุมมองของเขาเพราะเด็กทุกคนมีเหตุผลมีความคิดของเขา หากอยากให้เด็กเคารพผู้ใหญ่ จะเป็นผลดีมากค่ะหากผู้ใหญ่เคารพความคิดของเขาด้วย
ที่สำคัญสอนให้เขารู้ว่าผู้ใหญ่เองก็ทำผิดพลาดได้ และเริ่มต้นใหม่เสมอ ดังนั้นเด็กก็เริ่มใหม่ได้ และที่สำคัญที่สุดสอนให้เขารู้จักอารมณ์ความรู้สึกผิดและเสียใจต่อการกระทำของเขา
2. ต้องให้บทเรียน และบอกเหตุผลที่ลงโทษเพราะรัก
หากเป็นเรื่องที่เห็นว่าต้องลงโทษเพื่อให้บทเรียน แต่ไม่ใช่โดยการตี เราสามารถสอนเขาแต่ต้องไม่ลืมบอกลูกว่าที่ลงโทษไม่ใช่เพราะโมโหหรือโกรธ แต่ลงโทษเพราะรัก และให้เราบอกเขาว่าเรารู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องทำ เราอาจจะลงวินัยเขาโดยใช้วิธี Time out คือการแยกเด็กออกมาอยู่ตามลำพังเพื่อใคร่ครวญการกระทำ หรืออาจงดขนม อาจไม่ได้ไปเที่ยว หรือลงโทษด้วยการให้รับผิดชอบผลจากการะทำของตัวเอง
3. ต้องสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกัน
เมื่อลูกทำผิด ลงโทษด้วยความรักสั่งสอนอบรมด้วยความรักแล้ว สิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้เคย การสร้างวินัยใหม่ การสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกับลูกค่ะ เพราะหากไม่สร้างวินัยใหม่อาจเป็นการเพิกเฉยต่อพฤติกรรมของเขา ย้ำนะคะว่าร่วมกัน ไม่ใช่เพียงความคิดเห็นของพ่อแม่ เพื่อที่ว่าครั้งต่อไปเกิดเหตุการณ์รูปแบบเดิมขึ้นเขาจะทำตามกฎที่เขาได้มีส่วนในการสร้าง เช่น หากไม่อาบน้ำ หรือ กินข้าวตามเวลาที่กำหนด หรือการตีเพื่อน เราอาจจะเสนอวิธีแก้ไข บทลงโทษให้แก่เด็กและให้เขามีส่วนร่วมในการสร้างกฎของเขา เพราะยิ่งเขามีส่วนร่วมในการตั้งกฎเกณฑ์มากเท่าไหร่เขาจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและต้องทำมากเท่านั้น ลูกจะมองว่าเป็นหน้าที่ของเขา และเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่เขา ลูกจะมั่นใจว่าผู้ใหญ่ฟังความคิดของเขาด้วย
ดังนั้นกฎนี้เป็นสิ่งที่เขาตั้งขึ้นและเขาจะพยายามไม่ทำครั้งต่อไป หรือหากทำผิดเขาจะไม่งอแงกับบทลงโทษที่เขาตั้งไว้ค่ะ
ฝากไว้สำหรับคนเป็นพ่อแม่ ทุกคนที่มีส่วนในชีวิตของเด็กๆนะคะ เด็กจะโตผ่านการเลี้ยงดูฟูมฟักของเรา และเขาจะโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหนอยู่ที่เราหยิบยื่นสภาพแวดล้อมแบบไหนให้เขา ทุกคนผิดพลาดกันได้ อาจมาเห็นบทความนี้หลังจากเพิ่งดุว่าลูกเรา แต่เราเองผิดพลาดได้ เริ่มใหม่ได้นะคะ
หากใครอยากอ่านบทความเกี่ยวกับเด็ก การเลี้ยงลูก อย่าลืมกดแชร์ กดติดตามเพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
เครดิตภาพ : จากผู้เขียน
เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !
ความคิดเห็น