อื่นๆ

สำนวนใต้เก่านำมาเล่าใหม่ ความเชื่อสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ

153
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
สำนวนใต้เก่านำมาเล่าใหม่ ความเชื่อสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ

บูชา วันนี้ผู้เขียนจะนำเสนอสำนวนทางภาคใต้เก่า ๆ ที่เกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ สัก 3 สำนวน ในสำนวนที่ว่า เซ่นเจ้าที่, ผีในไม่ออก ผีนอกไม่เข้า, และ ผีไม้พลอยตายาย ครับ

เล็กน้อย การจัดอาหารเครื่องสังเวยคาวหวานมาอย่างละเล็กละน้อยใส่ภาชนะ

สังเวย ชุดเครื่องสังเวยคาวหวานพร้อมเครื่องบูชาก่อนวางเซ่นเจ้าที่

ศาล

หมอ หมอกำลังทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าที่

เริ่มที่สำนวนแรก เซ่นเจ้าที่ เป็นสำนวนที่บ่งบอกถึงความเชื่อของคนภาคใต้ว่า เคหสถานตลอดจนที่ดินที่เราอาศัยอยู่นั้น มีเจ้าที่คอยปกปักดูแล การจะทำให้เจ้าที่พอใจและเกิดความสวัสดิมงคลแก่ผู้อยู่นั้น ต้องทำการเซ่นเจ้าที่ วิธีเซ่นคือ นำอาหารเครื่องสังเวยคาวหวานมาอย่างละเล็กละน้อยใส่กระทงหรือภาชนะอื่นก็ได้นำไปจุดธูปเซ่น ส่วนเครื่องบูชาก็มีธูปเทียน ข้าวตอก ดอกไม้ หมากพลู เชื่อกันว่าเจ้าที่เป็นผู้ชราภาพมากแล้ว หมากที่บูชาต้องตำด้วยเครื่องตะบันหมากให้ละเอียดเสียก่อน ด้วยอาการที่จัดอาหารอย่างละเล็กอย่างละน้อยมาเซ่นนี่เอง ทำให้เกิดคำพูดเสียดสีถึงคนที่ให้ของคนอื่นจำนวนน้อย ๆ เหมือนไม่เต็มใจให้ว่า ให้เหมือนเซ่นเจ้าที่ก็มิปาน อนึ่ง สำนวนเซ่นเจ้าที่นี้อาจหมายถึงการติดสินบนผู้มีอำนาจในท้องที่ ๆ จะไปอยู่หรือประกอบกิจการก็ได้ ใครจะไปทำกิจการต่างถิ่นถ้าเซ่นเจ้าที่ไม่ถึง หากเจ้าที่อาละวาดขึ้นมาแล้วคงลำบากมิใช่น้อย

Advertisement

Advertisement

ครอบ

ครอบครัวใหญ่ตามชนบทพึงระวังสำนวน ผีในไม่ออก ผีนอกไม่เข้า

สำนวนต่อมา ผีในไม่ออก ผีนอกไม่เข้า มีความหมายว่า บ้านเรือนที่เราอยู่นั้นมีผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษปกปักคุ้มครองอยู่ ถ้าผีบรรพบุรุษไม่ออกไปไหน ผีนอกหรือผีที่อยู่นอกบ้านก็ไม่อาจเข้ามาทำอันตรายคนในบ้านได้ เปรียบได้เหมือนเรื่อง (ไม่ค่อยดีนัก) ที่รู้กันเฉพาะคนในบ้านแต่คนในบ้านด้วยกันเอง ไปเล่าให้ชาวบ้านฟัง จนเขานำไปเล่าสืบต่อกันเป็นทอด ๆ จนทำให้คนในบ้านตัวเองเกิดความเสียหาย เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจึงเกิดเป็นสำนวนที่ว่า ถ้าผีในไม่ออก ผีนอกหรือจะเข้าได้ ทำนองนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าสำนวนนี้คล้ายคลึงกับโอวาทของท่านธนัญชัยเศรษฐีพ่อนางวิสาขามหาอุบาสิกาในครั้งพุทธกาล โดยท่านเศรษฐีได้ให้โอวาทกับนางวิสาขาก่อนไปอยู่เรือนสามีในข้อที่ว่า ธรรมดาลูกสะใภ้เมื่อไปอยู่บ้านของสามี ไม่ควรนำไฟภายในออกไปภายนอก และไม่ควรนำไฟภายนอกเข้ามาภายใน ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า จากเนื้อหาพุทธประวัติดังกล่าวน่าจะเป็นที่มาของสำนวนใต้ ผีในไม่ออกผีนอกไม่เข้าก็อาจเป็นได้

Advertisement

Advertisement

ต้นไม่ใหญ่ต้นไม้

ต้นไม้ใหญ่เชื่อว่ามีผีไม้สถิตอยู่

สำนวนสุดท้าย ผีไม้พลอยตายาย สำนวนนี้ตรงกับสำนวนไทยกลางที่ว่า ผีซ้ำ ด้ำพลอย (ด้ำน่ะครับแปลว่าผีบรรพบุรุษ ไม่ใช่ด้าม) หมายถึงถ้าลูกหลาน เซ่นเจ้าที่ถึงทรวง ผีตายายก็จะช่วยส่งเสริมให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป แต่ถ้าเซ่นไม่ถึงหรือไม่เซ่นเสียเลย นอกจากผีตายายจะไม่คุ้มครองแล้วยังให้โทษอีกด้วย ทีนี้ลงเมื่อผีตายายให้โทษเสียเองแล้ว ผีประเภทอื่น ๆ มีผีไม้ที่อยู่ตามต้นไม้ในป่าเป็นต้นมีหรือจะอดใจไหว ก็จะพลอยผสมโรงให้โทษซ้ำ ทีนี้แหละท่านเอ๋ย บอกได้คำเดียวว่า งานนี้ถ้าไม่ตายก็คงคางเหลืองกันไปตาม ๆ กัน

สำนวนภาคใต้เก่า ๆ ทางภาคใต้ที่เกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งที่เร้นลับนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทุกสำนวนล้วนเป็นที่มาจากคติความเชื่อตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาผสมกับความเชื่อในเรื่องผี และสิ่งเร้นลับอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษเรา อันเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวพวกเขาเองกับธรรมชาติ เมื่อมีสิ่งใดส่งผลต่อการใช้ชีวิตทั้งให้คุณและให้โทษ โดยไม่สามารถค้นหาสาเหตุมาอธิบายได้ ก็ทำให้เกิดความกลัว จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดพิธีกรรมต่าง ๆ สืบมาจวบปัจจุบัน

Advertisement

Advertisement

ภาพประกอบบทความทั้งหมดโดยผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์