อื่นๆ

สำนวนใต้เก่านำมาเล่าใหม่ (วัฒนธรรมการกิน)

389
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
สำนวนใต้เก่านำมาเล่าใหม่ (วัฒนธรรมการกิน)

สำนวนภาษาของแต่ละท้องถิ่นทุกภูมิภาคของไทยนั้น มีความเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวในบริบทต่าง ๆ ของสังคม เช่น ความเป็นอยู่ ประเพณีความเชื่อ ฤดูกาล นิสัยใจคอของคน แม้กระทั่งเรื่องวัฒนธรรมการกินในแต่ละท้องถิ่นก็ยังมีสำนวนบันทึกเรื่องราวเอาไว้ ในยุคปัจจุบันแม้กาลเวลาและสภาพสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่สำนวนเหล่านี้ได้มีสืบทอดเป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่ยังมีคนใช้พูดอยู่จวบปัจจุบัน

อาหารวันนี้ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่าน มาค้นหาที่มาของสำนวนใต้ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินในภาคใต้ ในสำนวนที่ว่า

  1. กินเท่
  2. นั่งกินเท่ราวสมภาร
  3. กินสองมือ
  4. ได้กินน้ำแกง
  5. ลบปาก

สำนวนแรกกับสำนวนที่ 2 มีความหมายลึกซึ้งเพราะแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินของคนใต้ คือในการรับประทานอาหารจะมีการตักกับข้าวทุกอย่างใส่ถ้วยแล้วนำแต่ละถ้วยมาวางรวมกันในภาชนะอีกที เรียกการจัดแบบนี้ว่าจัดเท่ (จัดที่) หรือดับเท่ ภาชนะที่ใช้วางถ้วยกับข้าวคนใต้เรียกว่าพอกทำด้วยไม้เป็นรูปคล้ายถาดมีฝาคลอบเรียบร้อย บางบ้านทำอย่างประณีตมีการฉลุลายพิเศษดูสวยงามแม้ปัจจุบันนี้จะหา พอก ชมได้ยากแต่ก็ยังใช้ถาดมาจัดสำรับกับข้าวแทนพอก การรับประทานอาหารนั้นต่อให้มีกับข้าวเพียงอย่างเดียวก็จะตักใส่ถ้วยแยกออกมาต่างหาก จะไม่ตักราดกับข้าวลงไปในจานข้าวด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการลบหลู่แม่โพสพ (ขวัญข้าวขวัญปลา) เรื่องการจัดเท่ที่กล่าวนี้ทุกคนต้องทำกันเอง ยกเว้นคนมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่หรือคนมีฐานะดีจริง ๆ เวลารับประทานจะมีห้องส่วนตัวพร้อมกับคนใช้คอยจัดเท่ให้ ทั้งยังคอยปรนนิบัติไม่ให้ขาดตกบกพร่องอีกต่างหาก จึงทำให้เกิดสำนวนยกย่องคนเหล่านี้ว่าได้กินเท่หรือนั่งกินเท่ (การรับประทานอาหารที่มีคนจัดสำรับให้พร้อมแล้ว) และยังหมายรวมไปถึงสมภารเจ้าวัดที่เวลาฉันภัตตาหารจะมีลูกศิษย์หรือญาติโยมคอยจัดเท่ให้ จึงมีสำนวนต่อมาว่านั่งกินเท่ราวสมภารแต่สำนวนสุดท้ายนี้ในบางบริบทอาจจะใช้เป็นคำพูดประชดคนที่ไม่ค่อยขยันทำมาหากินแต่อยากให้มีคนดับเท่ให้กินก็ได้

Advertisement

Advertisement

พอกไม้พอก สำรับอาหารที่จัดบนพอกทั้งแบบไม้และแบบทองเหลือง

สำนวนที่ 3 กินสองมือ สำนวนนี้เป็นสำนวนพูดเชิงสบประมาท เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อวัฒนธรรมการรับประทานอาหารด้วยช้อนส้อมเข้ามาในช่วงแรก คนมีฐานะดีก็จะหันมาใช้ช้อนส้อมแทนการเปิบข้าวด้วยมือข้างขวา (สมัยก่อนห้ามใช้มือซ้ายเปิบข้าวด้วยถือเป็นข้อรังเกียจว่ามือซ้ายใช้ล้างอุจจาระ) จึงมีสำนวนพูดเป็นเชิงสบประมาทลูกหลานที่เกียจคร้านการททำงานว่า “ขี้คร้านพรรค์นี้ สิ้นบุญพ่อแม่แล้วอย่าหวังจะได้กินสองมือ” หมายความว่า ถ้าขี้เกียจขนาดนี้ไม่ว่าจะนานสักแค่ไหนหรือจนกระทั่งพ่อแม่เสียชีวิตก็คงไม่มีโอกาสได้กินสบายแบบผู้ดีเขาหรอกทำนองนั้น

หวานหวาน สำรับผลไม้และของหวานที่มาของสำนวนลบปาก

สองสำนวนสุดท้าย ได้กินน้ำแกงและลบปาก เป็นสำนวนการใช้ภาษาที่ลึกซึ้งมาก บ่งบอกถึงรสนิยมของคนใต้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดทั้งหลาย เช่นแกงคั่วกลิ้ง แกงเหลือง แกงไตปลา อาหารรสเผ็ดจัดเหล่านี้จะทำแทบทุกวัน การมีน้ำแกงรสเผ็ดจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากจึงมีสำนวนพูดว่า ถ้ามีลูกกตัญญูพ่อแม่ก็จะพลอยได้กินน้ำแกงกับเขาบ้าง ได้กินน้ำแกงจึงมีความหมายโดยนัยว่าได้พึ่งพา สำนวนนี้จึงเป็นการสอนคุณธรรมความกตัญญูแก่ลูกหลานไปในตัวด้วย สมัยเมื่อผู้เขียนอายุ 20 กว่า ๆ พี่ชายเคยพูดกับแม่ว่า “แลท่าแม่อิได้กินน้ำแกงกับแณรแหละ” แปลว่า ดูท่าทางแม่คงได้พึ่งพาเณรล่ะงานนี้ (คนใต้จะเรียกคนรุ่นน้องที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วว่า เณร และจะเรียกรุ่นพี่ที่บวชแล้วว่า หลวง) ส่วนสำนวนว่าลบปากนั้นหมายถึงเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วจะมีของหวานมาตบท้ายของแต่ละมื้อนั้น เพื่อให้คลายความเผ็ดลง ลักษณะนี้ทางภาคกลางใช้สำนวนพูดตรง ๆ ว่า กินของคาวแล้วไม่กินของหวานสันดานไพร่ อันนี้ก็น่าคิดเช่นกันน่าจะหมายถึงผู้ดีมีฐานะนั้นจะมีอาหารการกินที่บริบูรณ์ก็อาจจะเป็นได้

Advertisement

Advertisement

อาหาร

สำนวนท้องถิ่นของภาคใต้ที่นำเสนอมานี้ ได้บ่งบอกถึงวัฒนธรรมด้านการกินของคนใต้โดยกลั่นกรองออกมาเป็นสำนวนที่มีความหมายลึกซึ้ง สำนวนเหล่านี้ใช้พูดกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นมรดกวัฒนธรรมทางด้านภาษาที่มีคุณค่าและสมควรอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

ภาพประกอบทั้งหมดโดยผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
วิโรจน์คงจันทร์
วิโรจน์คงจันทร์
อ่านบทความอื่นจาก วิโรจน์คงจันทร์

เปิดโลกกว้างสร้างอักษรด้วยความคิด

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์