อื่นๆ

รีวิวหนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น

334
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
รีวิวหนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น

สิ่งที่ไอน์สไตน์พบ คือ ทฤษฎีสัมพันธภาพ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์อื่นๆอีกมากมายที่ช่วยให้เกิดการต่อยอดนวัตกรรมไม่รู้จบจนถึงปัจจุบัน และพระพุทธเจ้าท่านได้ทรงเห็นด้วยพระสัพพัญญุตญาณ คือ เห็นสัจธรรมความเป็นจริง แล้วนำมาเผยแพร่ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เห็นเช่นเดียวกับพระองค์ เพื่อจะได้นำพาชีวิตไปสู่ทางแห่งการพ้นทุกข์

หนังสือเล่มนี้ต้องการที่จะสื่อความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นมากล่าวก่อน จากนั้นจึงค่อยเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นจริงในทางพระพุทธศาสนา ผู้เขียนอ่านดูแล้วก็พบว่าถ้าให้ผู้ที่ไม่เชื่อในเรื่องคำสอนทางพุทธศาสนา ไม่เชื่อเรื่องภพชาติ การตายแล้วเกิด บาปบุญ ถ้าได้เข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้วจะพบว่ามันมีความคล้ายกับคำสอนในทางพุทธศาสนาอยู่บ้าง แม้จะมีบางเรื่องที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้ง แต่ความศรัทธาย่อมเกิดขึ้นบ้างอย่างแน่นอน

Advertisement

Advertisement

หน้าปกหนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น

ทันตแพทย์สม สุจีรา ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จากความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาประยุกต์ และในด้านพุทธศาสตร์ที่ได้หมั่นเจริญกรรมฐานเป็นประจำก็ได้พบว่า ในทุกศาสตร์ได้บ่งบอกความจริงบางอย่างซึ่งสอดคล้องกัน หลังจากผู้เขียนได้อ่านจบก็ทำให้ตัวผู้เขียนสนใจพุทธศาสนา การทำบุญ และการเจริญสติมากขึ้น จนต้องหาหนังสือด้านพุทธศาสตร์มาหาอ่านเพิ่มเติม เพราะชีวิตนี้เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวสุข บรรลุผลสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง บางครั้งล้มเหลวหนักถึงขั้นไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาไปได้อย่างไร ทุกข์ทางใจนี่เองที่ทำให้ไม่อาจหาหนทางไปสู่ทางดับทุกข์ โดยเฉพาะการดับทุกข์ชั่วนิรันดร์

พิสูจน์จากสายตานักอ่านที่มีการจัดพิมพ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน เป็นหนังสือธรรมะ Bestseller ตลอดกาล การอ่านเนื้อหาในทางพุทธอาจทำให้นักอ่านหน้าใหม่ไม่เข้าใจว่าเราจะดับทุกข์ในความเป็นอยู่ของปัจจุบันได้อย่างไร เราทุกข์เรื่องการเลี้ยงชีพ ทุกข์เรื่องครอบครัว และอีกสารพัด เรายึดติดกับสภาวะทางโลก และไม่อาจฝืนโลกได้ แล้วเราจะดับทุกข์ไปได้อย่างไร การมีเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ช่วยเสริมรองรับก็พอทำให้เนื้อหาทางธรรมน่าเชื่อถือขึ้น

Advertisement

Advertisement

เนื้อหาภายในเล่ม

  • บทที่ 1 ทำไมต้องไอน์สไตน์
  • บทที่ 2 จักรวาลกับพุทธศาสนา
  • บทที่ 3 ทฤษฎีสัมพันธภาพ
  • บทที่ 4 ความว่างภายในอะตอม
  • บทที่ 5 พุทธกับวิทยาศาสตร์
  • บทที่ 6 ปัญญาญาณ
  • บทที่ 7ความมหัศจรรย์ของจิต
  • บทที่ 8 เกิด-ดับ
  • บทที่ 9 มิติที่ 4 ของเวลา
  • บทที่ 10 ความสุขและความจริงแท้

หลังปกหนังสือ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น

ข้อคิดที่ได้ภายในเล่มจากมุมมองของผู้เขียน

ศาสนาพุทธมีเป้าหมายหลักอยู่ 2 อย่าง คือ

  1. แสวงหาความจริงในธรรมชาติ
  2. แสวงหาหนทางพ้นทุกข์

รวมกันเป็นการแสวงหาความจริงในธรรมชาติเพื่อการพ้นทุกข์

แสงทำให้เกิดการวันเวลา ยกตัวอย่าง ดาวดวงอื่นที่มีความโน้มถ่วงสูงกว่าโลก เวลาก็จะเดินช้ากว่าด้วยเหตุเพราะว่าความโน้มถ่วงที่สูงทำให้ความถี่ของแสงลดลง พลังงานแสงก็ลดลง ช่วงคลื่นจะยาวขึ้น แม้แต่บนโลกเดียวกัน คนที่ยืนอยู่บนยอดเขา นาฬิกาของเขาจะเดินเร็วกว่าคนบนพื้นโลก ก็เพราะว่าแสงที่ขึ้นไปบนฟ้าต้องสวนทางกับแรงดึงดูดของโลก ทำให้แสงเสียพลังงานไป ยิ่งสูงก็ยิ่งเสียพลังงาน ความถี่ก็ลดตาม ส่วนความยาวคลื่นจะเพิ่ม หลักการเรื่องเวลาที่ไม่เท่ากันเช่นนี้สามารถช่วยให้เข้าใจเรื่องการเสวยผลบุญและบาปในภพภูมิต่างๆได้

Advertisement

Advertisement

มนุษย์อยู่กึ่งกลางระหว่างนรกกับสวรรค์ชั้นกามา มนุษย์เท่านั้นที่อยู่ในสถานะที่สามารถใช้สติปัญญาพิจารณาให้เห็นสัจธรรม สร้างบุญกุศล ในขณะที่สัตว์เดรัจฉานไม่สามารถทำได้ ส่วนเทวดาชั้นกามาก็สุขสบายเกินไปจนไม่เห็นธรรม เมื่อเทวดาหมดบุญก็จะกลับไปเวียนว่ายตายเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์อีกรอบเพื่อสร้างกุศลกรรมใหม่ วนเวียนเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

unsplash.com

กฎแห่งกรรม คือผลสะท้อนของกรรมเก่าที่เคยทำไว้ในอดีตจะสนองคืน 2 รูปแบบ คือ ส่งผลในรูปภพภูมิที่ไปเกิด และส่งผลภายหลังการเกิดคือระหว่างดำรงชีวิต ผลของกรรมที่สนองขณะเกิดทำให้ชีวิตเกิดขึ้นในรูปของภพ สังคมที่แตกต่างกัน รวมถึงรูปร่างหน้าตา เพศ สภาพครอบครัว ฐานะความเป็นอยู่ แต่ผลของวิบากกรมจะสนองในรูปแบบที่ซับซ้อนกว่ามาก อาศัยทวาร 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเครื่องมือ แล้วตอบสนองต่อเวทนา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งแต่ละคนสนองตอบไม่เหมือนกัน เช่น บางคนติดสุรา บางคนติดการพนัน เป็นต้น

ปัญญา แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

  1. จินตามยปัญญา ปัญญาที่ได้จากการคิด
  2. สุตมยปัญญา ปัญญาที่ได้จากการเรียน
  3. ภาวนามยปัญญา ปัญญาของการหยั่งรู้ ได้มาจากการกำหนดสติและสมาธิเท่านั้น ถือเป็นปัญญาขั้นสูงสุด

จิตที่ดับในภพภูมิเก่ากับจิตที่ไปเกิดในภพภูมิใหม่ไม่ใช่จิตดวงเดียวกัน จิตดวงสุดท้ายในชาตินี้เรียกว่าจุติจิต เพราะเป็นจิตที่เคลื่อนย้ายภพออกจากร่างกายที่ไร้ลมหายใจ ขณะที่จุติจิตดับลง มันส่งผลรวมของประสบการณ์ในชาตินี้ไปก่อให้เกิดจิตดวงใหม่ขึ้นในร่างกายใหม่ของชาติหน้า จิตที่เกิดใหม่ในกายใหม่เรียกว่า ปฏิสนธิจิต  จิตของชาติภพใหม่จึงไม่ใช่จิตดวงเดิม เหมือนการถ่ายสำเนา เอกสารสองฉบับเหมือนกันทุกประการ แต่เป็นกระดาษคนละแผ่น

ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ

พระพุทธองค์ตรัสว่า อัตตา (ตัวตน) ของคนเรานั้นไม่เคยมีอยู่จริง สรรพสิ่งในโลกเป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ (อิทัปปัจจยตา)

ความสุขสงบที่ได้จากสมถกรรมฐานแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียวก็เป็นความสุขที่เหนือจากความสุขทางโลกียะ และแม้จะไม่ยกจิตเข้าสู่วิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเสียชีวิตไปก็ยังได้เกิดเป็นเทวดา หรือชั้นพรหม อรูปพรหมต่อไป แต่ไม่หลุดพ้นเข้าสู่มรรคผลนิพพาน เพราะนิพพานเป็นอนัตตา ต้องใช้ขณิกสมาธิกำหนดที่การเกิดดับ เข้าใจถึงความว่าง เพราะความว่างเป็นพื้นฐานก่อน พอดับไป ความว่างก็เข้ามา ปฏิบัติไปเรื่อยๆจะเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดดับเป็นมายา ความว่างคือของจริง การเกิดดับของนามจึงช่วยให้เข้าใจถึงหลักอนัตตาได้ง่ายกว่า

พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน 4 อย่างจริงจังถูกต้องสม่ำเสมอไม่ขาดช่วงบกพร่องเลยตลอด 7 ปี ลงมาถึง 7 วัน ย่อมจะได้บรรลุผลสองอย่าง คือ สำเร็จเป็นอรหันต์หรือเป็นพระอนาคามีได้อย่างแน่นอน

unsplash.com

ตัณหา คือเหตุแห่งทุกข์ เมื่อใดที่ดับตัณหาได้ ทุกข์เหล่านั้นจึงจะหมด วิธีเดียวที่จะดับตัณหาได้ต้องเข้าถึงมรรคมีองค์ 8 เมื่อย่นรวมกันแล้วจะเหลือเพียง 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตัณหามีตัวเร้าอยู่ 6 ประการ คือ ความอยากเกี่ยวกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และความอยากเสพอารมณ์

ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุสัจธรรมความจริงแท้ ยังมีเกิดมีดับ มีชีวิตอยู่บนโลกก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์บนโลก ไม่ฝืนโลก หรือดำเนินชีวิตอย่างดูผิดปกติจากคนทั่วไป เราสามารถดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรมได้ รู้เท่าทันรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอย่างมีสติ ไม่ใช่ปฏิเสธจนดูเป็นคนขวางโลก แม้ว่าเราจะรู้ว่ามีสัจธรรมความจริงแท้ที่เหนือกว่าโลกก็ตาม เช่นเดียวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพที่แสดงให้เห็นถึงความจริงแท้ด้านเวลาและแรงโน้มถ่วง ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ระดับสี่มิติ ในชีวิตประจำวันของเราก็เช่นกัน กฎของนิวตันไม่ถูกต้องในระดับจักรวาล แต่ใช้คำนวณสภาพการณ์บนโลกได้ เรามีชีวิตอยู่บนโลกต้องยอมรับกฎเกณฑ์ทางโลกียะ ขอเพียงมีสติรู้เท่าทัน และไม่เขวออกไปจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นก็คือมรรคผลนิพพาน ทางแห่งการพ้นทุกข์ถาวรนั่นเอง

หนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาอีกมากที่อธิบายรายละเอียดชัดเจนลึกซึ้งที่ทำให้เราเข้าใจธรรมะได้มากกว่านี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งเรื่องธรรมะ วิทยาศาสตร์ล้วนสัมพันธ์กัน เพราะมันเป็นความจริงเดียวกันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และในมุมมองของผู้เขียนเชื่อว่าคำสอนจากพระพุทธเจ้าย่อมมีสาระแก่นสารที่ควรปฏิบัติ ไม่ได้ไร้สาระอย่างแน่นอน ข้อเสียของหนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้พิสูจน์ความจริงแท้ด้วยสมการทางฟิสิกส์ที่ชัดเจน เพราะมันไม่อาจพิสูจน์ได้ถึงขั้นนั้น เพียงแต่เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ใกล้เคียง ประกอบกับการอุปมา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของสรรพสิ่งชัดขึ้น

เครดิตภาพ

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

อัปเดตข่าวสาร และแหล่งเรียนรู้หลากหลายแบบไม่ตกเทรนด์ บน  App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
Watcharapon
Watcharapon
อ่านบทความอื่นจาก Watcharapon

ชื่นชอบการอ่านหนังสือเป็นอย่างมาก มันเป็นการเรียนรู้ที่ดี แม้จะเป็นการเรียนรู้แบบถ่ายเดียว และอยากใ

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์