อื่นๆ

ดูของในศาลเจ้า ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ณ ศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนอง หนึ่งในสถานที่ห้ามพลาด

451
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ดูของในศาลเจ้า ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ณ ศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนอง หนึ่งในสถานที่ห้ามพลาด

จังหวัดระนองเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในฟากทะเลอันดามัน ดูจะเป็นจังหวัดที่สงบกว่าจังหวัดอื่น ๆ ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดังระดับโลกอย่างจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดกระบี่ แต่จังหวัดดังกล่าวมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา และมากด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

หากท่านได้มาท่องเที่ยวจังหวัดระนองแล้ว ยิ่งท่านเป็นนักท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์หรือสายวัฒนธรรม ท่านควรไปสถานที่แห่งนี้อย่างยิ่ง นั้นคือ ศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนอง ซึ่งตั้งอยู่ภายในจวนเจ้าเมืองระนอง ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง อันเป็นที่ตั้งศาลบรรพชนของตระกูล ณ ระนอง อันเป็นตระกูลผู้ปกครองเจ้าเมืองระนองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4ศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนอง

ศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนองตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมของอาคารซินจู๊ จวนเจ้าเมืองระนอง ดังนั้นทั้งสองข้างของศาลเจ้า จะมีซากเสาอาคารขนาดใหญ่ตั้งเรียงรายอยู่  เป็นหลักฐานที่เหลือให้เห็นถึงจินตนาการของขนาดความใหญ่โตของเรือนรองรับในอดีต นอกจากนี้แล้วภายในจวนเจ้าเมืองระนองยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีก ไม่ว่าจะเป็นกำแพงจวนเจ้าเมือง หรือ บ่อน้ำโบราณ ต้นยางพาราเก่าแก่

Advertisement

Advertisement

เสาอาคารข้างศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนอง บ่งบอกถึงความใหญ่โตของจวนเจ้าเมืองในอดีต

ภายในศาลเจ้าประดิษฐานป้ายบรรพชนและภาพวาดของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ผู้สำเร็จราชการเมืองระนองเป็นประธานในศาลเจ้า และมีป้ายบรรพชนลูกหลานต่าง ๆ ของตระกูล ณ ระนองตั้งประกอบอยู่เรียงรายใกล้ นอกจากนี้แล้วยังมีเครื่องของเครื่องใช้ของพระยาดำรงสุจริตฯ รวมอยู่ด้วย

พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง

ประวัติของพระยาดำรงสุจริตฯ (คอคอซู้เจียง ณ ระนอง) นั้นสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การตั้งเมืองระนอง กล่าวคือ แต่เดิมทีนั้น เมืองระนองเดิมเป็นแขวงเมืองเล็ก ๆ ขึ้นกับเมืองชุมพร มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง เนื่องจากทำเลที่ตั้งเป็นภูเขาส่วนใหญ่ ที่ราบสำหรับทำเกษตรกรรมมีน้อย และประกอบอาชีพทำแร่ดีบุกเป็นส่วนมาก ต่อมาราชการเห็นความสำคัญของการทำแร่ดีบุกและอาณาเขตที่ติดกับชายแดนพม่าที่ตกเป็นอาณานิคมของอังฤกษ จึงตั้งเป็นเมืองระนองขึ้นมา โดยยังขึ้นตรงต่อเมืองชุมพร ในพ.ศ. 2397 และเปลี่ยนเป็นเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2405 โดยมีพระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ซึ่งเคยเป็นนายภาษีอากรแขวงเมืองระนองในสมัยรัชกาลที่ 3  เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองระนองคนแรก

Advertisement

Advertisement

โดยผลงานของท่านปรากฎในแผ่นป้ายจารึกปักหน้าฮ่องซุ้ยของท่าน ซึ่งได้มีการจำลองไว้ภายในศาลเจ้าเช่นกัน ว่า “พระรัตนเศรษฐีมาตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองระนอง แล้วตั้งเกลี้ยกล่อมชักชวนไทยจีนให้มาตั้งทำมาหากินอยู่ที่แขวงเมืองระนองถึง ๙ ตำบล มีผู้คนบ้านเรือนตั้งเป็นภูมิลำเนาแน่นหนา ทำเหมืองดีบุกสร้างสวนไร่นาปลูกพืชน์ผลต่าง ๆ สมบูรณ์เป็นภูมิฐานบ้านเมืองสนุกสำราญ ภาษีอากรผลประโยชน์แผ่นดินก็เจริญมากขึ้น”

แผ่นป้ายดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของเมืองระนองในยุคแรกเริ่มได้เป็นอย่างดี

ครั้นถึง พ.ศ.2420 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยารัตนเศรษฐีกราบบังคมทูลลาออกจากราชการเนื่องจากแก่ชราภาพ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศพระยารัตนเศรษฐี ขึ้นเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ตำแหน่งจางวางผู้กำกับราชการเมืองระนอง และทรงตั้งพระศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมก๊อง) ซึ่งเป็นบุตรคนใหญ่และเป็นตำแหน่งผู้ช่วยราชการอยู่ในเวลานั้น เป็นพระยารัตนเศรษฐี ผู้ว่าราชการเมืองระนอง จนกระทั้งใน ปี พ.ศ.2425 พระยาดำรงสุจริตภักดีฯ (คอซู้เจียง) ถึงแก่อนิจกรรม สิริอายุได้ 86 ปี

Advertisement

Advertisement

สิ่งของหนึ่งที่น่าสนใจคือ “พวงหรีด” ที่ตั้งแขวนประทับอยู่ในศาลเจ้า เป็นพวงหรีดดอกไม้ประดิษฐ์ ที่ทำมาจากวัสดุโลหะ สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการไว้อาลัยแบบตะวันตกที่กำลังเข้ามาในขณะนั้น

พวงหรีดโบราณ

นอกจากนี้แล้ว ภายในศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนองนั้นยังเต็มไปด้วยรูปภาพบุคคลต่าง ๆ ของตระกูล ณ ระนอง อันเป็นลูกหลานของพระยาดำรงสุจริตฯ (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ที่เข้าไปมีบทบาทในงานราชการต่าง ๆ มากมาย ดังเช่น พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ผู้เป็นบุตรชายคนเล็กของพระยาดำรงสุจริตฯ ที่ได้ดำรงตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตและเป็นผู้นำยางพารามาปลูกที่เมืองไทยเป็นคนแรก

ภาพบุคคลตระกูล ณ ระนอง

หนึ่งในสิ่งของต่าง ๆ ที่ถูกเก็บไว้ในศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนองนั้น คือ ภาชนะหรือเครื่องถ้วยชามต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายมากมายอยู่ในตู้จัดเก็บทั้งตู้เล็กและตู้ใหญ่ภายในศาลเจ้า

ภาชนะแจกันชิ้นหนึ่ง เป็นภาชนะกระโถนสีฟ้าขนาดใหญ่ ประดับด้วยลวดลายดอกไม้ มองผิวเผินจะเห็นเป็นกระโถนภาชนะธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อพลิกไปที่ก้นภาชนะกระโถนดังกล่าว ที่เป็นพื้นสีขาวและมีข้อความตัวอักษรเขียนไว้ว่า “Made in Czecho-Slovakia”  หรือผลิตที่เชโกสโลวาเกีย ซึ่งเป็นประเทศในยุโรปที่มีช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2461- 2536 และเป็นประเทศที่เป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลก ภาชนะกระโถนสีฟ้าจึงได้ข้ามน้ำข้ามทะเลจากยุโรปมายังดินแดนประเทศไทย

คุณโกศล ณ ระนอง ผู้ดูแลศาลเจ้ากับภาชนะกระโถนสีฟ้า.jpg  คำอธิบายรูปภาพก้นภาชนะกระโถนสีฟ้า ที่ระบุแหล่งที่มาของภาชนะจากประเทศในยุโรป

ภาชนะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในภาชนะตะวันตกจำนวกหลากหลายชิ้นในศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนอง ที่แสดงให้เห็นถึงความนิยมการใช้เครื่องของเครื่องใช้ในสมัยเมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน ที่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องอุปโภคต่าง ๆ ต้องใช้อุตสาหกรรมการผลิตจากต่างประเทศ

ภาชนะอีกชิ้นหนึ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เป็นจานที่ระลึกสีขาวขนาดใหญ่ ติดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักรและจักวรรดิอังกฤษ เนื่องในงานวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2480 แต่พระราชพิธีดังกล่าวไม่ได้ถูกจัดขึ้นมา เนื่องจากทรงสละราชสมบัติในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2479 เสียก่อน จานที่ระลึกดังกล่าว ตามประวัตินั้นเป็นของคนในตระกูล ณ ระนองที่ไปสมรสกับชาวตะวันตก จึงได้ภาชนะดังกล่าวมาและตกทอดอยู่ที่ศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนองจนถึงทุกวันนี้

 จานที่ระลึกเนื่องในพระาชพิธีบรมราชาภิเษกที่ไม่ได้จัด

ภาชนะสิ่งของเครื่องใช้ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงไม่กี่ชิ้นจากร้อยกว่าชิ้นที่ปรากฎอยู่ในศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนอง ที่มีสิ่งของเครื่องใช้มากมายนานับประการหลายหลากอย่างและหลากหลายยุคสมัย เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า บทบาทของศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนอง นอกจาการเป็นที่สักการะบูชาระลึกถึงบรรพชนตระกูล ณ ระนองที่เข้ามามีบทบาทพัฒนาและก่อตั้งเมืองระนองแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ผ่านการเล่าเรื่องสิ่งของต่าง ๆ ภายในศาลเจ้าได้อีกด้วย

อ้างอิง

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 50 : เรื่องตำนานเมืองระนอง.พิมพครั้งที่ 2. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2474

รุจิราภา งามสระคู. “พวงหรีด : วัฒนธรรมตะวันตกที่งอกงามในประเพณีไทย.” ใน วารสารกระแสวัฒนธรรม.ปีที่ 18 : ฉบับที่ 33. (มกราคม-มิถุนายน, 2550).

ธารีรัตน์ เลาหบุตร และMiroslav Nozina. “จาก ‘สยาม-เชโกสโลวาเกีย’ สู่ ‘ไทย-สาธารณรัฐเช็ก’: ความสัมพันธ์ที่ไม่มีประวัติศาสตร์ร่วม”. เข้าถึงเมื่อ 15 เมษายน 2563, เข้าถึงได้จาก   https://www.the101.world/thailand-and-czech-republic/

Wikipedia.“Abandoned coronation of Edward VIII.”  เข้าถึงเมื่อ 15 เมษายน 2563, เข้าถึงได้จากจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Abandoned_coronation_of_Edward_VIII

สัมภาษณ์ คุณโกศล ณ ระนอง ,ผู้ดูแลศาลเจ้าจวนเจ้าเมืองระนอง. วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564.

เรื่องและภาพประกอบบทความโดย Panu Ch.

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
PanupongChonsawat
PanupongChonsawat
อ่านบทความอื่นจาก PanupongChonsawat

เดินทาง เรียนรู้ เปิดกว้าง ในโลกแห่งความรู้

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์