อื่นๆ

“ความสุขในความต่าง”

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
“ความสุขในความต่าง”

“ความสุขในความต่าง เมื่อฉันดำรงอยู่ท่ามกลางความหลากหลายของศาสนา”
หากเปรียบประเทศเหมือนบ้าน สมาชิกในบ้านเปรียบเสมือนคนที่อยู่อาศัย ศาสนาเปรียบดั่งหัวใจของแต่ละคนที่มีแรงศรัทธาที่แตกต่างกัน แต่บ้านก็ยังเป็นบ้าน เป็นที่ที่สมาชิกทุกคนนึกถึง เป็นที่ที่เกิดเรื่องราวต่างๆขึ้นมากมาย ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีนิสัย ความคิด หรือแรงศรัทธาที่ต่างกัน การอยู่ด้วยกันบนโลกใบนี้ก็ไม่มีใครเหมือนใครได้และไม่มีใครแตกต่างเกินจะเข้าใจ เพราะหากความต่างมันยากจะเข้าใจคงไม่มีใครอยู่กับใครได้เช่นกัน คุณคิดเหมือนกันกับฉันไหม ?


สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายในเรื่องของประเพณีและวัฒนธรรมหรือสิ่งที่แต่ละพื้นที่ปฏิบัติกันมา โดยความหลากหลายในเรื่องของศาสนา หลักการปฏิบัติที่เป็นที่รู้จักกันในนาม “สังคมพหุวัฒนธรรม” และเรื่องที่ฉันจะเขียนเล่าต่อไปนี้คือเรื่องราวของฉันและเพื่อนต่างศาสนา

Advertisement

Advertisement


ฉันเป็นนักศึกษามุสลิม กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยบ้านเกิดของฉันอยู่ที่อำเภอจะนะ ซึ่งเป็น 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่สีแดง ตั้งแต่เล็กจนถึงมัธยมปลายฉันอยู่ในชุมชนที่เป็นมุสลิมส่วนใหญ่ โรงเรียนก็เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ช่วงเวลากลางคืนเราจะเรียนศาสนาทั้งอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน หลักคำสอน การปฏิบัติ ในช่วงกลางวันเราก็เรียนสามัญควบคู่ศาสนา โดยนิสัยส่วนตัวฉันชอบออกเดินทาง ออกค่าย ทำกิจกรรมอยู่เสมอ และการออกค่ายทำกิจกรรมนี้ที่ทาให้ฉันได้เจอ ได้พบกับเพื่อนที่มีความหลากหลายทั้งความคิด ทัศนคติและศาสนา

ค่ายที่ฉันไปจะเป็นเด็กมุสลิมส่วนใหญ่ เพื่อนต่างศาสนาแค่บางส่วนเท่านั้นซึ่งดูเป็นคนส่วนน้อย การอยู่ด้วยกันของเราในค่ายทาให้รู้ว่าเราทุกคนมีความหลากหลายทางความคิดและทัศนคติ ถึงแม้ว่าเราจะนับถือศาสนาเดียวกัน เราก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังเรื่องราวของเพื่อนในมุมมองต่างกันได้ มันทำให้ฉันเกิดความรู้สึกเหมือนเราเป็นพี่น้องที่รู้จักกันมานาน ถึงแม้ว่าเราจะอยู่คนละที่กัน ความรู้สึกแบบนี้มันทำให้ฉันนึกถึงคำที่คุณครูได้สอนฉันว่า “ มุสลิมเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกัน ” คำว่ามุสลิมในที่นี้ก็คือชาวมุสลิมทั่วโลก “ ส่วนใดส่วนหนึ่งเจ็บปวด ส่วนอื่นก็เจ็บปวดด้วย” หากพี่น้องของเราได้รับซึ่งความเจ็บปวด เรามุสลิมทุกคนก็ได้รับความเจ็บด้วย ซึ่งคำเหล่านี้ยังคงเป็นคำที่ฉันนึกถึงเมื่อใดก็ตามที่ฉันได้รับข่าวสารที่เกี่ยวกับพี่น้องร่วมศาสนา นี่คือเรื่องราวของฉันในมุมมองการอยู่ด้วยกันของเพื่อนร่วมศาสนา

Advertisement

Advertisement

กิจกรรมรับน้อง
ตอนนี้ฉันได้เข้ามาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าทุกอย่างมันเหมือนเริ่มใหม่ ทั้งสภาพสังคม ชีวิตความเป็นอยู่และเพื่อน วันแรกที่เข้ามาสัมภาษณ์ในจำนวนเด็กนักเรียนที่เยอะมาก ฉันสังเกตเห็นเพื่อนที่คลุมฮีญาบเหมือนกับฉันแค่ไม่กี่คน ความรู้สึกตอนนั้นมันรู้สึกกลัวว่าเราจะอยู่ได้ไหม เราจะเข้ากับเพื่อนได้รึเปล่า จนกระทั่งมาถึงวันทำกิจกรรมรับน้องคณะ จากเด็กปี 1 ราว 300 กว่าคนกับฉันและเพื่อนที่คลุมฮีญาบไม่ถึง 10 คน มันรู้สึกเหมือนเราดูต่างอย่างบอกไม่ถูก ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร ความรู้สึกมันนิ่งเงียบแต่เมื่อทำกิจกรรมไปทุกวันๆ เราเริ่มเห็นบางสิ่งบางอย่างที่สัมผัสได้จากรุ่นพี่ที่มอบให้แก่เรา นั่นคือการไม่มองข้ามและใส่ใจเรื่องเล็กๆน้อยๆของเรา เมื่อถึงเวลาละหมาดพี่จะพาเราไปละหมาดทุกครั้งโดยที่เราไม่ต้องเอ่ย และเตรียมผ้าละหมาดพร้อมอำนวยความสะดวกให้เราทุกอย่าง การกระทำเหล่านี้แสดงถึงความใส่ใจที่จะศึกษาถึงหลักปฏิบัติของเรา และรวมถึงเรื่องอาหาร การร้องเพลงประชุมเชียร์ พี่เขาเตรียมให้เราทุกอย่างเพื่อทำให้เรารู้สึกสบายใจมากที่สุด มันทำให้ฉันและเพื่อนๆรู้สึกประทับใจพี่ๆมาก และรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้แตกต่างจากเพื่อนๆในคณะ

Advertisement

Advertisement

ช่วงเวลาในการทำกิจกรรมก็ผ่านไปเรื่อยๆ ฉันและเพื่อนๆเริ่มพูดคุยกันมากขึ้น การพูดคุยทำให้ฉันรู้สึกผ่อนคลายขึ้นจากวันแรกของการทำกิจกรรมประชุมเชียร์ เพื่อนเริ่มเข้ามาถามฉันเกี่ยวกับศาสนาของฉัน โดยคำถามที่เจอบ่อยก็เช่น ทำไมต้องคลุมฮีญาบ? ทำไมเราต้องปกปิดขนาดนี้ ? ไม่ร้อนหรือ ? ทำไมเราต้องละหมาด ? แล้วละหมาดเขาทำกันอย่างไร ? คำถามเหล่านี้มาพร้อมกับแววตาที่สงสัยและอยากรู้ และการตั้งใจฟังอย่างมากของเพื่อนๆ เมื่อเราตอบคำถามของความสงสัยก็จะมีคำถามอื่นมากมายเข้ามาตลอดว่าอะไรที่เราทำได้ อะไรที่เราทำไม่ได้ และหากเขาทำแบบนั้นกับเราเขาจะบาปไหม คำถามของเพื่อนเป็นคำถามที่น่ารักมาก ซึ่งแสดงถึงว่าเขาให้เกียรติและเคารพในศาสนาของเรา และพร้อมที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาและการดำเนินชีวิตของเราจริงๆ เราก็ยินดีที่จะเล่าและเรียนรู้ไปกับเขาเช่นกัน

เพื่อน
หลังจากเสร็จกิจกรรมประชุมเชียร์ชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งอยู่หอเดียวกันเข้ามาถามเราเกี่ยวกับศาสนาและพยายามที่จะทำความเข้าใจ โดยเพื่อนคนนี้เธอได้บอกว่า เธอไม่เคยมีเพื่อนที่เป็นมุสลิมเลยและไม่เคยรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเพื่อนมุสลิมว่าต้องปฏิบัติอย่างไร จากวันนั้นที่เธอถามและการบอกเล่าเรื่องราวของเรา เพื่อนของฉันคนนี้ก็ปฏิบัติและให้เกียรติต่อฉันและเคารพในศาสนาของฉัน ทำให้ตอนนี้เรากลายเป็นเพื่อนที่อยู่ด้วยกันมากที่สุด เธอบอกกับฉันว่า ฉันเป็นเพื่อนมุสลิมคนแรกของเธอเลยนะ ฉันชอบคำพูดนี้ของเพื่อนมากเพราะมันเหมือนมิตรภาพที่มาจากความจริงใจและพร้อมเรียนรู้มัน ตลอดเวลาที่รู้จักเธอเล่าเรื่องราวของเธอให้ฉันฟังและฉันก็เล่าเรื่องราวของฉันให้ฟัง การบอกเล่าเรื่องราวและได้ระบายมันเป็นความสบายใจรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้รู้สึกถึงคำว่าแม้ศาสนาต่างกันแต่เราก็คือเพื่อนกัน เพื่อนที่สามารถจะรับฟังและเคารพกันด้วยใจตลอดไป

ปัจจุบันของมิตรภาพระหว่างเรา
สุดท้ายความสุขของฉันก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากบททดสอบที่พระเจ้าทรงทดสอบกับฉันและทำให้ฉันได้เรียนรู้ ดังคำสอนจากอัลกุรอานที่ว่า “ฉะนั้นแท้จริงหลังจากความยากลำบากก็จะมีความง่ายดาย ”
พระองค์ทรงทดสอบฉันให้รู้สึกกลัวกับการเป็นคนส่วนน้อยในความแตกต่าง ทว่าหลังจากบททดสอบพระองค์ก็ทำให้ฉันพบเจอกับความสุข ความสบายใจ เมื่อฉันกล้าจะเปิดใจและเรียนรู้พร้อมปรับตัวจะอยู่กับมัน ความต่างมันทำให้ฉันเรียนรู้และเข้าใจเพื่อนของฉันมากขึ้น ฉันคิดว่ามันเป็นควมรู้สึกที่ดี ความสุขหนึ่งในชีวิตของฉัน ที่ฉันได้รู้จักและสร้างมิตรภาพที่ดีกับเพื่อนต่างศาสนา และบ้านที่ฉันได้กล่าวไปข้างต้นก็จะเป็นบ้านที่มีความสุขเพราะมือที่ประสานกันแน่นของสมาชิกในบ้านเปรียบเสมือนความผูกพันในครอบครัว และวันนี้การยอมรับในความต่างพาฉันมาเจอมัน มิตรภาพที่เกิดจากความเข้าใจ คือมิตรภาพที่ใจฉันต้องการ
ดังพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า
“ความคุ้นเคยกันเป็นญาติอันประเสริฐ แม้จะต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติแต่หากหมั่นเสวนาวิสาหะ และพบปะกัน เราก็สามารถเป็นพี่น้องกันได้”

CR.ภาพประกอบถ่ายโดยผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์