อื่นๆ

4 เปิดที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกรักการอ่าน ( เปิดใจ เปิดตา เปิดกว้าง และเปิดประเด็น)

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
4 เปิดที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกรักการอ่าน ( เปิดใจ เปิดตา เปิดกว้าง และเปิดประเด็น)

การส่งเสริมให้ลูกรักการอ่าน เป็นหนึ่งในลักษณะนิสัยที่พ่อแม่ทั้งหลายพยายามปลูกฝังให้กับลูก ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก พ่อแม่หลายท่านคิดวิธีเพื่อโน้มน้าว จูงใจ ชักจูง สารพัดวิธีที่จะชวนลูกเปิดหนังสืออ่าน คุณพ่อคุณแม่บางท่านก็อาจจะประสบความสำเร็จ แต่หลายท่านก็ต้องพบกับเสียงที่ไม่อยากได้ยินว่า “พ่อจ๋า!! แม่จ๋า!! หนูไม่อยากอ่านหนังสือ หนูไม่ชอบอ่านหนังสือ หนูอ่านไม่ได้ หนูขี้เกียจอ่าน ค่อยอ่านวันหลังได้มั้ย” บางบ้านหนักหน่อยก็กลายเป็นการสร้างความรำคาญใจ หงุดหงิดใจ โมโห โกรธเคืองกัน ระหว่างพ่อแม่กับลูก ผู้เขียนได้รวบรวมวิธีการปรับทัศนคติ และส่งเสริมให้ลูกรักการอ่าน ไว้ 4 เปิด ดังนี้

วิธีแรก เปิดใจ จับเข่า คุยกัน ถึงเหตุผลที่ไม่อยากอ่านหนังสือ แล้วสร้างความเข้าใจกันใหม่เรื่องการอ่านหนังสือ เด็กบางคนไม่อยากอ่านหนังสือ เพราะคิดว่า เป็นเรื่องน่าเบื่อ บางคนก็อ่านหนังสือไม่ออก บางคนก็ไม่ชอบอ่านหนังสือเพราะถูกบังคับให้อ่านแต่หนังสือเรียน คุณพ่อคุณแม่ นอกจากจะเปิดใจคุยกับลูกแล้ว ต้องหมั่นสังเกต อาการ ท่าที สีหน้า ความรู้สึก เมื่อให้ลูกอ่านหนังสือ เพื่อจะได้หาแนวทางส่งเสริมได้อย่างถูกต้อง เช่น เด็กผู้ชายคนหนึ่งเขาไม่ชอบอ่านหนังสือเลย คุณแม่สังเกตเห็นพฤติกรรมที่ลูกชอบต่อหรือประกอบหุ่นยนต์ จึงพยายามหาหนังสือหรือเรื่องราวหุ่นยนต์ที่ลูกชอบ แล้วอ่านให้ลูกฟังทุกวัน ทำให้ลูกกับแม่เข้าใจกันมากขึ้น หรือ คุณพ่อท่านหนึ่งก็สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกในการอ่านหนังสือด้วยการให้รางวัลเป็นคะแนนการอ่าน หากสะสมคะแนนครบ สามารถมาแลกคะแนนเป็นสิ่งของที่ต้องการได้

Advertisement

Advertisement

แม่อ่านหนังสือกับลูก ภาพจาก : cottonbro/Pexels

วิธีที่สอง เปิดตา เป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในการอ่านหนังสือให้กับลูก พาลูกไปสัมผัสกับบรรยากาศการอ่านหนังสือที่แปลกใหม่ ให้ลูกสามารถอยู่ในท่าไหนก็ได้ในการอ่านหนังสือ ไม่จำเป็นจะต้องนั่งอ่านอย่างตั้งใจให้คุณพ่อ คุณแม่ฟัง  หรือแม้กระทั่งการสร้างเกมส์การอ่านให้กับลูก ๆ ด้วยการซ่อนบัตรคำ หรือ สร้างเรื่องราวให้ลูกค้นหา ไม่จำเป็นว่าการอ่านจะต้องเป็นการเปิดหนังสืออ่านเท่านั้น สามารถอ่านอะไรก็ได้ ที่อาจไม่ใช่หนังสือ เช่น ป้ายคำขวัญ ป้ายบอกทาง สัญลักษณ์  เมนูอาหาร ใบปลิว ป้ายประกาศ ป้ายร้านค้า ข้อความแจ้งเตือนในโทรศัพท์ รายชื่อเพื่อนในห้อง เป็นต้น ตัวอย่างเช่น คุณพ่อ คุณแม่ อาจชวนลูกขึ้นรถแล้วขับไปเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ ให้ลูกอ่านป้าย ริมทางด้วยตนเอง หรือ ชวนลูกไปร้านอาหารแล้วให้ลูกอ่านเมนูต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เป็นต้น

Advertisement

Advertisement

เด็กอ่านหนังสือในทุ่งหญ้า ภาพจาก : Victoria Borodinova/Pexels

เด็กผู้หญิงอ่านหนังสือ ภาพจาก : Andrea Piacquadio/Pexels

วิธีที่สาม เปิดกว้าง ไม่ปิดกั้นความชอบส่วนตัวของลูกในการที่จะเลือกอ่าน คุณพ่อ คุณแม่ บางท่าน คิดว่า หนังสือเล่มนี้ดี ลูกควรจะอ่าน หนังสือเล่มนั้นไม่ดี เล่มนั้นไร้สาระ ไม่ให้ความรู้ ลูกไม่ควรอ่าน คุณพ่อ คุณแม่ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่โดยทันทีนะคะ ด้วยการชวนลูกไปเลือกหนังสือที่ชอบ หรือปล่อยให้เลือกอ่านหนังสือได้ตามอิสระ ตามความสนใจ ไม่ปิดกั้น หรือสร้างกรอบในการอ่านให้กับลูก

เด็กผู้ชายอ่านหนังสือ ภาพจาก : cottonbro/Pexels

เด็กผู้หญิงอ่านหนังสือ ภาพจาก : cottonbro/Pexels

วิธีที่สี่ เปิดประเด็น หากลูก ๆ ไม่มีความชอบหรือความสนใจหนังสือแนวไหนเลย คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดประเด็น ให้คำแนะนำ หาตัวเลือกหนังสือหรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ให้ลูก ๆ ได้ทดลองอ่าน และถ้าบ้านไหนลูกมีหนังสือที่ชอบอ่านแล้ว ก็อาจจะชวนลูกต่อยอดด้วยการหาหนังสือแนวใหม่ ๆ อ่านเพิ่มเติม หรือเพิ่มความท้าทายในการอ่านให้กับลูก เช่น บางบ้านบอกว่า ถ้าอ่านเล่มนี้จบจะซื้อเล่มภาคต่อให้ หรือจากเดิมเคยอ่านวันละ 2 หน้า  ขอให้อ่านเพิ่มเป็นวันละ 5 หน้า เป็นต้น การเปิดประเด็นต้องทำอย่างระมัดระวังนะคะ เพราะอาจกลายเป็นการสร้างกรอบในการอ่านหนังสือให้กับเด็ก ๆ ได้นะคะ แม่อ่านหนังสือกับลูก ภาพจาก : Lina Kivaka /Pexels

Advertisement

Advertisement

หากคุณพ่อ คุณแม่ ลองใช้วิธีทั้ง 4 เปิดแล้ว ยังไม่ประสบ ความสำเร็จก็อย่าเพิ่งท้อใจกันไปก่อนนะคะ คุณพ่อ คุณแม่ อาจสลับวิธีในการเลือกที่จะเปิด อาจจะเปิดกว้างก่อน แล้วค่อยเปิดตา แล้วเปิดใจ หรือจะเลือกใช้ตามลักษณะนิสัยหรือความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว ขอเป็นกำลังใจและเอาใจช่วยคุณพ่อ คุณแม่ ทุกคนให้ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมลักษณะนิสัยรักการอ่านให้กับลูก ๆ นะคะ

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์